พลังอำนาจทางทะเลของจีน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

พลังอำนาจทางทะเลของจีน

 

ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทะเลจีนใต้ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษแล่นผ่านทะเลจีนใต้ ยังมีเครื่องบินรบสหรัฐอเมริกาบินควบคู่ไปด้วยกัน

นี่เป็นความตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อให้เรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินรบทั้งสองฝ่ายดำเนินการกลมกลืนและร่วมปฏิบัติการด้วยกัน ยังร่วมกันกับเรือของประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วย

ลำพังอะไรที่เป็นปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกา จีนก็โกรธมากอยู่แล้ว นี่ยังร่วมกับเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษ จีนจึงโกรธจัดขึ้นมา

กระทรวงกลาโหมอังกฤษแถลงว่า นี่เป็นแค่เป็นแค่การเดินเรือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้

กระบอกเสียงของสิงโตยังคำรามออกมาอีกว่านี่เป็นเพียงการเดินเรือกองเรือใหญ่อันดับ 3 ของโลกที่ทำมาเป็นรายปีเท่านั้น1

จีนโกรธจัดมากๆ หนังสือพิมพ์ Global Time กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนก็แสดงความโกรธออกมา ในเวลาเดียวกัน Wu Shicun ประธาน China’s National Institute for South China Sea Studies, Think Tank สำคัญของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People Liberation Army-PLA) เขียนบทความภาษาอังกฤษลงในเว็บไซต์ของหน่วยงาน วิจารณ์เรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษแล่นผ่านทะเลจีนใต้ว่า

“…การมาของเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ บ่งบอกความพยายามฟื้นชีวิตวันแห่งความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิอังกฤษ…ไม่ใช่แค่เดินเรือผ่านทะเลจีนใต้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นการเดินเรือที่ได้วางแผนอย่างระมัดระวัง เพื่อสนองเป้าหมายหลายประการ เป็นการเดินทางผ่านจักรวรรดิเก่าแห่งความภูมิใจในอาณานิคมของตนทั่วโลก สู่โชคชะตาและมหาสมบัติ…”

เพียงแค่เรือสหรัฐอเมริกาแล่นผ่านทะเลจีนใต้ จีนก็เต้นแล้ว ยิ่งเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ ยิ่งรับไม่ได้แน่นอน กองเรือชาติมหาอำนาจในทะเลจีนใต้เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจทางทหารของจีนอย่างแน่นอนและไม่ต้องสงสัย

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่พลังอำนาจทางทหารของจีนเพียงเรือรบ เรือดำน้ำ เรือยามฝั่ง กองเรือนานาชนิด เทคโนโลยีการสื่อสาร กำลังพลทั้งจำนวนมหาศาล กองทัพเรือปลดปล่อยประชาชน (People Liberation Army Navy-PLAN) จีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นต้น

แต่เราต้องพิจารณาไปถึงพลังอำนาจทางทะเลของจีนสำคัญยิ่งยวด เพื่อป้องกันและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติสำคัญยิ่งยวด

นั่นคือ มหาสมุทร พื้นน้ำแห่งความอยู่รอดของจีน

ทำไม?

คำตอบอันแสดงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของมหาสมุทร ที่เป็นมากกว่าความมั่นคงทางดินแดน เห็นได้จากข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)

ที่จะใช้คำว่า บีอาร์ไอ

บีอาร์ไอ พหุลักษณ์

“…ผ่านบีอาร์ไอ สันติภาพ ความมั่งคั่ง เปิดกว้าง นวัตกรรมและถนนอารยธรรมจะถูกสร้างขึ้น…” ผู้ใหญ่สูงมากที่ปักกิ่งกล่าว 14 พฤษภาคม 2561

ฟังผู้ใหญ่สูงมากที่ปักกิ่งกล่าวถึงบีอาร์ไอ แล้วบีอาร์ไอเป็นอะไรที่กว้างมากๆ แต่มีความสำคัญด้วยก่อให้เกิดสันติภาพ ความมั่งคั่ง และเป็นการคิดค้นผลิตสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม แล้วเกี่ยวอะไรกับจีนด้านไหนบ้าง มากขนาดไหน

จีนซึ่งวางบีอาร์ไอเป็นยุทธศาสตร์ระดับโลกที่นำพาจีนและโลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความไม่รู้ ผมลองไปหาความรู้เรื่องนี้จากแหล่งข้อมูลทั้งจากหนังสือ รายงานข่าวและอื่นๆ ที่คนทั่วไปอ่าน จากสื่อออนไลน์หาง่ายๆ แล้วอ่านดู

มีหลายเรื่องน่าสนใจ มีการอ้างถึงท่าเรือขนาดใหญ่ ท่าเรือในเอเชียที่พอรู้จักบ้างคือ ท่าเรือ GWADAR ของปากีสถาน ท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกา ท่าเรือ เกาะกง (Koh) กัมพูชา

คิดอย่างเล่นๆ ดูเหมือนว่า บีอาร์ไอน่าจะเกี่ยวข้องกับมหาสมุทรอย่างใดอย่างหนึ่ง

แล้วด้วยไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญใดๆ โดยเฉพาะจีน ผมจึงลองค้นคว้าว่า จีนและมหาสมุทรสัมพันธ์กันแง่ไหนบ้าง

เลยลองอ่านนโยบายความมั่นคงของจีน จึงพอเข้าใจขึ้นมาบ้าง

 

นโยบายความมั่นคงแห่งชาติจีน

ความเหนือกว่าของความมั่นคงแห่งชาติจีน นิยามอะไรที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ปักกิ่งเรียกว่า ผลประโยชน์หลัก (core interest) ซึ่งปรากฏในสมุดปกขาว (White paper) ของรัฐบาลจีนปี 20112 ผลประโยชน์หลักรวมด้วยอธิปไตยแห่งรัฐ ความมั่นคงแห่งชาติ ความผูกพันด้านดินแดน การรวมแห่งชาติ ระบบการเมืองจีน…และการป้องกันปลอดภัยให้แน่นอนต่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและพัฒนาทางสังคม

แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว การรักษาความมั่นคงแห่งชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน พึ่งพิงอย่างมากต่อเส้นทางการค้าทางทะเล เศรษฐกิจจีนยังคงพึ่งพาการส่งสินค้าไปต่างประเทศและการลงทุนสินทรัพย์คงที่ภายในประเทศ แม้ว่าจีนยังคงพยายามทำให้เกิดดุลทางเศรษฐกิจ โดยใช้จ่ายการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น มีนวัตกรรมและการบริการ

ในเวลาเดียวกัน จีนพึ่งพาเส้นทางเดินเรืออินโด-แปซิฟิกเพื่อนำเข้าพลังงาน3 เกือบ 80% ของการนำเข้าน้ำมัน ผ่านมหาสมุทรอินเดียและช่องแคบมะละกาเข้าสู่ทะเลจีนใต้ในปี 2016 จีนยังนำเข้าสุทธิถ่านหิน แม้มีแหล่งถ่านหินภายในประเทศมากอยู่แล้ว

ดังนั้น จีนเชื่อว่าตัวเองเปราะบางจากคำสั่งห้ามของต่างชาติต่อเส้นทางจัดหาพลังงานที่มีความสำคัญยิ่งยวด

มีหนังสือของกระทรวงสำคัญด้านการวางแผนของจีนในปี 2013 ถึงกับบอกเกี่ยวกับเส้นทางจัดหาพลังงานของจีนว่าไม่มั่นคง

น่าสนใจ พอจะเข้าใจแล้วว่า บีอาร์ไอเกี่ยวเนื่องโดยตรงและแยกออกไปไม่ได้กับความมั่นคงแห่งชาติจีน บีอาร์ไอเชื่อมโยงกับความเปราะบางของเส้นทางลำเลียงพลังงานผ่านมหาสมุทร ดังนั้น บีอาร์ไอจึงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันเส้นทางผ่านมหาสมุทร อันเป็นหลักประกันความมั่นคงแห่งชาติจีนด้วย

เมื่อกวาดตามองเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับจีนตามวรรณกรรมภาษาต่างๆ เราจึงพบการคุกคามจากต่างประเทศในช่องแคบมะละกา เป็นสิ่งเด่นชัดโดยเฉพาะใน โวหารจีน

ขนาดว่า…ผู้ใหญ่สูงคนหนึ่งที่ปักกิ่งถึงกับกล่าวว่า Malacca Dilemma หรือสถานการณ์วิกฤตมะละกา เมื่อปี 2003…

 

พลังอำนาจมหาสมุทรเข้มแข็ง

ไม่ประหลาดใจที่มีประกาศเป้าหมายแห่งชาติ การกลายเป็นพลังอำนาจมหาสมุทรเข้มแข็ง อันหมายถึง รวมความแล้ว ป้องกันสิทธิและผลประโยชน์มหาสมุทรของจีน สองกระทบอย่างสำคัญในอินโด-แปซิฟิกเพื่อรักษาการเข้าถึงของจีนในเส้นทางเดินเรือสำคัญ รู้ด้วยว่าเป็นเส้นทางทะเลของการคมนาคม (sea lines of communication-SLOCs นี่เป็นคำสากลที่ใช้กันบ่อย) และการตีวงล้อมช่องแคบมะละกาไว้

แนวคิดของจีน พลังอำนาจมหาสมุทรเข้มแข็งมีเสาหลักคือ

1. สำรวจทรัพยากรทางทะเล (ปลาและพลังงาน)

2. พัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล (การเดินเรือและสร้างเรือ)

3. ปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเล

4. ป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน ด้วยเกี่ยวกับข้ออ้างด้านดินแดนและการเข้าถึงเส้นทางทะเลของการคมนาคมหลัก

น่าสนใจมาก ในปัจจุบันจีนได้ก้าวถึงเป้าหมายของตนแล้ว

จีนก้าวเข้าสู่พลังอำนาจมหาสมุทรเข้มแข็งแล้ว จีนมีความเด่นชัดจริงแล้วในการเดินเรือระดับโลก การบริหารจีดการท่าเรือและการสร้างเรือ ในปี 2015 บริษัทเรือของจีนดูแลเกือบๆ 1 ใน 5 ของการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด ซึ่งอยู่ในมือของ 20 บริษัทชั้นนำระดับโลก การลงทุนของจีนยังได้ปรากฏอยู่ใน 1 ใน 3 ของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ชั้นนำ 50 ท่าเรือ ณ ปี 2017 บริษัทต่อเรือจีนอยู่ตำแหน่งอันดับ 1 ของการต่อเรือเสร็จสมบูรณ์

ปี 2015 ภารกิจของกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชน (People ‘s Liberation Army Navy-PLAN) ของจีน ได้ขยายเพิ่มขึ้นจากการป้องกันน่านน้ำของตัวเอง ใกล้ทะเล (near sea) ไปเป็นปกป้องทะเลเปิด (open seas protection) ทั่วอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งเส้นทางเดินเรือของมหาสมุทรอินเดีย

ภารกิจนี้ได้แสดงตัวเองของกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนของจีนปรากฏออกมาในภูมิภาค ปี 2017… ดำเนินการซ้อมรบจริง ครั้งในมหาสมุทรอินเดีย

ต่อมา…จอดเรือโรงพยาบาลของตนที่ศรีลังกาเป็นครั้งแรก

ทิศทางใหม่นี้ เรือรบของ…ทำการยิงปืนระยะไกลในมหาสมุทรอินเดีย

พลังอำนาจทางทะเลจีนเป็นฉากหน้า บีอาร์ไออยู่ใต้ฉากหน้า ทั้งคู่ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติจีน

1Bran Lendon. “UK’s HMS Queen Elizabeth aircraft carrier pictured in South China Sea” CNN July 30, 2021.

2White Paper : China’s Peaceful Development, 2011, September 6. The State Council of the People’s Republic of China.

3How Much Trade Transits the South China Sea? (27 October 2017).China Power.