ระงับยับยั้งสื่ออนาจารเด็ก ด้วยเทคโนโลยี/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Businesswoman networking using digital devices

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ระงับยับยั้งสื่ออนาจารเด็ก

ด้วยเทคโนโลยี

 

ทันทีที่ Apple ประกาศเตรียมพร้อมใช้สองฟีเจอร์ใหม่ด้านความปลอดภัยสำหรับโทรศัพท์ iPhone ซึ่งประกอบไปด้วยฟีเจอร์การสแกนเพื่อตรวจหาภาพล่วงละเมิดทางเพศเด็กหรือภาพโป๊เด็ก และฟีเจอร์การตรวจจับภาพอนาจารที่เยาวชนอาจได้รับหรือส่งหากันทางแอพพลิเคชั่นส่งข้อความภายในช่วงปลายปีนี้ โลกอินเตอร์เน็ตก็ร้อนระอุเป็นไฟ

ไม่ใช่เพราะคนบนอินเตอร์เน็ตไม่ได้มองว่าสื่ออนาจารที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่เลวร้าย

แต่มีรายละเอียดหลายอย่างที่ Apple ไม่ได้เคลียร์ให้กระจ่างจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า Apple จะทำตัวเป็นตำรวจที่เข้ามาสอดส่องหาภาพถ่ายที่ไม่เหมาะสมถึงในโทรศัพท์ของเรา

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่านับจากนี้ไป Apple จะคอยเข้ามาส่องหาภาพที่ไม่เหมาะสมในแกลเลอรี่ภาพถ่ายบนโทรศัพท์ของเราเพื่อมองหาว่ามีภาพที่น่าจะเป็นภาพโป๊เด็กหรือไม่ และหากมีก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นวงกว้างเพราะที่ผ่านมา Apple นี่แหละที่ย้ำนักย้ำหนาว่าให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นที่หนึ่งเสมอ

และถึงแม้จะบอกว่าทำไปเพื่อปกป้องเด็กแต่การจะเข้ามาส่องถึงในโทรศัพท์ของเราก็ดูจะเป็นราคาที่สูงเกินกว่าจะมีใครยอมจ่าย

Businesswoman networking using digital devices

Craig Federighi รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของ Apple ให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal โดยยอมรับว่าการประกาศก่อนหน้านี้ชวนให้เข้าใจผิดไปสักหน่อย

พร้อมกับให้ข้อมูลอย่างละเอียดมากขึ้นเพื่อเคลียร์ทุกข้อสงสัยว่าเทคโนโลยีนี้จะทำงานอย่างไรบ้าง

เริ่มจากการแก้ความเข้าใจผิดแรกที่ว่า Apple จะเข้าไปตรวจสอบภาพถ่ายถึงในแกลเลอรี่ของผู้ใช้ทุกคนเพื่อหาภาพโป๊เด็ก Apple ยืนยันว่าไม่ได้จะสแกนภาพถ่ายทุกภาพที่ถูกเก็บไว้ในโทรศัพท์ แต่จะทำเฉพาะกับภาพที่ผู้ใช้อัพโหลดขึ้นไปเก็บไว้บนบริการคลาวด์ของบริษัทหรือ iCloud เท่านั้น

รายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ Apple ไม่ได้ให้พนักงานมานั่งไล่ดูภาพทุกภาพที่ผู้ใช้อัพโหลดขึ้นไปเก็บไว้บน iCloud ด้วยตา แต่จะใช้วิธีตรวจสอบในรูปแบบของโค้ดเพื่อนำไปจับคู่กับฐานข้อมูลภาพโป๊เด็กที่เคยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บรวบรวมเอาไว้แล้ว โดยจะมีการประมวลผลข้อมูลบนโทรศัพท์ก่อนในระดับหนึ่งในตอนที่กำลังอัพโหลดภาพขึ้นไปบนคลาวด์ และอีกครึ่งหนึ่งก็จะไปประมวลผลต่อบนนั้น

และหากภาพนั้นมีความสอดคล้องกับลักษณะของภาพโป๊เด็กในฐานข้อมูลที่มากพอ Apple จึงจะได้รับการแจ้งเตือน

แต่ถึงกระนั้นก็จะได้รับรู้เฉพาะภาพนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้เห็นภาพอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วย

เพราะฉะนั้น ผู้ใช้งานที่มีภาพลูกล่อนจ้อนอยู่ในอ่างอาบน้ำ หรือแม้กระทั่งมีภาพโป๊ในรูปแบบอื่นๆ เซฟเอาไว้อยู่ในเครื่องก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะไม่เข้าข่ายค่ะ

เมื่อ Apple ได้รับการแจ้งเตือนให้รู้ถึงการมีอยู่ของภาพโป๊เด็ก คราวนี้ก็จะถึงขั้นตอนที่มนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทีมงานของบริษัทจะเข้าไปตรวจสอบ

