ซักฟอกรัฐบาล เป้าใหญ่-เป้าหนักที่ ‘บิ๊กตู่’ แต่เพื่อไทย-ก้าวไกล ชิงไม่ไว้วางใจ ‘กันเอง’ ก่อนออกศึก/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ซักฟอกรัฐบาล

เป้าใหญ่-เป้าหนักที่ ‘บิ๊กตู่’

แต่เพื่อไทย-ก้าวไกล

ชิงไม่ไว้วางใจ ‘กันเอง’ ก่อนออกศึก

กว่าจะออกมาเป็นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคร่วมฝ่ายค้าน แบบดุเดือดเลือดพล่าน ก่อนจะสรุปเช็กบิล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นเป้าใหญ่-เป้าหนัก โดยพ่วงรัฐมนตรีอีก 5 คน ประกอบด้วย

1. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

2. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

3.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

4.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

และ 5. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

เนื้อหาโดยสรุปในญัตติพุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการโควิด-19 ที่ล้มเหลวผิดพลาด ตลอดไปจนถึงการทุจริตการจัดการวัคซีน โดย ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล และผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลว ผิดพลาด เสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริตต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดของโรค

พฤติการณ์ของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ มีลักษณะ “ค้าความตาย” เห็นวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ เหิมเกริม คิดสร้างกำไรจากวัคซีนร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล โดยหวังการกอบโกยผลประโยชน์บนซากศพและคราบน้ำตาของประชาชน นอกจากนี้ ยังลุแก่อำนาจสั่งการให้มีการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุตลอดมา เสพติดในอำนาจจนอยู่ในสภาพของคนเป็นโรค “โอหังคลั่งอำนาจ” (Hubris Syndrome) ไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น ไร้ความสามารถที่จะบริหารราชการของกระทรวงแรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบทั้งระบบ ปล่อยปละละเลยให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แสวงหาประโยชน์จากแรงงานผิดกฎหมาย จนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไร้มาตรการรองรับผู้ใช้แรงงานจนมีคนตกงานจำนวนมาก

ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นอกจากโดนว่า มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แล้วยังโดนเรื่องประพฤติตัวเสเพลไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรค เข้าไปในแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิดไปทั่วประเทศด้วย

‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ’ โดนเรื่องจงใจเบียดบังเอาทรัพยากรของชาติไปให้พวกพ้องตนเอง ปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ ทั้งวัวและสุกร จนส่งผลเสียหายแก่เกษตรกรจำนวนมาก

ท้ายสุด “ชัยวุฒิ” โดนตั้งประเด็นใช้ตำแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะการมุ่งเอาผิดคนที่ออกมาคอลเอาต์

 

การยื่นญัตติซักฟอกแม้ดูจะราบรื่น แต่ท้ายที่สุดก็เกิดดราม่าระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจนได้ กรณีไร้ชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร.

หากไล่เรียงไทม์ไลน์คร่าวๆ ของการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านที่พอเปิดเผยได้ เริ่มต้นที่การประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านวันที่ 11 สิงหาคม เวลา 10.00 น. เป็น ‘เดดไลน์’ แรกที่พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคจะต้องส่งรายชื่อรัฐมนตรีจะอภิปรายให้ฝ่ายกฎหมายไปร่างเป็นญัตติ เมื่อถึงเวลาทุกพรรคการเมืองได้ส่งชื่อรัฐมนตรีในส่วนของพรรคตนเอง แต่พรรคก้าวไกลขอเวลาเพิ่มอีก 2 วันในการขอส่งรายชื่อในวันที่ 13 สิงหาคม ที่ประชุมตกลงกันไว้ที่เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ การประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านวันที่ 11 สิงหาคมนั้น ได้มีการพูดถึงชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร’ เล็กน้อย ในส่วนที่ ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.มหาสาคาม พรรคเพื่อไทย เสนอไว้กับทางหัวหน้าพรรค กรณีเป็นผู้ริเริ่มจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ที่ประชุมเห็นว่า พล.อ.ประวิตรไม่มีอำนาจโดยตรง และจะพุ่งเป้าทุกอย่างเข้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทุกพรรคจึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่อภิปราย พล.อ.ประวิตร

มีเพียงพรรคก้าวไกลที่ขอเวลาเพิ่มและแจ้งที่ประชุมว่าอาจจะเพิ่มชื่อรัฐมนตรี 1 คน แต่กำลังคุยกันอยู่

 

‘เดดไลน์’ ที่ 2 วันที่ 13 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ยังไม่มีการส่งชื่อเพิ่มเติมจากพรรคใด จนช่วงบ่าย ‘พรรคก้าวไกล’ ส่งชื่อ ‘นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีดีอีเอส เพิ่มอีก 1 คน

วันที่ 14 สิงหาคม ช่วงบ่าย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย จึงส่งร่างญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี รวม 6 คน ให้หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ตรวจสอบความถูกต้อง

โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่า ช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันที่เขียนญัตติ ไม่เคยมีการเอ่ยถึงชื่อ ร.อ.ธรรมนัสจากพรรคใด

ปัญหาความสับสนเกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ช่วงบ่าย ‘พรรคก้าวไกล’ โทร.หา ‘พรรคเพื่อไทย’ ขอเสนอชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร’ เข้ามา เป็นการยื่นรายชื่อหลังจากที่ญัตติออกไปแล้ว ทำให้ต้องมีการโทร.หาพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคเป็นรายบุคคลใหม่ทั้งหมดเพื่อขอมติอีกครั้ง

และพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่เอาชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร’ บรรจุในญัตติ

แต่พรรคก้าวไกลระบุว่า ช่วงวันที่ 14-15 สิงหาคม พรรคก้าวไกลยืนยันกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วว่า จะอภิปราย ‘พล.อ.ประวิตร’ แต่ไม่มีพรรคร่วมสนับสนุน และยังระบุว่า “หลังการประชุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม เลขาธิการพรรคเพื่อไทยแจ้งเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้ส่งรายชื่อเพิ่มเติมภายในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม นายชัยธวัชจึงส่งชื่อ พล.อ.ประวิตรในวันที่ 15 สิงหาคม เวลาบ่ายสองกว่าๆ

เท่ากับ ‘เดดไลน์’ ไม่ตรงกัน แต่นั่นไม่น่าจะใช่ปัญหา เมื่อสุดท้ายแล้ว ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ มีมติออกมาแล้วว่าจะไม่ใส่ชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร’ ลงในญัตติ ด้วยเหตุผล 2 มิติ คือ

1. ไม่มีงานที่รับผิดชอบโดยตรง และประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นขาดน้ำหนัก

และ 2. ไม่อยู่ในกรอบที่พรรคร่วมฝ่ายค้านตั้งธงไว้ร่วมกันคือทุจริต โควิด และเศรษฐกิจ

แต่แกนนำพรรคก้าวไกลระบุภายหลังว่า การที่พรรคไหนจะยื่นอภิปรายใคร เป็นเอกสิทธิ์ของพรรคนั้นๆ ประเด็นนี้พรรคร่วมอื่นๆ ในฝ่ายค้านมองว่า จริงอยู่ที่เป็นเอกสิทธิ์ของก้าวไกลในการเสนอชื่อรัฐมนตรีที่ต้องการอภิปราย แต่การพิจารณาร่วมกันเพื่อสรุปในญัตติต้องใช้มติจากพรรคร่วม เพราะทุกพรรคต้องเซ็นชื่อร่วมกันเสนอญัตติ

 

ปัญหาความสับสนการยื่นญัตติต่อประธานสภาวันที่ 16 สิงหาคม ช่วงเช้า พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดหารือกันอีกครั้ง ที่ห้องผู้นำฝ่ายค้านก่อนยื่นญัตติ พรรคร่วมมาพร้อมตามนัด ขาดแต่เพียง ‘พรรคก้าวไกล’ สุดท้ายการยื่นญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ผ่านไป เหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ก็มีประเด็นขัดแย้งกันใน ‘ฝ่ายค้าน’ จนเกิดเป็นวิวาทะระหว่าง ‘เพื่อไทย’ กับ ‘ก้าวไกล’ ในโซเชียลมีเดีย

แม้จะยังไม่ได้เริ่มอภิปรายรัฐบาล ฝ่ายค้านก็เปิดศึกกันเองก่อนแล้ว ขณะที่ฟาก ‘รัฐบาล’ หลังได้เห็นญัตติของฝ่านค้าน รัฐมนตรีแต่ละคนพร้อมชี้แจงในทุกข้อกล่าวหา มีเพียงนายกฯ ที่ตัดพ้อกลางวงประชุม ครม.ว่า “ผมว่าแรงไปไหมในหัวข้ออภิปราย มีใครเคยมีไหมแบบนี้”

จริงๆ แล้วเป้าหมายหลักที่ ‘ฝ่ายค้าน’ หวังผลจากการซักฟอกครั้งนี้ คือตัวนายกฯ อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเทน้ำหนัก และความดุเดือดไปที่ ‘พล.อ.ประยุทธ์’

ถ้า ‘ฝ่ายค้าน’ ไม่อัดกันเองจนน่วมเสียก่อน คิดว่าศึกซักฟอกรัฐบาลรอบนี้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ และ ‘อนุทิน’ คือคนที่จะเจอซักฟอกจนน่วมที่สุด