จาก POPCAT ถึง POPYUT ในกระแส โรค ‘โอหังคลั่งอำนาจ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จาก POPCAT

ถึง POPYUT

ในกระแส

โรค ‘โอหังคลั่งอำนาจ’

หากเราติดตามดูปรากฏการณ์ที่ทำให้เกมง่ายๆ และดูไร้สาระอย่าง POPCAT

ขับเคลื่อนสู่ปริมณฑลการเมือง อันแหลมคมในประเทศไทยขณะนี้นั้น

เราจะพบความน่าสนใจบางอย่าง

เกม POPCAT CLICK เป็นเกมแมวเหมียวสีขาว 1 ตัว ที่ชื่อว่า Oatmeal ตัวเกมออกแบบมาให้เล่นง่ายสุดๆ คือให้ผู้เล่นมีหน้าที่คลิกรัวๆๆๆๆๆๆ แล้วตัวเกมก็จะนับจำนวนคลิกที่ผู้เล่นกด โชว์ออกมาให้เห็น รวมทั้งเจ้าแมวตัวนี้ทุกคลิกที่กดจะอ้าปากกว้างขึ้น พร้อมกับมีเสียงป๊อปดังขึ้น หลังจากนั้นก็จะรวมจำนวนคลิก โดยอิงจากโลเกชั่น รวมคะแนนทั้งประเทศออกมา แล้วนำไปจัดลำดับใน Leaderboard ที่โชว์ว่าใครนำ ใครตาม

ยิ่งคลิกมากเท่าไหร่ ก็จะได้แต้มมากขึ้นเท่านั้น เป็นการแข่งขันที่ง่ายๆ แต่ก็เป็นการแข่งขันในนามประเทศกลายๆ จึงไม่ค่อยมีใครยอมใคร แต่ละชาติช่วยกันกดกันรัวๆ

จึงกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลในที่สุด

 

POPCAT เกิดขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟริลด์ ได้แก่ โจชัวร์ โอ ซุลลิแวน, เอ็ดเวิร์ด เฮลส์ และเฟรดดี้ เฮพเพลล์ โดยเริ่มโปรเจ็กต์นี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2563

ตอนแรกพวกเขาทำขึ้นมาขำๆ แต่เริ่มบูมขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564

ทำให้ตอนนี้มีคนเข้าร่วมถึง 211 ประเทศ

สำหรับประเทศไทยเพิ่งมาฮิตกับเกมนี้เมื่อเดือนสิงหาคมนี้นี่เอง

โดยมียอดคลิกพุ่งพรวดรวมกัน 3.3 พันล้านครั้ง ติดเป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เวลา 11.00 น.

และกระโดดขึ้นมาครองอันดับ 1 ของโลกได้ในที่สุด เมื่อเวลา 17.30 น. ของวันเดียวกัน มีคะแนนคลิก/กดกว่า 26,000 ล้านครั้ง ทิ้งห่างไต้หวันที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่คะแนน 17,000 ล้านครั้ง รวมถึงแซงหน้าที่ 2 กับ 3 ก็คือ มาเลเซีย และฟินแลนด์ ไปไม่ยาก

นอกจากนี้ #POPCAT ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ทั้งบน Twitter Thailand และ Google Thailand

ปัจจัยที่ทำให้เกมนี้ฮิตชั่วข้ามคืน

ก็เพราะมันถูกออกแบบมาให้ง่ายๆ นี่แหละ ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องใช้ทักษะใดๆ เพียงแต่คลิกเข้าไป รวมทั้งสามารถเล่นได้ทั้งกับเครื่องคอมพิวเตอร์และโมบายล์ จึงสะดวก

อีกทั้งมีการมองว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมต่างๆถูกจำกัด เมื่อไม่มีอะไรทำ การ ‘จิ้มแมว’ จึงเข้ากับบรรยากาศอย่างดี

 

มติชนออนไลน์ รายงานข่าวถึงปรากฏการณ์นี้ โดยระบุว่า การคว้าชัย POPCAT ของคนไทยในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงนี้ ทำให้ชาวเน็ตต่างชาติทึ่ง