และหากพบว่ามีภาพที่ผิดกฎหมายจริงก็จะรายงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาดำเนินการต่อ

 

อันที่จริง Apple ไม่ใช่บริษัทแรกที่สแกนภาพถ่ายทุกภาพเพื่อวิเคราะห์ภาพที่ถูกเก็บเอาไว้ในบริการของตัวเอง เพราะบริษัทอื่นๆ อย่าง Google Facebook หรือ Microsoft ก็ทำแบบนี้เหมือนกันโดยจะสแกนทุกภาพที่อยู่บนคลาวด์ของตัวเองเพื่อหาภาพที่มีปัญหา ความแตกต่างก็คือ Apple ตัดสินใจทำในรูปแบบที่แตกต่างออกไปเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้มากขึ้น แต่เมื่อสื่อสารไม่ครบถ้วนก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกหวาดระแวงขึ้นมา

ส่วนอีกฟีเจอร์ที่ Apple ประกาศมาพร้อมๆ กันโดยเป็นฟีเจอร์ที่อยู่บนแอพพ์ส่งข้อความ iMessage (ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เป็นแอพพ์ส่งข้อความหลัก) คือฟีเจอร์ Communication Safety

ผู้ปกครองสามารถเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้ให้กับลูกหลานของตัวเอง เมื่อไหร่ที่ลูกของ

เราได้รับภาพที่คนอื่นส่งเข้ามาในแอพพ์ และเป็นภาพที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ภาพจะถูกเบลอโดยอัตโนมัติ ลูกจะได้รับคำเตือนว่าภาพนี้อาจจะไม่ปลอดภัยที่จะคลิกดู ซึ่งลูกก็มีสิทธิเลือกได้ว่าจะเปิดหรือไม่เปิด

กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในโทรศัพท์โดยไม่ได้มีการส่งออกไปประมวลผลข้างนอกและไม่ได้มีบุคคลที่สามมาเห็นภาพนี้ด้วย

หากผู้ใช้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่พ่อ-แม่เปิดฟังก์ชั่นการแจ้งเตือนเอาไว้ หากเลือกที่จะยังคลิกดูเพื่อดูภาพ ระบบก็จะต้องแจ้งให้พ่อ-แม่ได้รับรู้ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พ่อ-แม่ผู้ปกครองควบคุมและตรวจสอบได้ว่าลูกที่ยังเป็นเยาวชนของเราได้เข้าถึงอะไรที่ไม่เหมาะสมบ้างหรือเปล่า

Apple ใช้เทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่งที่อยู่ในอุปกรณ์เพื่อตรวจดูว่าภาพไหนเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องใช้คนมาช่วยดูเลย แน่นอนว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดในการระบุสิ่งที่อยู่ในภาพได้บ้าง แต่ก็นับว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาถึงในระดับที่อัตราความผิดพลาดเกิดขึ้นได้น้อยมากแล้ว

 

นี่ก็คือรายละเอียดของสองฟีเจอร์ใหม่ที่ Apple ประกาศในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะพยายามลงรายละเอียดแค่ไหนแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวก็ยังไม่ได้วางใจร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดีเพราะก็ยังมองว่าเครื่องมือนี้อาจถูกนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นและเปิดประตูสู่การสอดส่องในระดับแมสได้ ลองนึกภาพเทคโนโลยีนี้ไปอยู่ในมือของรัฐบาลหรือผู้นำประเทศที่ไม่เห็นความสำคัญของความเป็นส่วนตัวของประชาชน หรืออาจจะกลายเป็นช่องโหว่ให้แฮ็กเกอร์ใช้ในการโจมตีได้เหมือนกัน

ความพยายามของ Apple ในครั้งนี้คงเป็นผลมาจากการต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้และการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการช่วยระงับยับยั้งการก่ออาชญากรรม ด้วยฟีเจอร์นี้ Apple จะสามารถระบุได้ว่ามีภาพอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไม่โดยที่ไม่จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลทั้งหมดให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง

แต่ผู้เชี่ยวชาญก็คาดว่าไม่น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าหน้าที่ในการที่จะตามล่าอาชญากรรมในระดับที่รุนแรงกว่านี้ได้

หากเราลองสวมหมวก Apple ดูก็พอจะเข้าใจว่าการจะหาสมดุลของทั้งสองด้านนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเหมือนกัน

ในฐานะผู้ใช้งาน เรื่องนี้ก็ทำให้เราตระหนักได้เหมือนกันว่าโทรศัพท์ที่เราควักเงินในกระเป๋าของเราเองมาซื้อด้วยความเข้าใจว่ามันจะเป็นสมบัติของเราคนเดียว ไม่มีใครสามารถเข้าถึงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมันได้ และเราจะใช้มันทำอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมืดหรือสว่างนั้น

อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป