จับตามาเลเซีย เปลี่ยนม้ากลางศึก (อีก) ฝ่าวิกฤต/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Malaysia's Prime Minister Designate and former interior minister Muhyiddin Yassin waves to reporters before his inauguration as the 8th prime minister, outside his residence in Kuala Lumpur, Malaysia, March 1, 2020. REUTERS/Lim Huey Teng/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

จับตามาเลเซีย

เปลี่ยนม้ากลางศึก (อีก) ฝ่าวิกฤต

 

การเมืองมาเลเซียตกอยู่ในความยุ่งเหยิงอีกครั้ง

เมื่อมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีในวัย 74 ปี ยื้ออำนาจต่อไปไม่ไหว ยอมตัดใจลาออกไปพร้อมกับรัฐมนตรีทั้งคณะเมื่อต้นสัปดาห์

ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศด้วยเวลาเพียง 17 เดือน

ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนับจากมูห์ยิดดินก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคมปีก่อน หลังการล้มลงของรัฐบาลผสมปากาตันฮาราปัน (พีเอช) ที่มีมหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นหัวหอกนั่งแท่นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่เดินเกมการเมืองพลาดเองจนเจ้าตัวหลุดจากเก้าอี้ไปนั้น กล่าวได้ว่ารัฐบาลมูห์ยิดดินต้องล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ต้นจากการเจองานหินในการรับมือโรคระบาดครั้งเลวร้ายที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนอย่างโรคโควิด-19 ตั้งแต่แรก ที่ฉุดลากเศรษฐกิจของประเทศให้ทรุดหนักลงตามมา

และยังต้องรับมือกับศึกภายในพรรคร่วมรัฐบาลเปริกาตันเนชันแนล (พีเอ็น) ของตนเองที่กุมเสียงข้างน้อยในสภาอีก โดยที่มูห์ยิดดินแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองในมือ

ความไม่พอใจของชาวมาเลเซียที่มีต่อความล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผิดพลาดและการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่เห็นผลกระเตื้อง เป็นตัวเร่งให้เสถียรภาพของรัฐบาลมูห์ยิดดินสั่นคลอนหนัก

กระทั่งหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญของมูห์ยิดดินอย่างพรรคอัมโน ที่มีที่นั่งในสภามากที่สุดในฟากรัฐบาลจำนวน 38 ที่นั่ง ได้ประกาศถอนการสนับสนุนนายมูห์ยิดดินไป

เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงบทสิ้นสุดทางอำนาจอันใกล้ของมูห์ยิดดิน

 

ก่อนหน้านั้น มูห์ยิดดินถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากความพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภาในความพยายามซื้อเวลาอยู่ในอำนาจไว้ต่อไป

จนมาถึงการดิ้นเฮือกสุดท้ายของมูห์ยิดดินด้วยการออกแถลงทางโทรทัศน์ร้องขอให้ ส.ส.ฝ่ายค้านหันมาลงคะแนนเสียงให้กับตนเองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม

เพื่อให้รัฐบาลของเขาสามารถบริหารประเทศต่อไปเพื่อไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในขณะที่โรคโควิด-19 ยังกำลังระบาดอยู่

สุดท้ายมูห์ยิดดินยอมถอยด้วยการลาออก

หลังจากไม่ประสบผลสำเร็จในการโน้มน้าวให้ ส.ส.ฝ่ายค้านหันมาสนับสนุนตัวเองได้

 

การเมืองในมาเลเซียตอนนี้จึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และกำลังดำเนินไปตามกระบวนการครรลองเดียวกับที่มูห์ยิดดินก้าวขึ้นสู่อำนาจ

โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลเลาะห์ ชาห์ กษัตริย์มาเลเซีย ทรงเป็นผู้กำหนดตามพระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ทรงไม่ประสงค์จะให้จัดการเลือกตั้งในช่วงเวลาที่ประเทศยังคงเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19

โดยทรงประกาศว่าจะทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจาก ส.ส.ในสภา เพื่อทำการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในการบริหารประเทศต่อไปในช่วงเวลานี้

ทรงเริ่มกระบวนการสรรหาแล้วด้วยการเรียกบรรดาผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ เข้าเฝ้าเพื่อหารือและมอบหมายให้ประธานรัฐสภาแจ้ง ส.ส.ในสภาทั้งหมด 222 คน ให้ยื่นหนังสือแจ้งกลับมายังสำนักพระราชวังในการระบุถึงตัวบุคคลที่ตนเองเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อที่พระองค์จะทรงพิจารณาและประกาศแต่งตั้งต่อไป

โดยระหว่างนี้ได้ให้นายมูห์ยิดดินทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการไปก่อน

 

คําถามสำคัญอยู่ที่ว่า ใครที่มีบารมีและได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจมากพอที่จะได้เสียงสนับสนุนของ ส.ส.ในรัฐสภาไว้ได้มากพอ เพราะปัจจุบันไม่มีพรรคการเมืองใดในมาเลเซียที่ครองเสียงข้างมากในสภา และยังไม่มีแกนนำหรือ ส.ส.คนใดที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเด่นชัด

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคอัมโน ที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่สุด ต่างสนับสนุนผู้มีสิทธิลุ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ใครที่จะก้าวเข้าสู่เส้นชัยได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้ ก็จะต้องมาจากการจับมือเป็นพันธมิตรกันของพรรคการเมือง

แต่ล่าสุดตัวเก็งที่มีชื่ออยู่ในสื่อท้องถิ่นนำโด่งว่ามีสิทธิ์ลุ้นเป็นชื่อของอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลมูห์ยิดดิน ที่เป็นสมาชิกอาวุโสในพรรคอัมโน วัย 61 ปี

ในฟากฝ่ายค้านก็มีชื่อของอันวาร์ อิบราฮิม จากพรรคเคดิลันรักยัต (พีเคอาร์) ผู้รอคอยเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมานานถึง 20 ปี แต่ไม่เคยถึงฝั่งฝันสักที

ส่วนการคัมแบ๊กในตำแหน่งนี้ของมหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย

และยังมีม้ามืดอย่างชาฟี อัปดาล หัวหน้าพรรควาริซัน พรรคการเมืองจากรัฐซาบาห์ ติดมาในโผด้วย

สุดท้ายใครจะพิชิตเก้าอี้นี้ในการเปลี่ยนม้ากลางศึกของมาเลเซียที่มีภารกิจใหญ่หลายเรื่องให้พิสูจน์ฝีมือ รอลุ้นไม่เกินสัปดาห์นี้