
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
เกิดอะไรขึ้นที่ ‘อัฟกานิสถาน’
เมื่อ ‘ทาลิบัน’ พิชิต ‘กรุงคาบูล’
ทันทีที่กลุ่มกองกำลัง “ทาลิบัน” บุกเข้ายึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ภาพข่าวนักรบทาลิบันบุกเข้าไปในทำเนียบ และไปนั่งที่เก้าอี้ของประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่เพิ่งจะหนีออกจากประเทศไป ก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
อีกด้านหนึ่ง โลกได้เห็น “ความสิ้นหวัง” ของชาวอัฟกานิสถาน ผ่านภาพผู้คนหนีเอาตัวรอดจนรถติดเต็มถนน ผู้คนนับพันแห่กันไปที่สนามบินหวังใช้โอกาสสุดท้ายขึ้นเครื่องหนีออกนอกประเทศ
ชาวอัฟกันอีกจำนวนมากถึงขั้นบุกเข้าไปในรันเวย์ พยายามปีนขึ้นเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐที่ถูกส่งมาอพยพเจ้าหน้าที่ทางการทูต จนต้องมีการยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า
ภาพคนจำนวนหนึ่งเกาะลำตัวเครื่องขณะที่เครื่องกำลังแล่นอยู่บนรันเวย์ สะท้อนให้เห็นการดิ้นรน “เดิมพันด้วยชีวิต” อย่างน่าสลดหดหู่ เพียงไม่ต้องการกลับไปเผชิญฝันร้ายภายใต้การปกครองของทาลิบันอีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นที่ “อัฟกานิสถาน”
สถานการณ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วนี้อาจตอบได้ว่ามี “จุดเริ่มต้น” จากข้อตกลงสันติภาพระหว่างสหรัฐอเมริกา และกลุ่มกบฏติดอาวุธทาลิบัน ที่ลงนามกันที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปี 2020 ที่ผ่านมา
ภายใต้ข้อตกลงนี้สหรัฐให้คำมั่นว่าจะ “ถอนกำลังทหาร” ออกจากอัฟกานิสถานภายใน 14 เดือน เพื่อแลกกับการยุติการโจมตีกองกำลังสหรัฐ และขัดขวางกลุ่มอัลเคด้าไม่ให้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ สานต่อนโยบายถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานต่อไป หลังจากต้องสูญเสียงบประมาณถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูญเสียชีวิตทหารอเมริกัน และพันธมิตร ทหารตำรวจชาวอัฟกันและพลเรือนอีกนับไม่ถ้วน กำหนดเส้นตายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
การประกาศถอนกำลังสหรัฐภายในเวลาไม่ถึงปี ส่งผลต่อสภาพจิตใจของกองทัพรัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในเวลาเดียวกันกลุ่มกบฏทาลิบันก็สะสมกำลังไพร่พลมากกว่า 80,000 เคลื่อนทัพยึดหัวเมืองทั่วประเทศอย่างง่ายดายด้วยการทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแลกกับความปลอดภัย
จนในที่สุดกลุ่มทาลิบันยึดหัวเมืองใหญ่และเข้ายึดกรุงคาบูลอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา
สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อประธานาธิบดีอัฟราฟ กานี ที่เดิมประกาศจะเจรจาสันติภาพกับกลุ่มทาลิบัน ตัดสินใจหันหลังให้ประชาชนและเดินทางหนีออกจากประเทศ
ประธานาธิบดีกานีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตนเลือกที่จะเดินทางออกจากประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุนองเลือดในกรุงคาบูล
“เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมและได้ใจประชาชน ทาลิบันจำเป็นต้องให้ความมั่นใจกับประชาชน ชนเผ่า กลุ่มต่างๆ รวมถึงพี่น้องผู้หญิงชาวอัฟกัน ในการวางแผนการให้ชัดเจนและเปิดเผยสู่สาธารณะ” กานีโพสต์ยอมรับความพ่ายแพ้
มุลลาห์ บาราดาร์ อัคคุนด์ รองหัวหน้ากลุ่มทาลิบัน ระบุหลังกลุ่มทาลิบันบุกยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ ยืนยันว่ารัฐบาลทาลิบันจะนำความสงบเรียบร้อยมาสู่ประเทศ
“เราจะอำนวยประโยชน์ให้กับประเทศของเรา เราจะนำความสงบมาสู่คนทั้งชาติ และจะทำอย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา” อัคคุนด์ระบุ
ด้านโซเฮล ซาฮีน โฆษกกลุ่มทาลิบัน ระบุกับซีเอ็นเอ็น จากกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ว่า รัฐบาลใหม่ของกลุ่มทาลิบันจะเปิดทางให้ชาวอัฟกันที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มทาลิบัน เข้าร่วมรัฐบาลด้วย และยืนยันว่าจะมีบุคคลที่ “เป็นที่รู้จักกันดี” มาร่วมรัฐบาล
นอกจากนี้ ซาฮีนยังเปิดเผยผ่านบีบีซี ยืนยันว่า จะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับประชาชนอัฟกานิสถาน และยืนยันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกรุงคาบูล
“ชีวิต ทรัพย์สิน และศักดิ์ศรีของประชาชนจะต้องได้รับความคุ้มครองจากนักรบมูจาฮิดดิน” ซาฮีนระบุ
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลหลายชาติ ต่างดำเนินการอพยพพลเมืองออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงนิวซีแลนด์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมี 2 ชาติที่มีท่าทีเปิดกว้างที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลทาลิบันแล้ว นั่นก็คือ “รัสเซีย” และ “จีน” ซึ่งยังไม่ได้มีคำสั่งอพยพเจ้าหน้าที่ทูตออกจากอัฟกานิสถานแต่อย่างใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน ชาติที่มีชายแดนติดกับอัฟกานิสถานเป็นระยะทางถึง 76 กิโลเมตร โดยนางฮว่า ชุน อิ๋ง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ที่ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “ทาลิบันแสดงออกอย่างต่อเนื่องถึงความหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน และพวกเขายินดีที่จะให้จีนได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนาอัฟกานิสถาน”
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนระบุ
ด้านนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐที่ตัดสินใจถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ก็เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการตัดสินใจถอนทหารครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นายโจ ไบเดน เองก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า รู้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะถูกวิพกาษ์วิจารณ์ แต่ก็ยินดีที่จะรับเสียงวิจารณ์แทนที่จะผลักความรับผิดชอบให้ประธานาธิบดีคนต่อไป สิ่งนี้ควรเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน หรือไม่ก็อาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า
“การเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อนมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การจัดการกับผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตี 9/11 และทำให้แน่ใจว่ากลุ่มอัลเคด้าไม่สามารถใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการโจมตีสหรัฐได้อีก และเราทำได้แล้วตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ภารกิจของเราไม่เคยเป็นการสร้างประเทศ” ไบเดนระบุ
จากนี้ต่อไปคงต้องจับตามองกันต่อไปว่าท่าทีของประชาคมโลกที่จะมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร รัฐบาลอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มทาลิบัน จะได้รับการยอมรับจากนานาชาติหรือไม่
รัฐบาลทาลิบันเอง จะปกครองอัฟกานิสถานในแบบประกาศเอาไว้ หรือจะกลับไปใช้วิธีการปกครองด้วยกฎหมายอิสลามแบบเข้มข้นที่เคยเป็นฝันร้ายของประชาชนมาแล้วในยุคหนึ่ง
และแม้ว่าจะยังไม่มีคำตอบว่าการตัดสินใจของสหรัฐในครั้งนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่
แต่เหตุการณ์นี้เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นผลพวงของการแทรกแซงทางการเมืองของชาติมหาอำนาจในต่างประเทศ
สุดท้ายคนที่รับกรรมก็คือประชาชนตาดำๆ นั่นเอง