‘เหยียดเพศ-ด้อยค่า’ และการเอาคืนของเฟมินิสต์/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘เหยียดเพศ-ด้อยค่า’

และการเอาคืนของเฟมินิสต์

 

เริ่มจากแมวเด็กหน้าตาน่าเกลียดเหมือนแมวดำในเรื่องสั้นของเอ็ดการ์ แอลลัน โป ที่มีพฤติกรรมสยดสยอง แต่กระนั้นฉันก็เลี้ยงดู “บวนเจิง” ที่แปลว่าสี่ตีนไม่ต่างจาก “เจ้าชายน้อย” ซึ่งในระยะหลังๆ มานี้ ฉันมักนึกถึงวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างไร้ความสำคัญ

หรือวัน-เวลาและวัยของฉันหมดการให้ค่าสำคัญต่อสิ่งใดๆ ไปแล้วอย่างนั้นรึ?

เปล่าเลย โดยไม่เกี่ยวนักหรอกกับวรรณกรรม แต่ฉันหมายถึง อ็องตวน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี (2443-2487) ที่จากไปแต่วัยหนุ่มคนนั้น และการรื้อฟื้นความหลังของเขาอาจขัดความรู้สึกกับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกเสรีของเฟมินิสต์

“สตรีนิยม”

พลัน ความรู้สึกเจาะจงใดๆ ต่อ “เจ้าชายน้อย” ก็กลายเป็นอื่น

มันคือพฤติกรรมหมิ่นแคลนน้ำใจในสตรีเพศของนักเขียนคนดังที่มีต่อน้องสาวร่วมสกุลอย่างซีโมน ผู้อัปเปหิชีวิตนเองไปทำงานลำพังที่โพ้นทะเลอินโดจีนซึ่งก็ไม่นานนักหรอก แค่เมื่อเกือบร้อยปีก่อน และแม้จะมีนามสกุลใหญ่โตสืบสายจากขุนนาง ‘เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี’ แต่สำหรับที่นั่น ซีโมนต้องพิสูจน์ตนในตำแหน่งเสมียนตราไม่ต่างจากยิปซีผู้เร่ร่อน

และด้วยความรักต่อการประพันธ์ เธอจึงริอ่านลงมือแต่งความเรียงก่อนจะพบว่า นี่คือที่มาของการถูก “ด้อยค่า” ครั้งใหญ่ในชีวิตจากพี่ชายของเธอเอง

นั่นคือ อ็องตวน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี ถึงกับกดดันซีโมนน้องสาวมิให้ “ใช้นามสกุล” ร่วมกับเขา

เหตุผลก็คือว่า de Saint-Exup?ry, Antoine เกรงว่า “de Saint-Exup?ry, Simone” มิพักว่าผลงานของเธอนั้นจะดีเด่น “มาก” หรือ “น้อย” เทียบชั้นกับ “เจ้าชายน้อย” หรือไม่ แต่ในที่สุดแล้วย่อมส่งกระทบต่อภาพลักษณ์วรรณกรรม “เจ้าชายน้อย”

มิทางใดก็ทางหนึ่ง

เครดิตภาพ : rfi

และด้วยเหตุนี้ “เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี” จึงควรมีคนเดียวในโลก และเป็น “อ็องตวน” เท่านั้น โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า พรสวรรค์ของเขานั้น “มีค่า” กว่า “ซีโมน” ที่ริอ่านเทียบชั้น หรืออาศัยบารมีของพี่ชายไต่เต้าสร้างชื่อเสียง?

ว่าแต่มันสมควรแล้วหรือที่ “ซีโมน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี” ไม่ควรมีตัวตนในบรรณภพวรรณกรรม?

อย่างไรก็ตาม ซีโมน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี กลับยอมรับเสนอตัวแทนของอ็องตวนที่ให้ซีโมนใช้นามปากกา หรือมิฉะนั้นก็แต่งงานและใช้นามสกุลคู่สมรส!

อ็องตวน “ด้อยค่า” เพศสตรีของน้องสาวหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ซีโมนกลับเลือก “เปลี่ยนนามสกุล” ที่ไม่ใช่ “เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี” และแม้เส้นทางนักประพันธ์ของเธอจะไม่เป็นที่จดจำแต่ชีวิตของซีโมนกลับยืนยาวและก้าวหน้าในการงานสายบรรณารักษ์

ต่างจากอ็องตวนพี่ชาย ที่หายไปกับเที่ยวบินสุดท้ายขณะบินข้ามสมุทรแอตแลนติก

ภาพนี้จากปกหนังสือที่ผู้เขียนสะสม

บวนเจิง-โกนฉมา จอมขี้เกียจของฉัน ว่ากันตามตรง หลายปีมานี้ จู่ๆ ความรู้สึกปลื้มปริ่มต่ออ็องตวน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี และ “เจ้าชายน้อย” ของเขา เริ่มจะเฉื่อยเนือยและชืดชา

โดยเฉพาะตอนอ่านคำร้อง กล่าวโทษกรณีที่ดินของมาดามดอนนาดิอู (Donnadieu) ต่อเจ้าหน้ากำโปดที่ออกโฉนดให้เธอ (ดู Kampot-Miroir du Cambodge, promenade historique et litt?raire/ Luc Mogenet) ได้แสดงให้เห็นว่า มารดาของมาร์เกอริต ดูราส์ (2457-2539) มีทักษะการเขียนจดหมายดีเด่น ทั้งคำเสียดสีที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

เป็นที่รู้วงในว่า แม้จะได้สิทธิ์จากสามี แต่นางดอนนาดิอูน่าจะถูกรังคัดรังแคไม่น้อยจากที่เธอถูกปัดตกไปมิได้สอนหนังสือในโรงเรียนกรุงพนมเปญ และถูกย้ายไปที่กำโปดแทน ซึ่งที่นั่นเธอยังประสบกับหายนะกับคนของรัฐที่ออกโฉนดที่ดินที่ทุกฤดูมรสุม น้ำทะเลจะท่วมขัง

และครั้งแล้วครั้งเล่าที่นางดอนนาดิอูไปยื่นคำร้อง เธอถูกข้าราชการบารังแสดงการ “ด้อยค่า” ต่อเธอซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งในฐานะผู้ถูกหลอกซื้อที่ดินสัมปทาน

จากหญิงสาวชนบทที่สมรสกับข้าราชการรัฐอินโดจีน ก่อนจะพบภายหลังว่า เขามีประวัติคุ้มดีคุ้มร้ายในอาการป่วยทางประสาทกระทั่งเสียชีวิต นอกจากฐานะของหญิงหม้ายและชีวิตคู่ที่ไร้สุข ลูกๆ 3 คนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ความหวังเดียวเพื่อชีวิตที่เหลือรอดของนางดอนนาดิอู คือการถือสิทธิ์เป็นครูแทนสามี

แต่เพราะที่นี่ไม่ใช่ “มงกฎหญิงอาณานิคม” ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางเพศในจักรวรรดิ และแน่ล่ะ ชีวิตของเธอก็เป็น 1 ในจำนวนมากมายที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเสมอชาย และโลกแห่งการ “ด้อยค่าเพศสตรี” ที่ต่างกรรมต่างวาระ (French Women and the Empire : The Case of Indochina/มารี โปล ฮา)

ฉันน่ะ แรกเลยไม่รู้สึกไยดีสตรีฝรั่งคนใดในอินโดจีน ไม่เว้นมาร์เกอริต ดูราส์ และงานของเธอใดๆ

ซีโมน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี : ไม่ทราบแหล่งที่มา

แต่จู่ๆ สำนึกของโลกที่มีชายเป็นใหญ่และขึงพืดย่ำยีสตรีเพศยุคหนึ่งก็กลับมารบกวนใจ

ดังที่เห็นว่า มันเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่ซีโมน เดอ แซงต์-เต็กซูเปรี ถึงมาดามดอนนาดิอู หรือแม้แต่มาร์เกอริต ดูราส์ ในวัยต่างของสตรีบารัง 3 รุ่น พวกเธอต่างรับเอาชะตากรรม

