เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูบลย์ : ถูกต้อง-ชอบธรรม

ภาพยนตร์เรื่อง ราโชมอน Rashomon (1950 , Akira Kurosawa)

 

 

ถูกต้อง-ชอบธรรม

 

มีประโยคชวนคิดในหนังเรื่องหนึ่งว่า

“บางครั้งคนเราก็ทำผิดเพื่อเหตุผลที่ถูก”

ดูจะเป็นคำอธิบายได้ดีของผู้ที่คิดว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้องและเป็นธรรม

ประโยคเดียวนี้มีคำให้ขบคิด ทบทวนอยู่หลายคำหลายความ

เช่น อะไรผิดอะไรถูก

แม้คำว่า “ทำ” เอง ในกฎหมายก็มีนัยยะครอบคลุมถึงการ “ไม่ทำ” ด้วย ตัวอย่างเช่น เห็นคนตกน้ำแล้วไม่ช่วย ทั้งที่อยู่ในวิสัยจะช่วยได้ ถือเป็นการทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ทั้งที่ไม่ได้ทำคือไม่ช่วย แม้ช่วยได้แล้วปล่อยให้เขาต้องจมน้ำตายนั่นเอง

เจตนาในกรณีนี้ถือเป็น “เจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล” ซึ่งเจตนาในกฎหมายมีสองลักษณะคือ “เจตนาโดยประสงค์ต่อผล” กับ “เจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล”

เห็นไหม แค่คำว่า “ทำ” คำเดียวก็ตีความคลุมถึงการ “ไม่ทำ” ได้ด้วย

หากพูดเป็นโวหารก็อาจว่า

“การกระทำที่ถึงแม้จะไม่ได้กระทำ แต่ก็ถือเป็นการกระทำคือการกระทำการเว้นการกระทำ”

 

อีกสองคำจากประโยคข้างต้นคือคำว่า “ผิด” กับ “ถูก”

หนังญี่ปุ่นเรื่องราโชมอน ดูจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีหากดูแบบใคร่ครวญขบคิด ด้วยแต่ละคำให้การของทุกตัวละครล้วนตั้งโจทก์และตอบโจทย์เองด้วยกันทั้งสิ้น

คำ “โจทก์-โจทย์” เองในภาษาไทยเราก็ต้องเข้าใจความด้วยนะว่า “โจทก์” หมายถึง “โจทก์-จำเลย” ส่วน “โจทย์” หมายถึงคำถาม

“ผิด-ถูก” ในเรื่องราโชมอนก็เป็นทั้งโจทก์และ “โจทย์”

คือ บางเรื่องไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม

หนังราโชมอนมีสองนัยยะนี้ควบคู่ชวนคิดได้ตลอดทั้งเรื่อง คือมีทั้งศีลธรรม จริยธรรม สัจธรรม ยุติธรรม ความเป็นธรรม และสุดท้ายคือมนุษยธรรม ที่หมายถึงมโนธรรมสำนึกที่บุคคลพึงมีด้วย

ดังนั้น คำว่า “ผิด-ถูก” จึงต้องพิจารณาถึงบริบทคือองค์ประกอบอีกหลากหลายนัก เพราะแม้ความยุติธรรมนั้นเองก็อาจไม่ชอบธรรมได้ ถ้าหากความยุติธรรมนั้นปราศจากมนุษยธรรม

ประโยคข้างต้นคือ “บางครั้งคนเราก็ทำผิดเพื่อเหตุผลที่ถูก” จึงมีความหมายกำกวม คือเป็นได้ทั้งชอบธรรมและไม่ชอบธรรม

 

ชอบธรรมนี้คำพระใช้ว่า “สัมมา”

ไม่ชอบธรรม คำพระว่า “มิจฉา”

ดังมรรคมีองค์แปดจะขึ้นต้นว่า สัมมาทุกองค์มีสัมมาทิฏฐิ สัมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

มีข้อสังเกตคือ ในที่ทั่วไปท่านมักลำดับการปฏิบัติธรรมเป็นศีล สมาธิ ปัญญา คือรักษาศีลแล้วบำเพ็ญสมาธิไปสู่ปัญญา

แต่ในขั้นตอนปฏิบัติจริงตามมรรคมีองค์แปด จะลำดับเป็นปัญญา ศีล สมาธิ

คือ สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะนั้นเป็นปัญญา ส่วนวาจากัมมันตะ อาชีวะวายามะเป็นศีล และสติกับสมาธินั้นคือลำดับแห่งสมาธิ

ยกเอาปัญญาไว้ต้นเป็นปัญญา ศีล สมาธิ

ทั้งนี้ ด้วยมรรคมีองค์แปดเป็นตัวปฏิบัติจริง จึงต้องตั้งต้นด้วยสัมมาทิฏฐิคือ “เห็นชอบ” แล้วจึง “สัมมาสังกัปปะ” คือดำริชอบเสียก่อน เพราะถ้าตั้งต้นโดย “ไม่ชอบ” คือ “มิจฉา” เสียแล้ว กระบวนการโดยลำดับก็จะกลายเป็นไม่ชอบไปทั้งกระบวน คือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปจนถึงมิจฉาสมาธิเป็นที่สุด

ดังกระบวนการปฏิบัติธรรมที่มักอวดอิทธิปาฏิหาริย์ ไปจนถึงหวังผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ดังนิยมแสดงกันอยู่ในสื่อสมัยใหม่ยุคนี้

ล้วนเริ่มจากมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น

กลายเป็นค่านิยมอันตรายคือ “เห็นผิดเป็นชอบ”

คือเห็น “มิจฉา” เป็น “สัมมา”

ดังนั้น คำว่า “ผิด-ถูก” จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะมันขึ้นกับคำว่า “ชอบธรรม” ด้วยหรือไม่นั่นเอง

 

วิกฤตโควิดวันนี้กลายเป็นวิกฤตการเมืองไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งท้าทายภูมิปัญญาให้ได้ขบคิดถึงความผิดถูก และความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมไปพร้อมกัน

มีอีกภาษิตที่พึงคำนึงและตระหนักคือ

วินาศะกาโล วิปริตพุทเธ แปลว่า เมื่อถึงกาลจะวินาศ ปัญญาความรู้ก็แปรปรวน

สะท้อนถึงพลังแห่งสติปัญญาอันมิอาจต้านพลังแห่งวิบัติภัยเฉพาะหน้าได้เลย

ต่อผ่านพ้นไปช่วงกาละหนึ่งได้นั่นแหละ พลังภูมิปัญญาจึงเริ่มแกร่งกล้าไม่แปรปรวนได้

ก็ต่อเมื่อมีสติตั้งมั่นประจญประจันเผชิญหน้าฝ่าฟันดังผู้ทรงปัญญาใช้วิทยาศาสตร์หาวิธีต่อสู้กับเจ้าวายร้ายไวรัสวันนี้

กระทั่งอาวุธก้นตู้คู่ครัวไทยเราคือ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย หอม กระเทียม ที่เรากำลังขุดคุ้ยขึ้นมาสู้ภัยโควิดวันนี้ด้วย

นี้คือความเป็นธรรมในสงครามที่ชอบธรรม

ผิดจากนี้แม้ด้วยเหตุผลที่ถูกก็อาจกลายเป็น

ไม่ชอบธรรมได้

 

ล้นโลก

โควิดมันขวิดหนัก

ท่วมทะลักโรงพยาบาล

ติดโรคก็ล้นบ้าน

ทั้งหมาแมวก็ล้นวัด

คนไข้ก็ล้นเตียง

ที่ติดเตียงก็อึดอัด

ล้นมือจะง้างงัด

ทั้งมือมดและมือหมอ

ศพคนจะล้นเมรุ

ทั้งพระเณรเข้าเวรรอ

ข่าวข้นก็ล้นจอ

กระอักเจ็บจนล้นใจ

ฝากฟ้าทะลายโจร

กระโจนขจัดวิบัติภัย

สมุนไพรแบบไทยไทย

ข่าตะไคร้กระชายขิง

เถอะโรค ถึงล้นโลก

เอาสากโขลก เอาครกกลิ้ง

จงใจจริงใจจริง

จะฝ่าภัยไปด้วยกัน!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์