ม็อบระอุ คฝ.ไม่แผ่ว ระดมกระสุนยาง-แก๊สน้ำตา ‘หนังหน้าไฟ’ รักษากติกา บิ๊กปั๊ดยึดสงบเรียบร้อย เมินเชียร์-ประณาม/โล่เงิน

โล่เงิน

 

ม็อบระอุ

คฝ.ไม่แผ่ว ระดมกระสุนยาง-แก๊สน้ำตา

‘หนังหน้าไฟ’ รักษากติกา

บิ๊กปั๊ดยึดสงบเรียบร้อย เมินเชียร์-ประณาม

“ให้มันจบที่สิงหาคม”

สัญญาณที่ถูกปลุกเร้าผ่านช่องทางต่างๆ เป็นแรงผลักเยาวชนหลายกลุ่มนัดทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่แตกต่างกันไปตามจุดยืน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง

พล.อ.ประยุทธ์ถูกคนรุ่นใหม่ปราศรัยซักฟอกการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ จนส่งผลให้มีผู้เสียติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่เสียงของพวกเขากลับถูกเพิกเฉย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้

ส่งผลให้ผู้ชุมนุมพยายามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อยืนยันข้อเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเดินไปบ้านพักของนายกรัฐมนตรีภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กฯ แม้กระทั่งการเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมได้เห็นการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม ดูรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ชุดเคลื่อนที่เร็วท้ายกระบะ

ท่าทีตึงเครียดแบบนี้ดูไม่มีแนวโน้มเปิดช่องเจรจา เหมือนเติมเชื้อไฟ กระพือเกิดม็อบรายวัน

การยกระดับบังคับใช้กฎหมายกับเยาวชน ทาง ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์และให้ความเห็นถึงประเด็นสถานการณ์การชุมนุม ว่า พัฒนาการทั้งฝ่ายนักเรียน นักศึกษา และเจ้าหน้าที่รัฐ แบ่งเป็น 4 ช่วง

เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ฝั่งนักศึกษาเติบโตจากกลุ่มเล็กๆ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แตกต่างหลากหลาย ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แยกจากกันทั้งในแง่ความคิด อุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ขณะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เคยมีประสบการณ์เผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่แบบนี้มาก่อน ยังอยู่กับความขัดแย้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง

เจ้าหน้าที่จะมองคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนฝ่ายค้านทางการเมือง ว่าจัดตั้งโดยพรรคการเมืองหนึ่ง ทำให้รัฐเพิกเฉย เพราะมองว่าเหมือนฝ่ายค้านทางการเมืองที่ไม่ได้มีพลังอะไร

ต่อมาหลังสถานการณ์โควิด-19 รอบแรกได้ซาลง กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้ เริ่มเติบโตและพัฒนาตัวเองเป็นเครือข่ายหลวมๆ และยังได้เห็นพัฒนาการของเยาวชนปลดแอก เป็นประชาชนปลดแอก เป็นคณะราษฎร แต่ทุกกลุ่มยังทำงานแยกออกจากกัน

จุดนี้ทำให้ภาครัฐเริ่มตระหนักถึงพลังของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้อิงอยู่กับการเมืองแบบเก่า เป็นช่วงที่รัฐพยายามทำความเข้าใจ

ทำให้ช่วงมิถุนายน-ตุลาคม 2563 จะเห็นวิธีการที่รัฐปฏิบัติค่อนข้างประนีประนอม การจับกุมเกิดขึ้นจริงแต่ค่อนข้างระยะสั้น

พอถึงช่วงต้นปี 2564 เริ่มเห็นจุดเปลี่ยน ม็อบเติบโตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้กลุ่มต่างๆ เริ่มลงหลักปักฐานมากขึ้น เริ่มมีมวลชนและพลังเป็นของตนเองอย่างชัดเจน

ถึงจุดนี้รัฐเริ่มกังวลถึงพลังและจุดยืนของแต่ละกลุ่ม เริ่มใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน มีการจับกุมคุมขังแบบยาวนานขึ้น หลายสัปดาห์ หลายเดือน ในหลายกรณี เริ่มมีการขยายตัวใช้ความรุนแรงมากขึ้น

รัฐเริ่มมองคนเหล่านี้ไม่ใช่เยาวชน แต่มองเป็นสถาบันความขัดแย้งทางการเมืองของรัฐ

“จุดเปลี่ยนนับตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากเยาวชน ตอนนี้มีพันธมิตรแบบใหม่ที่รัฐกังวลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแกนนำกลุ่มเสื้อแดงเก่า ชนชั้นกลางระดับล่าง ระดับบน หรืออดีตฝ่ายที่เคยสนับสนุนรัฐบาล แม้จะยังไม่มีการเข้ามาจับมือกันอย่างเป็นเอกภาพ แต่ทุกกลุ่มมีการเกื้อหนุนให้การสนับสนุนถึงข้อเรียกร้องร่วมกัน คือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ผศ.ดร.กนกรัตน์ระบุ

และมีมุมมองต่อว่า สถานการณ์ตอนนี้เองรัฐมองว่าไม่ใช่ม็อบที่นำโดยเยาวชน แต่เป็นภัยคุกคามระดับชาติ

ถึงจุดนี้ไม่มีการประนีประนอม ไม่มีการเจรจา

รัฐยกระดับใช้ความรุนแรงจัดการกับมวลชนแบบขั้นสูง เพื่อหยุดไม่ให้เกิดม็อบ

 

ในภาวะที่รัฐเริ่มเปราะบาง การชุมนุมทุกวันจะทำให้รัฐถูกลดทอนความชอบธรรมลงไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมาผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ตำรวจออกมายืนเคียงข้างประชาชน และเลิกค้ำบัลลังก์ให้ พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจะกี่ยุค กี่ม็อบ ผู้ชุมนุมกี่สี ตำรวจยังคงต้องรับบท “หนังหน้าไฟ”

สารพัดคำก่นด่า “ขี้ข้าเผด็จการ” จากเยาวชนถึงตำรวจ สะท้อนความเจ็บแค้น วิพากษ์วิจารณ์ถึงการสลายม็อบที่ไม่เป็นธรรม

15 สิงหาคม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ขณะไปประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กรณีหลายคนมองว่าทำไมช่วงนี้มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ว่า มีบางครั้งที่ตำรวจพยายามยึดพื้นที่ ผู้ชุมนุมร่วมตัวกันขนาดใหญ่ แต่ทำภายใต้เหตุผลความจำเป็นและพอเหมาะพอควรต่อสถานการณ์ พยายามจะทำอย่างนั้น โดยไม่ต้องให้เกิดการปะทะบาดเจ็บเกิดขึ้น แต่ว่าทำได้เท่าที่ได้ไม่ให้เกิดอันตราย

อย่างไรก็ตาม การรักษาความสงบเรียบร้อยนั้น ตำรวจนึกถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ดำเนินตามความจำเป็นและเหตุผลการใช้อุปกรณ์ทำตามมาตรฐานสากลใช้โดยไม่เกินกว่าเหตุ

ไม่เลือกปฏิบัติ

 

ผบ.ตร.บอกอีกว่า บช.น.เหนื่อยยากกับเรื่องพวกนี้ทุกครั้ง 1 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุม มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง มีเหตุพวกนี้เกินกว่า 2,000 กว่าครั้ง ต้องเสียกำลังพล ในเรื่องการสืบสวนสอบสวน เรื่องควบคุมความสงบเรียบร้อย ถ้านับจำนวนคงไม่ถูก เพราะบางครั้งใช้กำลังพลเป็นหมื่น

ก็เอาเป็นว่าเป็นงานที่สิ้นเปลืองทั้งกำลัง ทรัพยากรความคิด ทุกอย่างที่ทำเพราะรักษากติกาบ้านเมือง

“อยากบอกกำลังไปว่า ต้องดูแลคนของเราไม่ให้เกิดบาดเจ็บ ต้องบอกเด็กๆ ว่าสิ่งที่ทำเพื่อรักษากติกา ความสงบเรียบร้อย ไม่ได้ทำตามอารมณ์ของใคร มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ มีทั้งเชียร์และประณาม แต่ก็ต้องยึดกติกาไว้ อย่าไปยึดตามเสียงเชียร์ หรือเสียงประณามไม่ได้ ถ้าไม่รักษากติกา ก็ไม่มีใครทำ ไม่มีใครรักษา ฝากเด็กๆ ไปคุยทุกระดับชั้น จะพยายามดูแลความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นให้ได้ ความสงบเรียบร้อยก็ต้องมาก่อนอย่างอื่น และความปลอดภัยก็ต้องเกิดขึ้นกับทุกๆ คน มันอาจจะไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้ดีที่สุด” พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติกับผู้ชุมนุมที่มาเรียกร้องสิทธิเพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ ท่ามกลางการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพขณะมีโรคระบาด

ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในฐานะผู้ที่มีอาวุธครบมือจะต้องรู้จักอดทนอดกลั้น ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีวุฒิภาวะ บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม