State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (4)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

State-Led Gentrification

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (4)

 

ย่านคลองสาน โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบจาก State-Led Gentrification อย่างมีนัยยะสำคัญ

ลองมองโครงการต่างๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ดูนะครับ เราจะพบสิ่งที่น่าสนใจ

กลางปี 2562 อธิบดีกรมธนารักษ์ ประกาศนโยบายนำที่ราชพัสดุ อาคารสำนักงานรัฐ ตลอดจนโบราณสถาน ที่อยู่ในความดูแลทั่วประเทศประมาณ 200 แห่ง มาเปิดให้เอกชนประมูลเช่าลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น บูติกโฮเทล ร้านอาหาร ร้านกาแฟ

และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ก็ได้ประกาศการประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุที่เรียกกันอย่างลำลองว่า “วังค้างคาว” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านคลองสาน โดยมีเงื่อนไขสำคัญหนึ่งคือ ผู้เช่าจะต้องเสนอเงินค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าไม่ต่ำกว่า 9,475,200 บาท

และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “ตลาดคลองสาน” แหล่งช้อปปิ้งราคาถูกจนถึงราคาระดับกลางๆ ที่สำคัญของชาวฝั่งธนบุรีมายาวนานหลายปีก็ได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็จะนำที่ดิน 5 ไร่ตรงนี้มาเปิดประมูลในปลายปีนี้เพื่อทำโครงการขนาดใหญ่แทน เช่น มิกซ์ยูส คอนโดมิเนียม และ ห้างสรรพสินค้า

ทั้งสองโครงการหากดูผิวเผิน เหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลยนะครับ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทั้งสองโครงการเป็นผลพวงไม่โดยตรงก็โดยอ้อมจากการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้า “สายสีทอง”

รถไฟฟ้าสายนี้ทำให้ระบบการสัญจรของคนในบริเวณนั้นเปลี่ยน ส่งผลให้ตลาดซบเซา เมื่อผนวกเข้ากับราคาที่ดินตลาดคลองสานได้พุ่งจากเดิม 1.6 ล้านบาท กลายมาเป็น 15 ล้านบาทจากการมาถึงของรถไฟฟ้า ก็ทำให้ตลาดคลองสานไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้และต้องปิดตัวเองลง

และก็เช่นเดียวกันนะครับ การมาของรถไฟฟ้าก็ได้ทำให้ศักยภาพที่ดินของ “วังค้างคาว” สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ และราคาที่ดินก็ถีบตัวตามเช่นกัน จนนำมาสู่การนำที่ดินแปลงนี้ออกประมูล

ฟังดูก็ไม่มีอะไรน่าแปลกสักหน่อย ทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมชาติของความเจริญที่มาพร้อมรถไฟฟ้า หลายคนอาจพูดแบบนี้

แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ควรลืมก็คือ รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นสายรถไฟฟ้าที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้าง

ด้วยระยะทางยาวเพียง 2.62 ก.ม. และมีสถานีเพียง 4 สถานี อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังถูกขนาบไปด้วยรถไฟฟ้า “สายสีแดง” “สายสีม่วง” และ “สายสีเขียว” ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความหนาแน่นของประชากร (ที่มีไม่มากนัก) ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่แล้ว จนนำมาซึ่งข้อสงสัยว่าเป็นการสร้างรถไฟฟ้าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ริมน้ำเจ้าพระยาหรือไม่

แม้ว่าเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างให้ทั้งหมด ซึ่งทำให้ดูเสมือนว่ารัฐและประชาชนได้ประโยชน์โดยไม่เสียอะไรเลย แต่เราต้องอย่าลืมนะครับว่า ผิวถนนทุกตารางนิ้วที่ตอม่อรางรถไฟฟ้าตั้งอยู่คือพื้นที่สาธารณะของทุกคนในชาติ ดังนั้นทุกสิ่งอย่างที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่สาธารณะควรมีความคุ้มค่าขั้นสูงสุด ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีทองดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น

แต่สิ่งที่ชัดเจนแน่นอนคือ รถไฟฟ้าสายนี้คือสารตั้งต้นของปรากฏการณ์ Gentrification ในพื้นที่ การพุ่งของราคาที่ดินบริเวณโดยรอบ การปิดตัวลงของตลาดคลองสาน (หลังจากรถไฟฟ้าเปิดตัวได้เพียงไม่นาน) ที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยโครงการราคาแพงสำหรับ “ชนชั้นสร้างสรรค์” ที่คงกำลังรอย้ายเข้ามาในพื้นที่นี้ด้วยตาเป็นประกาย หรือไม่ก็คงกำลังรออย่างใจจดจ่อที่จะให้ “วังค้างคาว” ถูกบูรณะเป็นโรงแรมหรูสุดฮิป ร้านอาหารสุดชิก หรือคอมมูนิตี้มอลล์ราคาแพง เพื่อที่จะได้เข้ามากินเที่ยวและถ่ายรูปอัพโหลดลงโชเชียล

ยังไม่นับรวมโครงการ “หอชมเมือง” (น่าจะถูกยกเลิกไปแล้ว ด้วยสถานการณ์โควิด) ซึ่งตามแผนการเดิมจะถูกสร้างลงบนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4 ไร่ ข้างๆ ICONSIAM ซึ่งเป็นที่ของราชพัสดุ โดยมีการทำสัญญาให้ ICONSIAM เป็นผู้เช่าที่ดินผืนนี้ยาว 30 ปี และเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ

อยากให้ลองจินตนาการดูนะครับว่า หากโครงการนี้ถูกสร้างขึ้นจริง ซึ่งตามการประเมินของนักวิชาการเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมมากถึงปีละ 1 ล้านคนนั้น จะส่งผลกรทบเป็นรัศมีวงกว้างมหาศาลขนาดไหนต่อชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชุมชนมุสลิมสุวรรณภูมิที่อยู่ติดกับโครงการ

ราคาที่ดินของย่านนี้จะทะยานขึ้นอย่างก้าวกระโดด นายทุนและกลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์คงทยอยกันย้ายเข้ามาในพื้นที่ และผลลัพธ์สุดท้ายที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดขึ้นก็คือ คนดั้งเดิมในพื้นที่ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงต่ำจะต้องถูก displacement อย่างขนานใหญ่

ที่กล่าวมาทั้งหมด มิได้กำลังจะปฏิเสธและขัดขวางความเจริญที่จะเกิดขึ้นในย่านคลองสานนะครับ แต่ประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารคือ ความเจริญในแบบที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาดตามครรลองปกติ แต่เกิดขึ้นจากความบิดเบี้ยว จากการวางระบบคมนาคมที่ไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริง จากนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้มิใช่การพัฒนาเมืองที่ถูกต้องและเป็นธรรม

แต่มันคือการพัฒนาเมืองที่พิกลพิการ บนฐานของการเอาเปรียบ ขูดรีด และไร้หัวใจอย่างที่สุด

กรณีย่านคลองสานเราจะเห็นครบทุกองค์ประกอบของ State-led Gentrification เลยนะครับ ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (กรณีนี้คือรถไฟฟ้าสายสีทอง) ให้ทะลุแทรกเข้าไปในย่านที่ต้องการให้เกิด Gentrification

ทั้งการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบายบางอย่างให้กับนายทุนในการเข้ามาลงทุนในย่านเป้าหมาย เพื่อเปลี่ยนโฉมย่านให้สวยงามและดูแพง

ไปจนถึงการที่รัฐนำที่ดินในการดูแลของตนในย่านเก่าเป้าหมายมาปล่อยนายทุนใหม่เข้ามาพัฒนา

ที่น่าตกใจคือ ย่านคลองสานมิใช่ย่านเดียวที่ถูกเร่งปฏิกิริยาความเจริญด้วยวิธีที่พิกลพิการแบบนี้นะครับ แต่รัฐไทยกำลังสร้างเงื่อนไขที่คล้ายกันนี้ให้เกิดขึ้นไปทั่วทุกย่านเก่าในกรุงเทพฯ (ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้วในบทความสามชิ้นก่อนหน้านี้)

ความน่ากลัวของปรากฏการณ์นี้คือ ความแนบเนียนของการขับไล่คนจนออกจากเมือง เพื่อเปลี่ยนเนื้อเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชนชั้นสร้างสรรค์”

วังค้างคาว

ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า รัฐไทยในเกือบทุกยุคสมัยต่างรังเกียจคนจนเมืองและต้องการขับไสไล่ส่งให้ไปไกลๆ ตลอดมา แต่ในอดีต รัฐไทยเลือกใช้วิธีที่ค่อนข้างแข็งกร้าวและรุนแรง เช่น เวนคืนที่ดินและการใช้กำลังบังคับขับไล่ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนับวันยิ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันเผยความน่ารังเกียจของรัฐชัดเจนโจ่งแจ้งและหยาบกระด้างเกินไป จึงถูกต่อต้านจากสังคมในวงกว้าง

แต่ State-led Gentrification คือการขับไล่ไสส่งคนจนไปจากเมืองที่ถูกฉาบเคลือบฉากหน้าด้วยแนวคิดสวยงามว่าด้วย การฟื้นฟูเมือง (กรณีกรุงรัตนโกสินทร์) การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (กรณีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาและกรณีย่านคลองสาน) หรือการอนุรักษ์โบราณสถาน (กรณีหน่วยงานรัฐนำอาคารเก่ามาประมูลทำโรงแรมและร้านอาหารในนามของการอนุรักษ์อาคารเก่า)

ซึ่งฉากเคลือบอันสวยงามเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยการสร้างพันธมิตรทางอุดมการณ์กับ “ชนชั้นสร้างสรรค์” ซึ่งรับไม่ได้กับการถีบคนจนเมืองออกไปอย่างโจ่งแจ้งและหยาบกระด้าง แต่จะไม่มีปัญหาเลยถ้าจะถีบคนเหล่านั้นออกไปอย่างนุ่มนวล (ทางกายภาพแต่ไร้หัวใจอย่างที่สุด) ในรูปแบบของ Gentrification

ด้วยเหตุนี้ ในทัศนะผม ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ปัญหาใจกลางที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของ State-led Gentrification ในสังคมไทย เกิดขึ้นจาก “ชนชั้นสร้างสรรค์” ที่เข้าไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในกระบวนการเหล่านี้

การจัดกิจกรรมพายเรือคายัคในคลองโอ่งอ่าง การสร้างสวนและจัดดอกไม้ในป้อมมหากาฬ การเปลี่ยนตลาดคลองสานเป็นโครงการหรูหราราคาแพงในอนาคต ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งดำเนินไปโดยอิงอาศัยไลฟ์สไตล์ของ “ชนชั้นสร้างสรรค์” มาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการไล่รื้อสะพานเหล็ก, ชุมชนป้อมมหากาฬ และการปิดตัวลงของตลาดคลองสาน ไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น

ดังนั้น หากเราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ State-led Gentrification ในสังคมไทยให้ถ่องแท้ เราไม่อาจเน้นไปที่บทบาทของรัฐเพียงอย่างเดียวได้ แต่เราต้องเข้าไปทำความเข้าใจการทำงานในเชิงอุดมการณ์ของ “ชนชั้นสร้างสรรค์” ที่มีต่อกระบวนการนี้ให้มากขึ้นด้วย

ซึ่งเป็นอย่างไรนั้น เราจะยกไปพูดถึงกันต่อในสัปดาห์หน้า