สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/ผลไม้เป็นยา (2)

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ผลไม้เป็นยา (2)

ทวนความสั้นๆ ในฉบับที่ผ่านมากล่าวถึงพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม 5 หน้า 47 ไว้ว่า

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการผลไม้ที่เป็นยา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็นภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ในบันทึกกล่าวชื่อผลไม้ยาไว้อย่างน้อย 7 ชนิด ที่ถือว่าเป็นยาสมุนไพรให้ภิกษุและภิกษุณีในสมัยพุทธกาลเก็บไว้ใช้ ไม่น่าเชื่อว่าตัวยาเหล่านี้มีการใช้สืบต่อมาถึงยุคปัจจุบัน และยอมรับกว้างขวางทั่วโลก

ในการเขียนครั้งที่แล้วได้กล่าวถึง 4 ชนิด จึงเหลือ สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ มาเล่าสู่กันฟังวันนี้

สมอพิเภก มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Beleric Myrobalan, Ink Not, Bahera, Beleric มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

ต้นสมอพิเภกนี้มักใช้ส่วนของผลมาทำยาหรือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สรรพคุณกล่าวว่า ผลแก่ (ทั้งสดและแห้ง) มีรสฝาด สรรพคุณที่ได้รับการยอมรับอย่างมากคือ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ธาตุกำเริบ ผลแห้งก็ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายได้ และช่วยรักษาอาการไอ ช่วยแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง และถ้าใช้ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวใช้แก้ไข้ได้ด้วย

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษและอาจเป็นสรรพคุณที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเล็งเห็น เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายไม่สบายบ่อยๆ ก็คือ ถ้าใช้ผลอ่อนเป็นยาระบายช่วยขับถ่าย ให้นำมา 1-2 ลูก ต้มกับน้ำ 1-2 ถ้วย แต่งเกลือเล็กน้อย กินช่วยขับถ่าย แต่พอมาใช้ผลแก่ กลับเป็นยาช่วยแก้ท้องร่วง ท้องเดิน วิธีเหมือนกันใช้ผลแก่ 1-3 ลูก ต้มกับน้ำ 1-2 ถ้วย ใส่เกลือเล็กน้อย กินแก้ท้องเสียได้

เพื่อนบ้านในเอเชียก็ใช้สมอพิเภกคล้ายๆ กัน เช่น ประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมานแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง ผลสุกช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น

มะขามป้อม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Indian gooseberry มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica L.

มะขามป้อมเป็นสมุนไพรยอดนิยมและยอมรับในสรรพคุณทางอาหารและยาไปทั่วโลกอีกเช่นกัน ในประเทศอินเดียนั้นชาวอินเดียเรียกสมุนไพรหรือผลไม้ชนิดนี้ว่า Amalaka แปลได้ว่า “พยาบาล” ย่อมแสดงให้เห็นว่าผลไม้นี้มีประโยชน์ทางยานานัปการ คล้ายกับพยาบาลให้กับมนุษย์ทุกคน

หากใครได้กินผลมะขามป้อมจะพบว่ามีด้วยกันหลายรสคือ รสเปรี้ยว ฝาด ขม (แบบชุ่มๆ) และมีความมันด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลไม้ยาที่ให้ “รสยา”ในการออกฤทธิ์ได้ครบเครื่อง

สรรพคุณที่มักกล่าวถึงคือ บำรุงร่างกาย บำรุงปอด บำรุงเนื้อหนัง บำรุงหัวใจ แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้พิษ แก้หวัดเป็นไข้ตัวร้อน แก้เลือดออกตามไรฟัน กัดเสมหะ บำรุงเสียง แก้ท้องผูก

และในการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ก็พบว่า มะขามป้อมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก และพบว่ามะขามป้อมลูกเล็กๆ มีวิตามินซีสูงกว่าส้ม 1-2 ลูกเลย และยังมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้มะขามป้อมมาเป็นส่วนประกอบด้วย

ผลโกฐ คำนี้บางที่ก็เขียนว่า โกศ บางที่ก็เขียน โกฐ ถือว่าเป็นคำที่คุ้นเคยมากในหมู่หมอยาไทย เนื่องจากในตำรับยาต่างๆ ทั้งยาพื้นบ้านและในคัมภีร์ต่างๆ นั้น มักจะมีการนำโกฐ มาเป็นตัวยาในหลายตำรับ

อันที่จริงโกฐมีอยู่หลายชนิด และเป็นที่ถกเถียงกันว่าคำว่า ผลโกฐในที่นี้น่าจะหมายถึงผลของโกฐชนิดใด การอภิปรายผลนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ แต่เท่าที่ได้เคยสอบถามผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งเป็นหมอยาไทยแต่ได้ศึกษาลึกซึ้งในศาสตร์อายุรเวทของทางอินเดีย ได้อธิบายว่า โกศ น่าจะมาจากคำว่า “กุษฐะ” ในทางอายุรเวท เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurea lappa(Decne.) Sch.Bip. แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Saussurea costus (Falc.) Lipsch.

หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า “บัวหิมะ” ซึ่งพืชชนิดนี้มีการใช้ประโยชน์ทางยาจากส่วนของรากเท่านั้น

จากหนังสือลัทธินักพรตและการเยียวยาในอินเดียโบราณ : ระบบการแพทย์ในพุทธอาราม กล่าวถึง “โคฐผละ” ซึ่งกล่าวอ้างว่าใช้เยียวยา โรคซีด (ปาณฑุโรคะ) และเมื่อค้นจากหนังสือ Plants in Ayurveda (A Compendium of Botanical and Sanskrit Name)

พบพืชที่มีชื่อในสันสกฤตว่า Kosaphala, Kosathaphala ซึ่งเทียบเป็นภาษาไทยได้ว่า “โกษะผละ หรือ โกษฐผละ” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Luffa cylindrica (L.) M.Roem. มีชื่อในภาษาไทยว่า “บวบหอม” มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sponge gourd, Smooth loofah, Vegetable sponge, Gourd towel

บวบหอมมีฤทธิ์เย็น รสขม/หวาน สามารถระงับหรือทำให้ปิตตะสงบได้ จึงช่วยเยียวยาโรคซีดได้ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าผลมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็น ผลอ่อนเป็นยาลดไข้ แต่นี่อาจเป็นข้อมูลวิเคราะห์จากทางมูลนิธิสุขภาพไทยมุมหนึ่งเท่านั้น ยังต้องศึกษาแลกเปลี่ยนกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ทั้ง 7 ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้เป็นยาใช้ได้ตลอดชีพ เป็นผลไม้ที่หาได้ไม่ยาก ทุกบ้านควรมีไว้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้เลย และช่วยกันส่งเสริมการปลูกให้ทั่ว เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

และต่อยอดเป็นเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย