ย้อนตำนาน วัดมหาวันใจกลางเมืองเชียงใหม่ ถนนท่าแพ ที่หลายคนไม่ทราบมาก่อน

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดมหาวัน”

วัดมหาวันเป็นวัดสำคัญเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ มีศาสนสถานสวยงาม มีศิลปะผสมผสานกันทั้งล้านนา พม่า ไทใหญ่ อีกทั้งตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ที่ถนนท่าแพ

วัดมหาวันมีเนื้อที่ราว 2 ไร่ 3 งาน แต่ดั้งเดิมชาวบ้านละแวกวัดมหาวันเรียกว่า ชุมชนบ้านฮ่อม ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองที่มีประวัติว่าอพยพมาจากเมืองเชียงแสน

วัดนี้มีตำนานเล่าว่า เป็นวัดที่สร้างในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เมื่อครั้งที่ทรงกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า หลังจากเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึง 200 ปี จึงได้ทรงปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปพร้อมกัน

วัดมหาวันมีกำแพงล้อมทั้งสี่ด้าน แนวกำแพงทางด้านหน้าของวัดจะมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพม่าอยู่ 4 ซุ้ม มีสิงห์คู่อยู่ด้านหน้าประจำแต่ละซุ้ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ มีพระอุโบสถเก่าแก่ ด้านหน้ามีลวดลายปูนปั้นฝีมือของช่างชาวล้านนาที่ประดิษฐ์ลวดลายไว้อย่างวิจิตรบรรจง ประตูไม้ด้านหน้าของพระอุโบสถแกะสลักเป็นลวดลายพุทธประวัติ

ในวิหารหลวง ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าโต” สร้างด้วยศิลปกรรมแบบไทใหญ่

ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของคหบดีชาวไทใหญ่ในชุมชนที่ชื่อ พ่อเลี้ยงหม่องปึ๊ด ซึ่งเข้ามาทำสัมปทานไม้สักในภาคเหนือกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มา จนเมื่อกิจการการทำไม้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ท่านจึงได้สร้างวิหารหลวงและพระเจ้าโต ตลอดจนได้ทำการบูรณะซ่อมแซมกำแพงซุ้มประดับรวมถึงรูปปั้นต่างๆ ในศิลปะแบบไทใหญ่

สำหรับหอไตรสร้างใน พ.ศ.2386 มีลักษณะสองชั้นเครื่องบนไม้มีหลังคาซ้อนชั้น แกะสลักและลวดลายฉลุอย่างสวยงาม

บริเวณกลางวัด มีเจดีย์สีขาวฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนกันสามชั้น มีซุ้มประจำทิศ ทั้ง 4 ทิศ เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยล้านนา ต่อมาเมื่อศิลปะแบบพม่าเข้ามามีอิทธิพลในเชียงใหม่ ทางการจึงได้สร้างเจดีย์แบบพม่าขึ้น เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมครอบเจดีย์องค์เดิมไว้

 

สําหรับพระอริยสงฆ์รูปสำคัญของวัดมหาวัน ที่ได้รับการเคารพนับถือยกย่องให้เป็น “ครูบา” นั่นคือ ครูบาอิ่นคำ หรือพระครูมนูญธรรมาภรณ์ ด้วยท่านมีศีลาจารวัตรงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นที่ยอมรับทั้งด้านคณะสงฆ์และสาธุชนทั่วไป

ครูบาอิ่นคำ เดิมท่านใช้นามสกุล สุวรรณมาลี เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านทำหน้าที่เป็นขะโยม หรือเด็กวัดอยู่ที่วัดมหาวัน และได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาวันเมื่ออายุ 15 ปี

และเมื่ออายุครบ 22 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ท่านหมั่นเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก

ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาวัน เมื่อปี พ.ศ.2489 และทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตสาย 4 ออกทำงานร่วมกับคณะธรรมทูต อบรมศีลธรรมแก่ชาวบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 เป็นต้นมา

ครูบาอิ่นคำ ฐานังกโร ได้ละสังขารเมื่อปลายปี พ.ศ.2556 สิริอายุได้ 96 ปี โดยคณะศิษย์วัดมหาวันได้จัดสร้างปราสาทนกหัสดีลิงค์ ตามแบบประเพณีโบราณล้านนาและประชุมเพลิง หลังจากท่านมรณภาพล่วงไปแล้วสองปี

จึงนับได้ว่า วัดมหาวัน นอกจากจะเป็นปูชนียสถาน ที่มีศิลปะงดงามแล้ว ยังได้สร้างปูชนียบุคคล อันทรงคุณค่าไว้ให้แก่ศาสนาพุทธอีกด้วย

วัดมหาวันตี้ต้าแป

แปลว่า วัดมหาวันที่ถนนท่าแพ