โดยครอบครัวดอนนาดิอูที่บิดาป่วยด้วยภาวะทางจิตนั้น ในวัยเด็กของนักเขียนคนนี้ นอกจากมารดาผู้ใกล้ชิดแล้วเธอยังมีแม่นมชาวอันนัมชดเชยความสัมพันธ์ที่พร่องขาดจากบิดา ผู้มากไปด้วยอคติแบบชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะในอินโดจีนที่ด้อยค่าสตรี ตั้งแต่นังกงไกคนรับใช้ไปยันถึงภรรยาและลูกสาว

ที่มักถูก “ประจาน” และทอดทิ้งความสำคัญในตัวตนอันเกิดจากอำนาจและการกระทำของประดาชายผู้เป็นใหญ่ มิทางใดก็ทางหนึ่ง

แรกเลยนั้น ดูราส์และแม่ดูจะเสแสร้งเป็นคนชั้นกลางในสังคม ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เธอมีชีวิตที่ค่อนข้างจะไม่ค่อยสมบูรณ์นักในฐานะแม่บ้านข้าราชการชั้นล่างที่ไม่มีประสบการณ์ทางสังคม ทว่า เมื่อจำเป็นต้องลุกทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวในนิคมแห่งนั้น แล้วจะเห็นว่ามารดาของดูราส์มีเลือดนักสู้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร

โดยเฉพาะการเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญกับกระบวนการคอร์รัปชั่น และจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทุกๆ ครั้งในการไปยื่นเอกสาร สิ่งที่ได้รับการปฏิบัติ เหยียดหยามด้อยค่าในสิทธิ์ความเป็นสตรี

ทว่า ในการเขียนจดหมายอุทธรณ์ต่อทางการอย่างไม่ไว้หน้า เห็นได้ชัดว่า มาดาของดูราส์มีคุณสมบัติขั้นสูงในการเป็นครูที่ดี

มันจึงไม่ยุติธรรมเลย ที่เธอถูกกีดกันเสียโอกาสทำงานตำแหน่งดีๆ เพียงเพราะเป็นหญิงหม้ายแม่บ้าน ขณะชายผู้อ้างว่ามีคุณวุฒิสูงส่งเหล่านั้นกลับอาศัยประโยชน์จากหน้าที่ไม่ต่างจากผู้ชำนาญการที่ไร้จริยธรรม

มาร์เกอริต ดูราส์กับมารดา เครดิตภาพ : folio

มันคือผลพวงที่นักเขียนหญิงอินโดจีนคนหนึ่งรับมา ทั้งกรณีซีโมนและมารดาของดูราส์ แต่กว่าที่เราจะตกผลึกเห็นมันก็ผ่านกับดักของกาลเวลาที่ฉันเองเพิ่งสังเกตว่า

ราวกับปลดเปลื้องความเจ็บปวดหนหลังของมารดาและตน ทำไมในนิยายเกือบทุกเรื่องของมาร์เกอริต ดูราส์ จึงเต็มไปด้วยกามตัณหาของเพศสตรีตะวันตก ไม่เท่านั้น โดยนอกจากพี่ชายของตนแล้ว ดูราส์ยัง “ด้อยค่า” บารังเพศตรงข้ามในนิยายของเธออย่างพวกเขาเหล่านั้นช่างไม่มีตัวตน

ไม่เท่านั้น ในบางตอนของดูราส์ในนิยาย ความสัมพันธ์อันดิ่งลึกต่อ “chinois” ชาวพื้นถิ่นซึ่งนี่ไม่ใช่กามสังวาสของเชิงปัจเจกคนหนึ่ง แต่เป็นการเอาคืนจักรวรรดินิยมแห่งการกดขี่

ส่วนที่เหลือคือวรรณกรรม!