มองรัฐบาล-อ่านท่าทีตำรวจ กับ อดีต กสม. อังคณา นีละไพจิตร สลายการชุมนุมไม่ใช่หลักสากล

“วันนี้ประชาชนทำอะไรได้บ้าง ระบบรัฐสภาก็ล้มเหลว กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อก็ถูกตีตก มันมีทางออกที่ไหน? การชุมนุมจึงกลายเป็นการใช้อำนาจของคนที่ถูกทำให้ไร้อำนาจ กลับไม่รับฟังเขาอีก แถมยังมีการปฏิบัติที่แข็งกร้าวและมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรง ที่สะท้อนให้เห็นว่าการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่”

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองภาพรวมการเรียกร้องชุมนุมในประเทศ ณ สภาวะปัจจุบัน

อังคณาระบุว่า จากที่สังเกตการณ์ชุมนุมมาร่วมปี พบว่าทางผู้ชุมนุมมีข้อเสนอที่ชัดเจน ซึ่งทุกการชุมนุมทั่วโลก จะต้องมีข้อเรียกร้อง-ข้อเสนอ แล้วจะต้องมีการต่อรอง มีการเจรจา

แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลนี้มีปฏิกิริยาที่จะตอบรับหรือไม่ตอบรับเลย

ประเด็นต่อมาทุกการชุมนุม ในอดีตจะมีการเจรจาต่อรอง ระหว่างแกนนำกับเจ้าหน้าที่ จะมีภาพบรรยากาศแบบนี้มาตลอดทุกครั้ง เช่น ว่าขบวนจะไปที่ไหน จะไปทำอะไร เจ้าหน้าที่ก็จะขอร้องว่าอย่าไปทำกิจกรรมตรงนั้นตรงนี้ มันจะมีบรรยากาศของการเจรจาอยู่ตลอด

แต่ว่าในช่วงระยะหลังเรากลับไม่พบว่าเจ้าหน้าที่จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจา และส่วนตัวก็เคยโดนแก๊สน้ำตาในการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ปีก่อน

เราก็เห็นเลยว่าบทบาทของเจ้าหน้าที่ คือการพยายามที่จะปิดกั้น ไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น

ตรงนี้มองว่ามันเป็นความแข็งกร้าวของรัฐอย่างมาก โดยที่ไม่ไม่ผ่อนปรนตามหลักสากล

รัฐเองพึงมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ การอำนวยความสะดวกในที่นี้ เช่น ต้องเปิดโอกาสให้ใช้เครื่องขยายเสียง เพียงแต่ว่าอาจจะกำชับในบางสถานที่ เช่น ใกล้กับโรงพยาบาล อาจจะต้องลดระดับความดังลง เพราะอาจจะรบกวนผู้ป่วย หรือจะต้องเจรจาว่าให้ขยับไปที่จุดอื่นได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

เรารู้สึกว่ารัฐไม่ได้อำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ หรือรถสุขาเคลื่อนที่ก็ไม่ได้จัดให้ ผู้ชุมนุมต้องจัดการ ต้องหาจ้างเอกชนมาบริการกันเอง ก็เลยเป็นเรื่องที่กระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด

เช่น การที่ผู้ชุมนุมต้องการไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปแสดงสัญลักษณ์ ไปทำกิจกรรมของเขา คือแค่การไปทำกิจกรรม เราก็ถือว่ารัฐสภา-ทำเนียบรัฐบาล เป็นเหมือนสถานที่สาธารณะที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้

ส่วนตัวก็เลยมองว่า บรรยากาศโดยรวมช่วงนี้ เหมือนรัฐบาลมีนโยบายไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกอย่างสันติเลย คือปิดโอกาสทั้งหมด บอกอย่างเดียวว่าห้ามชุมนุม

อังคณาบอกอีกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการชุมนุม รัฐจะเตรียมกำลังพล เจ้าหน้าที่อุปกรณ์ครบ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นเลยว่า มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยางอย่างพร่ำเพรื่อ มีการขึ้นไปบนทางยกระดับทางด่วนแล้วก็เล็งยิงลงมาเลย ซึ่งตามหลักการยิงกระสุนยางจะต้องใช้ในกรณีที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำการให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ สิ่งเหล่านั้นทำได้ แต่มีข้อจำกัดของสหประชาชาติบัญญัติไว้ชัดเจนว่า การเล็งยิง จะต้องยิงอวัยวะที่ต่ำกว่าเอวลงมา นั่นคือการยิงไปลงขา ไม่ให้ยิงระดับบนเพราะว่าจะไปกระทบกับอวัยวะสำคัญ

ส่วนตัวมองว่าตำรวจรับนโยบายมา และเป็นการใช้นโยบายที่แข็งกร้าวไม่ยืดหยุ่น ปราศจากการประนีประนอม ไม่มีการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับว่า ถ้าเข้ามาเมื่อไหร่ก็ยิงทันที ใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ใช้การฉีดน้ำที่มีแรงดันสูง ซึ่งคนที่เคยถูกแก๊สน้ำตา เช่นเราเองก็รู้เลยว่าผลกระทบของมันจะอยู่นาน ยิ่งคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งหลาย และคนที่มีปัญหาทางเดินหายใจ มันจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

จึงมีคำถามว่าจำเป็นต้องทำถึงขั้นนี้เลยหรือ?

อดีต กสม.ระบุด้วยว่า ทุกครั้งที่โฆษกทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ตำรวจนครบาล ออกมาแถลงหลังการสลายการชุมนุม ก็จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวทันทีเลยว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักสากล

พวกคุณพูดกันแบบเป็นนกแก้วนกขุนทองเลย

เราก็ต้องถามว่าอะไรคือหลักสากล?

มันเป็นหลักสากลอันเดียวกับที่พวกเรายึดถือหรือไม่ หรือเป็นหลักสากลแบบเฉพาะของคุณ

แล้วไม่รู้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ในแต่ละครั้งใช้กำลังพลเต็มอัตรา ใช้อาวุธสารพัด

สำหรับกรณีที่มีผู้ชุมนุมคนใดคนหนึ่งใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายจับกุมควบคุมตัว สามารถยุติการกระทำที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะได้

แต่ไม่ใช่ว่า ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีอคติ หรือมีทัศนคติเหมารวม ว่าคือคนที่มาชุมนุมเป็นคนไม่ดี

ยกตัวอย่างง่ายสุด ที่มีการแปะป้ายไวนิลของตำรวจในการชุมนุมครั้งหนึ่งว่าจะปกป้องประชาชน (คนดี) ทันทีที่เห็นก็เกิดคำถามขึ้นว่า ใครคือคนดี? ในสายตารัฐบาล? ผู้ชุมนุมที่เขามากันก็เพราะว่าเขามีความเดือดร้อน เพราะว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ และไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ มันแปลว่าเขาต้องกลายเป็นคนไม่ดีหรือ?

การกระทำแบบนี้ การขึ้นป้ายเช่นนี้ เป็นการผลักคนที่เห็นต่าง หรือคนที่ต่อต้านรัฐออกไป มันคือการเลือกปฏิบัติ และการเลือกปฏิบัติก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ อนุสัญญาระหว่างประเทศก็ระบุไว้ชัดเจนว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งชาติ ศาสนา รวมถึงความคิดเห็นทางการเมือง และความคิดเห็นอื่นๆ

ดังนั้น จะมีประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐมันไม่ใช่สาเหตุที่เขาจะต้องถูกเลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้มันเริ่มมาจากทัศนคติที่แสดงออกมา ในแผ่นป้ายไวนิลที่แปะอยู่ที่ตู้คอนเทนเนอร์นั้น แล้วก็ตามมาด้วยการกระทำ

หากคุณเข้ามาตรงจุดนี้ จะต้องถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยางทันที

 

อังคณากล่าวว่า อีกประเด็นคืออยากถามว่า การที่ผู้ชุมนุมจะไปบ้านนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นจะแปลกเลย

ทำไมก่อนนี้มีคนไปที่บ้านคุณทักษิณ ชินวัตร บ้านคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราก็เคยเห็นภาพบรรยากาศแบบนี้มาหมดแล้ว

ต้องตั้งคำถามว่า ความประหลาดก็คือนายกรัฐมนตรีประยุทธ์มีบ้านอยู่ในค่ายทหาร ในเมื่อบอกว่าตัวเองเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจะไปยังไปอยู่ในค่ายทหารทำไม ประชาชนเขาคลางแคลงใจว่าเรายังเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ประชาชนอาจจะแค่ไปแสดงสัญลักษณ์บางอย่างให้นายกฯ ได้ยิน เพราะทุกคนมีข้อเสนอ ข้อเรียกร้องมากมาย แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับเงียบ หายไปไหนไม่รู้ บอกว่า work from home กลายเป็นว่าประชาชนเข้าถึงได้ยาก พูดอะไรไปก็ไม่ได้ยิน ปิดกั้นไปกันหมด

อดีต กสม.ประเมินด้วยว่า ต่อไปการชุมนุมอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นอีก เพราะเจ้าหน้าที่ก็แข็งกร้าว ใช้วิธีปฏิบัติการด้วยกำลังที่ไม่มีความยืดหยุ่น ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็มีความโกรธแค้นที่มากขึ้น จะทำให้เกิดการปะทะกันเพิ่มขึ้นอีก แล้วถ้าเราเทียบเคียงอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ มันเทียบกันไม่ได้กับผู้ชุมนุม

ถามว่าสิ่งที่เขาเรียกร้อง เช่น โควิด ที่ป่วยไม่มีเตียง และมีคนตายคาบ้าน นี่คือทุกข์ของประชาชน พวกเขาไม่มีสิทธิถามนายกฯ หรือ แค่สิทธิในการจะตรวจก็ยังยาก ซื้อชุดตรวจเองก็แพง ทุกอย่างเป็นภาระของประชาชน แล้วอาสาสมัครทั้งหลายในวันนี้ทำหน้าที่แทนรัฐบาลด้วยซ้ำ

ประชาชนก็ตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะมีหลักประกันอะไรว่าทุกคนจะเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แล้วคนที่มาชุมนุมก็มีความหลากหลาย มีทั้งคนที่มีความคับข้องใจ คนที่มีความเปราะบาง คนที่มีความยากจน คนที่อดทนกับการตกงานการขาดรายได้ คนเหล่านี้เขาทุกข์ร้อนทั้งนั้น รัฐบาลเคยเหลียวแลหรือไม่ ยังไม่นับแรงงานนอกระบบที่มีมากมาย

แถมนักข่าวเองก็โดนเจ้าหน้าที่ไล่ล่า

 

ส่วนบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญนั้น อังคณากล่าวว่า วันนี้ กสม.ของไทยถูกลดสถานะเป็นระดับ B เพราะรายงานการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนสมัยปี 2553 ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากหลักสากลเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางหน่วยงานจะต้องรีบเร่งที่จะออกมาให้ข้อเสนอ เพื่อไม่ให้ความรุนแรงให้ขยายออกไป

วันนี้ทางรัฐบาลเองก็พยายามที่จะทำให้สถานะยกระดับขึ้นเป็น A แต่ถ้าหากรัฐบาลเองยังไม่ฟัง กสม. หรือกรรมการสิทธิยังเกรงอกเกรงใจรัฐบาล ก็จะไม่สามารถมีบทบาทที่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชนได้

ช่วงที่ตัวดิฉันเองทำหน้าที่ ก็โดนผู้บริหารระดับสูงตำหนิเวลาเราออกมาให้ความเห็น ก็ในเมื่อเราเป็นกรรมการสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ เราต้องทำหน้าที่ของเรา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล หากดำรงตำแหน่ง ก็ต้องทำหน้าที่เต็มที่ ทันต่อสถานการณ์ สามารถออกแถลงด่วนได้ หรือกรรมการสิทธิที่ไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุม เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงเกินสมควร ไม่ได้สัดส่วน สามารถที่จะยกหูหาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ทันที

เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานด้านสิทธิที่เกิดขึ้น หากเราได้ทำหน้าที่ของตัวเองที่มีอยู่ในกฎหมายและหลักการปารีส ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปกลัวอะไร

เพราะว่าเราทำงานอยู่บนหลักการ เหตุผล ไม่ได้ทำงานตามความพึงพอใจของใคร

ชมคลิป