เมื่อหมอชนบทบุกกรุง ด้วย ‘ปฏิบัติการจรยุทธ์’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เมื่อหมอชนบทบุกกรุง

ด้วย ‘ปฏิบัติการจรยุทธ์’

 

ผมไปพูดคุยกับแกนนำของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีนบุรีเมื่อสัปดาห์ก่อน

พบคุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, ผอ.โรงพยาบาลจะนะที่สงขลา, และประธาน “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่นำทีมคุณหมอจากชนบทมมาเกือบ 40 ทีมเพื่อมาช่วยตรวจคัดกรองเชื้อโควิดให้ชุมชนในกรุงเทพฯ

คุณหมอเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ปฏิบัติการจรยุทธ์”

เป็นการทำงานของหมอชนบทที่ทนเห็นสภาพการแพร่เชื้อที่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างไกลในเมืองหลวงไม่ได้

จำเป็นต้องมาช่วย “ตรวจเชิงรุก” เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าที่เห็นอยู่

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ปกติ

เพราะหากเราเปรียบเทียบการสู้รบกับโควิด-19 เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของแวดวงสาธารณสุข รัฐบาลและ ศบค. ก็ควรจะเป็น “ทัพหลวง”

นายกรัฐมนตรีก็เป็น “แม่ทัพ” อันหมายถึงผู้บัญชาการรบสูงสุดในภาวะที่จะต้องวางยุทธศาสตร์และลงพื้นที่ตรวจตราให้แน่ใจว่าทุกแนวรบมีความพร้อมเพรียงและเดินหน้าตามแผนยุทธการเดียวกัน

แต่อยู่ดีๆ ก็เกิดมีนักรบเสื้อขาวจากต่างจังหวัดที่อาจจะวิเคราะห์แล้วเห็นว่า “ทัพหลัก” อาจจะเอาศัตรูไม่อยู่

ต้องยกพวกมาในฐานะอาสาสมัครมาช่วยสกัดศัตรูโดยที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสู้รบของทัพหลวงเลย

นี่ย่อมเป็นความบิดเบี้ยวของขบวนการทำสงครามที่ใหญ่หลวงระดับโลก

เพราะไวรัสโคโรนาตัวนี้มีความคล่องแคล่ว แปลงร่างและกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและน่ากลัว

แต่การตั้งรับของฝ่ายรัฐดูเหมือนจะยังขาดทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่มีศักยภาพที่จะเอาชนะศึกได้

เมื่อคณะหมอชนบทจากหลายภาคของประเทศรวมตัวกันยกพวกเข้าเมืองหลวงเพื่อช่วยในการตรวจหาเชื้อให้ชุมชนต่างๆ ผมถือว่านี่เป็นการ “กู้กรุง” ของนักรบแนวหลังเมื่อเห็นแนวหน้าประสบกับวิกฤตในมิติต่างๆ

เพราะลำพังหมอชนบทเองก็มีภารกิจหนักหน่วงในบ้านตัวเองอยู่แล้ว

ช่วงหลังนี้จำนวนคนติดเชื้อในต่างจังหวัดก็ก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบล่าสุด

ทำให้คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯ พากันกลับบ้านระหว่างรอกลับไปทำงานอีกครั้ง

ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคโควิดกว้างขวางและรวดเร็วทันตาเห็น

เท่ากับเป็นการเพิ่มงานให้กับแพทย์ชนบททันที

แต่เมื่อสมาชิกในชมรมแพทย์ชนบทปรึกษาหารือระหว่างที่ประเมินสถานการณ์ภาพรวมของประเทศว่าเลวร้ายลงอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งเมื่อกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลายเป็น “เขตแดงเข้ม” ก็ยิ่งทำให้หมอชนบทกังวลว่าเมืองหลวงจะถูกตีแตก อาจถึงขั้น “เสียกรุง” ให้กับศัตรูที่มองไม่เห็น

หาก “เสียกรุง” แล้วชนบทก็ไม่อาจจะต้านการรุกคืบของโควิดได้แน่นอน

พอลงพื้นที่จริงๆ หมอชนบทก็พบว่าทัพหน้าของการศึกครั้งนี้มีจุดอ่อนหลายด้าน

ทีมหมอชนบทอาสามาช่วยตรวจเชิงรุกในเมืองหลวงครั้งนี้ในฐานะ “นักรบจรยุทธ์” ต้องเจอกับปัญหาการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ยังไม่ได้ “บูรณาการ” กันอย่างแท้จริง

ผมคุยกับทั้งหมอ, อาสาสมัคร, ผู้นำชุมชน, ผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอนามัยของ กทม.

เชื่อไหมว่าในหลายกรณีกลายเป็นประเด็น “มือซ้ายยังไม่รู้ว่ามือขวาทำอะไร”

เมื่อตรวจหาคนติดเชื้อในชุมชนคนแออัดใน กทม.ด้วย ATK ก็พบว่ามีคนติดเชื้อประมาณ 15-20% ซึ่งต้องถือว่าเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร

คำถามจากผู้นำชุมชนก็คือหากเจอว่าใครเป็นบวกแล้วจะทำอย่างไรกับพวกเขาและเธอ

ผมหันไปถามเจ้าหน้าที่อนามัย กทม.ที่ดูแลเขตนั้นและมีเครือข่าย “คลินิกอบอุ่น” ที่เข้ามาจับคู่เพื่อจะรับคนป่วยเข้าสู่การกักตัวและรักษาที่บ้านที่เรียกว่า Home Isolation

ได้รับคำตอบว่าทาง กทม.กับทีมหมอชนบทและผู้นำชุมชนยังไม่ได้มีระบบการส่งต่อข้อมูลของผู้ติดเชื้อทันที

ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าจะส่งคนที่ตรวจพบเชื้อไปไหน

ข้อมูลของการตรวจ ณ ชุมชนนั้นขึ้นที่จอคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครที่หน้างาน

แต่ข้อมูลชุดนั้นไม่ได้ไปปรากฏที่ระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานอนามัยของ กทม.

และไม่มีใครบอกได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีระบบของการเก็บข้อมูลปัจจุบันทันด่วนอย่างนั้นเพื่อประสานกับระบบ Home Isolation หรือไม่

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ หากให้คนที่มาตรวจแล้วเจอผลเป็นบวกกลับบ้านไปก็มีโอกาสจะแพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านได้

เมื่อไม่มีระบบของการติดต่อกับหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อจับคู่กับเครือข่ายคลินิกอบอุ่น (ที่บางส่วนได้รับงบสนับสนุนจาก สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) คนที่ติดเชื้อเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะรับการรักษาผ่านระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า Telemedicine เพื่อแยกคนป่วยจากคนที่ยังไม่ติดเชื้อ

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมในระยะหลังนี้จำนวนคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้นนอกจากจะมาจากคลัสเตอร์ของโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว

ก็ยังเป็นการแพร่เชื้อในบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย

การแจกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจรก็เป็นประเด็นว่าจะแจกให้กับใครเมื่อไหร่และมีจำนวนเพียงพอหรือไม่

ในวงสนทนาวันนั้น คุณหมอชนบทและผู้นำชุมชนเชื่อว่าถ้าเจอคนติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกลักษณะนี้ควรจะต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยด่วน

เพราะยิ่งให้ยาเร็วก็ยิ่งจะป้องกันไม่ให้คนป่วยที่เป็นสีเขียวกลายเป็นสีเหลืองหรือสีแดงได้

แต่เจ้าหน้าที่อนามัยของ กทม.บอกว่าส่วนใหญ่จะให้ฟ้าทะลายโจรก่อน ยังไม่ใช่ยาฟาวิพิราเวียร์แต่อย่างไร

 

เราต่างก็มองตากันด้วยความสงสัยงุนงงว่ากระทรวงสาธารณสุขและ กทม.มีการวางกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติเรื่องนี้ให้สอดคล้องต้องกันอย่างไร

ไฉนจึงทำให้คนหน้างานเกิดความงุนงงสงสัยว่าตกลงจะทำอย่างไรกันแน่

การรบจะชนะหรือแพ้ไม่ได้อยู่ที่ผู้บัญชาการรบสั่งลงมาอย่างเดียว

แต่ต้องมีการตรวจสอบด้วยว่านักรบในสมรภูมินั้นมีอาวุธที่เหมาะสมและใช้มันให้เหมาะกับสถานการณ์อย่างไร

ที่สำคัญคือนักรบทุกแนวรบจะต้องใช้ยุทธวิธีเดียวกัน

ไม่ใช่ต่างคนต่างมีกฎกติกาของตนโดยไม่ใส่ใจว่าศัตรูมีศักยภาพการทำลายล้างต่อเราอย่างไร

 

คุณหมอสุภัทรบอกผมว่า

“ผู้ใหญ่แสดงความชื่นชมกับการอาสามาทำงานในกรุงเทพฯ ของพวกเราไม่พอ ท่านต้องตรวจสอบด้วยว่าในสนามรบนั้นทุกคนทำตามที่สั่งการลงมาหรือไม่ หรือมีอุปสรรคที่หน้างานอะไรที่ต้องแก้ไขและปรับปรุงอย่างเร่งด่วน…”

ดังนั้น คำว่า “ขอบคุณหมอชนบทที่มาช่วยเมืองหลวง” จากระดับนโยบายจึงไม่มีความหมายอะไรหากนักรบเสื้อขาวจากต่างจังหวัดเข้ากรุงแล้วเจอกับสภาพของความไร้ทิศทางและขาดการประสานงานของฝ่ายต่างๆ อย่างชัดเจน

ภาษิตจีนบอกว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

ในภาวะวิกฤตโควิดนั้น ต้องเปลี่ยนเป็น “ไร้ทิศทาง ไร้การประสาน รบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง”