ฉัตรสุมาลย์ : เบื้องหลัง การอบรมภิกษุณีสงฆ์นานาชาติ

เฮอๆ เหนื่อยทั้งเดือนเลยค่ะ ห้ามบ่น ได้บุญเยอะ

เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ท่านธัมมนันทา ท่านจัดการอบรมภิกษุณีสงฆ์นานาชาติ ปีแรก คือปี 2558 นั้น ท่านจัดทั้งพรรษา มีภิกษุณีสองชาติที่มาร่วมคือ อินเดีย 5 รูป และเวียดนาม 5 รูป ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องวีซ่า ต่อไม่ได้ ต้องส่งกลับ

ให้ท่านลาสัตตาหะ ไปแล้วกลับมาใหม่เพราะอยู่ในพรรษา เลยกลายเป็นซื้อตั๋วสองเที่ยว ด้วยความเคารพในพระวินัยก็ต้องยอม

ปีถัดมาก็เลยหลีกเลี่ยงช่วงพรรษามาจัดเอา 1 เดือนก่อนพรรษา จึงมาลงตัวที่เดือนมิถุนายน เป็นการอบรมทั้งเดือน แล้วให้ท่านมีเวลาเดินทางกลับไปทันเข้าพรรษาที่ประเทศของท่าน

พ.ศ.2559 เรามีภิกษุณีจากเวียดนามมาร่วม 11 รูปค่ะ ตั้งใจดีทุกรูป อาจารย์ของท่านคือ ภิกษุณี ดร.หลิวฟับ ก็ดีใจที่เห็นการพัฒนาในสังฆะของท่าน ทุกครั้งจะมีอุบาสิกาที่สนใจเข้าร่วมด้วย ครั้งนี้มีอุบาสิกาจากเกาหลี อิตาลี และเยอรมนี

ตามอ่านข้อเขียนของท่านเหล่านี้ได้ในหน้าเว็บ www.thaibhikkhunis.org

 

ปีนี้ 2560 โครงการอบรมภิกษุณีสงฆ์นานาชาติที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีการแนะนำกันบอกต่อ ก็เลยเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 11 ประเทศ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย พม่า ไทย รัสเซีย อเมริกา และเวียดนาม เป็นการอบรมนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ

ท่านธัมมนันทาก็ทำงานล่วงหน้า โดยเขียนสรุปหัวข้อที่ตั้งใจสอนออกมาเป็นเล่ม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมตามทันว่า สอนอะไร ไปถึงไหน

เช่นเคย การอบรมนานาชาติเราจะมีอุปสรรคที่ภาษา ต้องมีคนช่วยแปลอังกฤษเป็นไทย ดร.กาญจนา ทำหน้าที่ประจำคอยแปลที่ท่านธัมมนันทาสอนเป็นไทยให้หลวงพี่ที่ฟังภาษาไทย ในช่วงที่มีท่านอื่นมาสอน

ท่านธัมมนันทาจึงโอนความรับผิดชอบด้านการแปลให้ท่านปุณณา สามเณรีบวชใหม่ล่าสุด (เดิมท่านคือ ดร.สุรีรัตน์ เชษฐสุมน) เข้ามาเป็นสมาชิกสังฆะได้เวลาให้ท่านธัมมนันทาใช้งานพอดี ธรรมะจัดสรรจริงๆ

เลยโอนการดูแลโครงการอบรมภิกษุณีสงฆ์นานาชาติให้ท่านช่วยดู ตั้งแต่รับคนเข้าออก ประสานงานเรื่องรถที่จะต้องรับส่งสนามบิน รวมทั้งสรุปค่าใช้จ่ายของโครงการทั้งหมดด้วย

เฮอ เสียงถอนหายใจด้วยความโล่งอกของท่านธัมมนันทาค่ะ

 

ท่านธัมมนันทาเห็นปัญหาอุปสรรคการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ ทุกคนแสวงหาการบวช แต่ไม่มีการฝึกอบรม ปัญหาหลักของชาวไทยคือไม่ได้ภาษา อีกทั้งทางศรีลังกาเองก็ไม่มีอาจารย์ที่จะสอนเป็นภาษาอังกฤษได้

ภิกษุณีผู้ใหญ่ที่เป็นอาจารย์และสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ท่านก็อยู่เมืองเอเหลิยาโกทะ จากโคลอมโบ ต้องนั่งรถไปอีก 5 ชั่วโมง

แหล่งที่ไปบวชกันมากคือที่ศรีลังกา ปัญหาของศรีลังกาที่มีการจัดการอุปสมบทให้ 3 จุดหลัก คือที่ศูนย์ศากยะธิดา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ หรือภิกษุณีอาวุโสจากประเทศไทยจะเป็นหลักในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ขอบวช ศากยะธิดาเองเพียงเตรียมสถานที่และนิมนต์ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ให้

ส่วนที่ดัมบุลล่า ซึ่งท่านธัมมนันทาไปบวชที่นั่น และมีท่านพูนศิริวรา และท่านธัมมธีรา ไปบวชตาม ทั้งสองท่านสอบได้ทั้งคู่

แต่สมัยหลังชาวไทยไม่นิยมไป เพราะต้องผ่านการสอบข้อเขียนที่เป็นอัตนัย 5 ข้อ ถ้าไม่แข็งในภาษาอังกฤษก็จะไม่ผ่าน และถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่ได้บวช ทั้งมีกรณีเกิดขึ้นแล้ว

ที่นี่มีการอบรมก่อนบวชแต่สำหรับเฉพาะชาวสิงหล ไม่มีการอบรมให้กับต่างชาติ ที่นี่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะเป็นการอุปสมบทประจำปีของทางวัดดัมบุลล่าอยู่แล้ว

อีกจุดหนึ่งที่ชาวไทยไปบวชกันมาก เพราะบวชง่ายคือ ที่ท่านวิมลโชติ จัดการบวชที่หอระนะ ภิกษุณีที่เป็นผู้ดูแล เป็นภิกษุณีที่ขาดประสบการณ์และไม่มีองค์ความรู้ที่จะฝึกหัดภิกษุณีใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น ทางฝั่งไทยเองก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นการบวชตามกันไปโดยขาดองค์ความรู้ความเข้าใจในวัตรปฏิบัติ บางท่านเป็นแม่ชีมา แม้อุปสมบทแล้ว ก็ไม่มีการปรับโหมดความคิดความเข้าใจในการเป็นพระภิกษุณีสงฆ์

ท่านธัมมนันทาจึงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับพระภิกษุณีที่สนใจจะศึกษาปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย เพื่อเป็นการรักษาอายุพระศาสนาให้ยั่งยืน

 

ในช่วงที่อบรมนี้ ก็มีเหตุการณ์ที่น่าเสียใจ คือท่านศานตนันทา ผู้ช่วยที่ศากยะธิดา ศรีลังกา มรณภาพลงด้วยโรคไข้เลือดออกที่ระบาดหนักในศรีลังกา ภิกษุณีจากศรีลังกาที่มาร่วมในโครงการเพิ่งมาถึงได้เพียง 1 วัน จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับเพื่อไปร่วมงานศพ แต่ก็ได้ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส ทางวัตรจัดสวดอภิธรรมถวายท่าน 7 วัน ในโอกาสนี้ ภิกษุณีที่มาร่วมในโครงการจึงมีโอกาสได้ฝึกสวดอภิธรรมด้วยตลอด 7 คืน ตลอดทั้งได้ศึกษาประเพณีการสวดหน้าศพด้วย

ในวันที่ 9 มิถุนายน ทางการประกาศขอความร่วมมือให้ทุกวัดจัดพิธีสวดถวายในหลวง ร.8, ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน ร.9 ทางวัตรทรงธรรมกัลยาณีจึงเลือกสวดมหาสันติงหลวง และให้ภิกษุณีนานาชาติได้มีส่วนร่วมฝึกสวดด้วย

ท่านธัมมนันทาเน้นสอนพระวินัย การทำความเข้าใจในพระวินัยโดยละเอียด

และแม้สิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องพื้นๆ เช่น การกรวดน้ำ มีความหมายอย่างไร เป็นการจำลองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างไร ผู้เข้าอบรมได้ศึกษาในรายละเอียด

ภิกษุณีธัมมวิชชานี จากบ้านไร่ กรุณามาช่วยสอนสองวัน โดยเน้นพระวินัยโดยละเอียดและได้อธิบายญาณ 16 ด้วย

หลวงพ่อมาให้โอวาทก่อนที่ภิกษุณีจะลงปาฏิโมกข์ ท่านก็ได้สอนวิธีนับวันอุโบสถโดยละเอียด หลวงแม่ท่านได้เคยเขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์ที่พวกเราจะหาอ่านได้อยู่ เรื่องการนับวันอุโบสถนี้ สำคัญสำหรับพระ เพราะเวลาที่ท่านสวดปาฏิโมกข์ในตอนเริ่มต้นต้องบอกได้ว่า วันนี้เป็นอุโบสถที่เท่าไร ผ่านมาแล้วกี่ครั้ง ยังเหลืออีกกี่ครั้งในฤดูนี้ หลวงพ่อท่านสอนไปจนถึงว่าทำไมจึงมีเดือน 8 สองหน และเดือนไหนที่จะมีแรม 14 ค่ำ

เป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจน กราบขอบพระคุณแทนภิกษุณีสงฆ์ด้วย

 

ทีมงานจากมาเลเซียเข้ามาสองท่าน คือ คุณโลเมียน และคุณบาร์บาร่า เย็น ท่านมาช่วยสอนพื้นฐานของการให้คำปรึกษา เพราะทันทีที่บวช ภิกษุณีจะกลายเป็นผู้ให้คำปรึกษาไปโดยปริยาย คุณโลเมียนนั้น นอกจากจะจ่ายค่าเดินทางมาเองแล้ว ยังบอกบุญเพื่อมาสนับสนุนงานของโครงการอีกด้วย ขอโมทนาด้วยอย่างยิ่ง บรรดาพระภิกษุณีได้ประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงการอบรมของคุณโลเมียน หวังว่าในการอบรมครั้งต่อๆ ไปเราจะได้รับความเมตตาจากท่านอีก

ปัญหาที่พบเห็นเสมอๆ คือความไม่เข้าใจในพระวินัย แต่มีความตั้งใจดี พยายามถือเคร่งตามตัวหนังสือ จนกลายเป็นอุปสรรค และเป็นที่รังเกียจของคนที่ต้องดูแล เช่น ท่านพยายามถือเคร่งว่า ไม่รับอาหารก่อนฟ้าสว่าง จนสามารถมองเห็นลายมือ แต่ท่านต้องเดินทางไปสนามบินตอนตี 5 เราเตรียมอาหารให้ท่านพร้อม ปรากฏว่าท่านต้องการให้มีคนนั่งไปในแท็กซี่อีกคนหนึ่งเพื่อถวายอาหารกับท่านตอนฟ้าแจ้ง ค่าแท็กซี่ไปกลับ 2,000 บาท ท่านธัมมนันทาก็เลยสอนท่านว่า ท่านรอให้สว่างแล้วค่อยฉัน ไม่ต้องมีคนตามไปถวายหรอก

ภิกษุณีหลายรูปเป็นแบบนี้ เคร่งเว่อร์ และไม่ถูกกาลเทศะ สร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่ต้องดูแลท่าน ที่ต้องให้ประเคนนั้น ในความหมายเดิม คือให้แน่ใจว่าเขาถวาย ไม่ใช่ไปหยิบกินตามใจชอบ

การศึกษาพระวินัยจึงมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ปีหน้า ท่านธัมมนันทาก็ยังอยากจัดโครงการนี้อีก แต่เริ่มจะชัดเจนมากขึ้นว่าสำหรับผู้ที่สมัครเข้าโครงการขอให้อยู่จนจบ มิใช่ว่า อยากมาช่วงไหนก็มาตามใจชอบ เนื่องจากโครงการนี้ผู้สมัครไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย

แต่ขณะเดียวกัน ผู้เข้ารับการอบรมก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วยกันทั้งสองฝ่าย สำหรับผู้ที่ตั้งใจ ท่านก็ได้ประโยชน์เต็มที่

เล่าเรื่องที่เป็นกุศลให้ท่านผู้อ่านได้มีใจเบิกบานผ่องใสด้วยกัน