และมีการยั่วเย้าในหมู่ชาวโซเชียล โดยดึงเข้าไปสู่ประเด็นทางการเมืองว่า “ไต้หวันนั้นมีรัฐบาลที่ดี ขณะที่มาเลเซีย นายกฯ ก็กำลังจะลงจากตำแหน่ง ไทยไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ขอให้มีความสุขเล็กๆ ในชัยชนะนี้แล้วกัน”

ขณะที่เน็ตชาวไทยหลายคนได้ออกมาอธิบายแดกดัน แบบ “ตลกร้าย” ว่า สกิลการฝึกแย่งลงทะเบียนของไทยนั้น ได้ฝึกมานาน ยากจะโค่น ไม่ว่าจะต้องลงทะเบียนฉีดวัคซีน หรือลงทะเบียนคนละครึ่ง เพื่อรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ที่ทำให้ทุกคนมี Skill ไม่แพ้ใคร

บางคนยังแซวแรงว่า เพราะการทำงานของรัฐบาล ทำให้มีคนไทยต้องว่างงาน และมีเวลาจะเล่นเกมนี้นั่นเอง

หลายคนเหน็บแนมแสบๆ คันๆ ว่า กระแสความนิยมของ #popcat เพื่อส่งเสียงออกไปว่า ที่จริงแล้ว คนไทยนั้นไม่ได้ต้องการเหรียญทอง เพียงแต่เราต้องการประชาธิปไตยเสียมากกว่า รวมไปถึงเรื่องของวัคซีน ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด เนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เจ้าของแคมเปญคาร์ม็อบ เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหรือจะพลาดจากกระแสฮอตฮิตนี้

เขาได้โพสต์ในเฟซบุ๊กประกาศตัวเป็นแนวร่วม POPCAT

พร้อมกับโพสต์ข้อความว่า “ประกาศจากแนวร่วม POPCAT ไล่ประยุทธ์ ขอระดมกำลังพลด่วนเพื่อให้ประเทศไทยมียอด Click 100,000 ล้านเป็นประเทศแรก เพื่อแสดงความมุ่งมั่นถึงการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสถานการณ์ตอนนี้ POPCAT จากไต้หวันกำลังเร่งแซงประเทศไทยอยู่ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติ POPCAT ไล่ประยุทธ์ ได้ที่ http://popcat.click”

 

ปรากฏว่ามีการขานรับอย่างคึกคัก

ในคาร์ม็อบ มีชายรายหนึ่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ ชูป้าย “Popcat เพื่อชาติ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

และภาพนี้ ข่าวสดอิงลิช ได้นำไปโพสต์

ปรากฏว่า ไปเข้าตา 1 ในทีมผู้สร้างเว็บคือเอ็ดเวิร์ด เฮลส์

เขาจึงได้รีทวีตภาพข่าวจากข่าวสดอิงลิชดังกล่าวออกไปทั่วโลก

พร้อมได้เขียนข้อความไว้ว่า

“ช่วยสละเวลาเล็กน้อย เพื่อเรียนรู้เหตุการณ์การประท้วงในประเทศไทย

ประชาชนหลายคนกำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยเราก็รับฟังเขาได้”

และยังติดแฮชแท็ก #whatshappeninginthailand #ม็อบ15สิงหา ด้วย

ยิ่งทำให้เรื่องนี้เชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการเมืองยิ่งขึ้น

มีคนเข้าไปรีทวีตโพสต์ดังกล่าวหลายหมื่นครั้ง ทั้งยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าไปขอบคุณ และให้ข้อมูลถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามผู้ชุมนุม

ทั้งยังมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาร่วมให้กำลังใจกับชาวไทยในโพสต์ต่างๆ ร่วมเป็นกำลังใจต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้รับประชาธิปไตยในเร็ววัน

ทำให้กระแส POPCAT ที่จะดูเป็นเรื่องไม่มีสาระ

แต่ ณ เวลานี้เจ้าแมวตัวนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อกระจายเรื่องราวของประเทศไทยในขณะนี้ให้ชาวโลกได้รับรู้อย่างกว้างขวาง

 

และหลังจากกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก

ประเด็นนี้ก็ย้อนกลับมาร้อนแรงในประเทศไทยอีกรอบ ด้วยหลังจากนั้นไม่นาน ได้มีเว็บไซต์หรือเกมในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น มีชื่อว่า POPYUT หรือป๊อปยุทธ์ ถูกผลิตและสร้างสรรค์ออกมา โดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า narze

โดยนำอิริยาบถต่างๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มาให้ชาวเน็ตได้กดแต้มสะสมคล้ายเกม POPCAT ผ่านช่องทาง https://prayut.click/

ซึ่งชาวเน็ตสามารถเข้าไปเล่นผ่านเว็บไซต์ prayut.click วิธีการง่ายๆ ด้วยการคลิกเช่นเดียวกับเจ้าแมวเหมียว

โดยแต่ละคลิก จะมีการเปลี่ยนแอ๊กชั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเล่นฟุตบอล ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อ 14 ธันวาคม 2559 มา 4 ภาพ 4 แอ๊กชั่น ที่ พล.อ.ประยุทธ์ล้มลุกคุกคลานในรูปแบบต่างๆ

แถมเมื่อกดครบ 100 ครั้ง จะมีเสียง “นะจ๊ะ” ของ พล.อ.ประยุทธ์มาเรียกรอยยิ้มประกอบด้วย

ซึ่งปรากฏว่า PRAYUT.CLICK ได้รับความสนใจสูงเช่นกัน โดยเพียง 4 วัน มียอดคลิกเข้าไปร่วมถึง 266 ล้านครั้ง และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า การคลิกดังกล่าว ย่อมไม่ใช่เรื่องน่ารักดังที่คนคลิกให้กับเจ้าเหมียวสีขาว Oatmeal

หากแต่จะเป็นกระแสเดียวกับที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ รณรงค์มากกว่า

นั่นคือขอระดมการ Click เพื่อแสดงความมุ่งมั่นไปสู่การขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

“ออกไป” จากตำแหน่งด้วยความไม่เหมาะสมทั้งปวง ซึ่งก็สอดคล้องกับญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นำคำว่า โรค “โอหังคลั่งอำนาจ” (Hubris Syndrome) มาให้คนไทยรู้จัก

โรค “โอหังคลั่งอำนาจ” (Hubris Syndrome) ที่ในทางการแพทย์ระบุอาการไว้หลายประการ

อาทิ ชอบเหยียดหยามคนอื่นว่าโง่กว่าตัวเอง

ขยันทำงานไม่หยุดหย่อน แต่ผลงานที่ออกมาไร้ประสิทธิภาพและสมรรถภาพ

สูญเสียความสามารถในการมองเห็นความเป็นจริง ฯลฯ

นอกจากจะนำมาให้ชาวบ้านรู้จักแล้ว ฝ่ายค้านยังนำมามากล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยลงลึกสู่ประเด็นการเมือง

กล่าวหาถึงการลุแก่อำนาจสั่งการให้มีการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุ

กล่าวหาถึงการทำให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว ทำให้ประเทศไทยถึงจุดที่เรียกว่าตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยในสายตาชาวโลก

กล่าวหาความไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ความไม่รอบคอบระมัดระวัง ไม่สนใจต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติ การแสวงหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน

กล่าวหา “ใจดำ” ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน

กล่าวหาความโอหังและการเสพติดในอำนาจ

จนไม่อาจอยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป

กระแสต่างๆ จึงไหลรวมไปยังการกดดันให้นายกฯ ลาออก

แน่นอน รวมถึงเรื่องที่ควรเป็นสิ่ง “ขัน-ขัน” อย่าง POPCAT ก็ถูกเชื่อมโยงเข้าไปเกี่ยวข้อง และแตกลูกไปเป็น PRAYUT กลายเป็นความ “ขื่น”

และยิ่งเมื่อต่อเรื่องไปสู่โรค Hubris Syndrome ก็เหมือนเป็นกระแทกเข้าใส่นายกฯ

จึงไม่น่าประหลาดใจที่คนไทยจะได้ยินเสียงโอดครวญ

“แรงไปไหมในหัวข้ออภิปราย มีใครเคยมีไหมแบบนี้”