พิษเดลต้า ทุบดัชนี ศก.ร่วงยกแผง ‘ธปท.-สภาพัฒน์’ ชี้ GDP หด แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน กู้วิกฤต/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

พิษเดลต้า ทุบดัชนี ศก.ร่วงยกแผง

‘ธปท.-สภาพัฒน์’ ชี้ GDP หด

แนะรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน กู้วิกฤต

ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นการระบาดที่หนักหน่วงกว่า 2 ระลอกแรก จากไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งสูงขึ้นทำสถิตินิวไฮต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว ทำให้รัฐบาลต้องติดสินใจนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ควบคุมการระบาดอีกครั้ง

เริ่มจากพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จากนั้นก็ขยายเป็น 13 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ก่อนคุมเข้มเพิ่มเป็น 29 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมเป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็ขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564

แน่นอนว่า การล็อกดาวน์ด้วยการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

 

ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวได้ 7.5% จากฐานที่ต่ำในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่จีดีพีหดตัวถึง -12.2% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ 2% อย่างไรก็ดี สศช.คาดว่าปี 2564 จะขยายตัวได้แค่ 0.7-1.2% ต่อปี (ค่ากลาง 1%) ปรับลดลงจากเดิมที่คาดจะโตได้ 1.5-2.5% (ค่ากลาง 2%)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจ อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่คาดว่า ตัวเลขการติดเชื้อจะผ่านจุดสูงสุดได้ปลายเดือนสิงหาคมนี้ และจะลดลงช่วงปลายเดือนกันยายน จากนั้นช่วงไตรมาส 4 จะเริ่มเปิดให้ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ซึ่งยอมรับว่า หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในช่วงไตรมาส 3 และไม่สามารถทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะเติบโตได้ต่ำกว่า 0.7%

ขณะที่นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ทีทีบีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือขยายตัว 0.3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0.9% หลังเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการกลับมาระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระบบชะลอลงอีกครั้ง

โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.5% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น การปิดกิจการบางประเภท อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว

“ช่วงต้นไตรมาส 3 สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น และกระจายเป็นวงกว้าง นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม รวม 29 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 77% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และทรุดตัวลง และยังมีแนวโน้มจะลดลงได้อีก หากมีการขยายช่วงเวลาล็อกดาวน์เพิ่มเติม เป็นแรงกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ให้ลดลงอย่างชัดเจน”

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวที่ -0.5% ต่อปี ลดจากเดิมคาดว่าจะโตได้ 1% เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ทำให้มาตรการล็อกดาวน์อาจใช้ระยะเวลายาวขึ้น

ในขณะที่ความเสี่ยงที่เป็นประเด็นต้องติดตามยังอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพราะนอกจากจะกระทบต่อการส่งออกแล้ว ยังอาจทำให้สินค้าในประเทศขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลา

 

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับจีดีพีปีนี้เหลือโตได้ 0.7% จากเดิม 1.8% แต่มองว่าโอกาสถดถอยน้อย โจทย์หลักคือ การคุมโควิด ส่วนโจทย์อื่นเป็น “การซื้อเวลา”

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า มี 4 อาการได้แก่

1. รายได้ถูกกระทบจนเป็น “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ โดยในปี 2563-2564 รายได้ครัวเรือนหายไป 1.8 ล้านล้านบาท เป็นรายได้ของนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท สำหรับในปี 2565 คาดว่ารายได้จะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท รวม 3 ปีหลุมรายได้จะมีขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท

2. การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะในภาคบริการ จากข้อมูลไตรมาส 2 ปีนี้ มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ที่3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน

3. การฟื้นตัวมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวเกินก่อนโควิด-19 ถึงเกือบ 20% แต่จะพบว่าภาคการส่งออกจ้างงานเพียง 8% เทียบกับภาคบริการที่จ้างงานถึง 52%

และ 4. ไทยฟื้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และถูกผลกระทบจากโควิดหนักกว่า เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยว 11-12% หรือ 2-3 เท่าของเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปีในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด

โดยแนวทางการแก้ปัญหาทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งปัญหาต้นตอคือ ด้านสาธารณสุข “วัคซีน” จะต้องเป็นตัวเอกจำเป็นต้องเร่งฉีดให้มากขึ้น ขณะที่ปัญหาเรื่องรายได้และการจ้างงานต้องทำผ่าน “นโยบายการคลัง” จะตรงจุดที่สุด ส่วนมาตรการหลังจากคุมโรคได้ และแก้เรื่องรายได้แล้ว จะมาถึงฝั่งนโยบายการเงินที่ต้องมาดูเรื่องภาระหนี้และสภาพคล่องสินเชื่อ

“ภาครัฐจะเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันรายได้ของประชาชนที่หายไปช่วง 2 ปีกว่า 1.8 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 10% ของจีดีพี ซึ่งไม่มีอะไรสามารถทดแทนหลุมรายได้ที่หายไปได้ ส่งออกก็ไม่พอ เพราะการจ้างงานมีเพียง 8% ดังนั้น ภาครัฐจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจและจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ และต้องรีบทำในขนาดที่เพียงพอ และเป็นมาตรการที่ให้ผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจสูง”

 

ผู้ว่าการ ธปท.มองไปข้างหน้าด้วยว่า อาจต้องเติมเม็ดเงินท็อปอัพจากเดิมอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7% ของจีดีพีเข้าสู่ระบบ

แม้จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะวิ่งไปที่ 70% ของจีดีพีในปี 2567 แต่หลังจากนั้นจะทยอยลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่จะกลับมาฟื้นตัว

เขายังเชื่อว่ากู้ตอนนี้ใส่เม็ดเงินเข้าไปเพิ่ม จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าไม่ได้กู้ เพราะกู้ตอนนี้เป็นการช่วยเรื่องเศรษฐกิจ ดีกว่ากู้ตอนหลังที่ทุกอย่างชะลอตัว และความเสี่ยงกรณีไม่ทำจะมีมากกว่าทำ

และแม้หนี้สาธารณะจะวิ่งขึ้นไป 70% ก็ยังรองรับได้ ไม่ได้น่ากังวล เสถียรภาพยังดีอยู่ ทั้งหนี้ต่างประเทศและทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงมองว่าภาครัฐเป็นยาที่จำเป็นเหมาะสมกับภาวะ

ผู้ว่าการ ธปท.โยนลูกมาขนาดนี้ คงต้องวัดใจรัฐบาลว่าจะเลือกแนวทางไหน ที่สำคัญ ต้องรีบตัดสินใจ อย่ามัวแต่ซื้อเวลาเหมือนที่ผ่านมา