หนุ่มเมืองจันท์ : โลก 2 ใบ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC
ขอบคุณภาพ อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ จาก waymagazine ถ่ายโดย อนุชิต นิ่มตลุง

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

โลก 2 ใบ

 

เมื่อสัปดาห์ก่อน เกิดวิวาทะเล็กๆ ทางโซเชียลมีเดียในกลุ่มคนเขียนหนังสือ

เริ่มต้นจากอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ หรือ “วีรกร ตรีเศศ” นำข้อเขียนของ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” เรื่อง “7 วินาทีที่มีความหมาย” เอามาลงคอลัมน์ของเขาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เป็นเรื่องของ “น้องเทนนิส” ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก

อาจารย์วรากรณ์บอกในคอลัมน์ว่าเขาชอบเรื่องนี้มาก แต่ไม่รู้ว่าใครเขียน

จากนั้นก็นำมาลงยาวเลย

อยากให้ได้อ่านกันมากๆ

ตอนที่ผมอ่านคอลัมน์นี้ก็รู้เลยว่าอาจารย์วรากรณ์พลาดแล้ว

เพราะผมเคยอ่านเรื่องนี้มาก่อน

ผมเป็นแฟนเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ครับ

“วิศรุต” เป็นคนเขียนดีมาก

เรื่องนี้เขาหยิบเรื่อง 7 วินาทีที่ “เทนนิส” พลาดเหรียญทองโอลิมปิกครั้งที่แล้ว

ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ “เทนนิส” รู้ว่าแม้เหลือเวลาแค่ 7 วินาที ที่คะแนนตามคู่แข่งอยู่

เธอก็มีโอกาสเอาชนะได้

“บาดแผล” ในวันก่อนเป็นประสบการณ์ที่มีค่าในวันนี้

คมมาก

หลังจากที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ตีพิมพ์บทความชิ้นนี้

เพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ได้ออกมาบอกว่าตนเองเป็นคนเขียน

และหยิกแกมหยอกหลายเรื่อง

ในฟีดข่าวของผมก็มีน้องๆ หลายคนออกมาโวย

เขามองว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์การเขียน

นอกจากจะเอางานเขียนของคนอื่นมาตีพิมพ์

ยังไม่ยอมลงชื่อผู้เขียนด้วย

อาจารย์วรากรณ์รีบลงข้อความขอโทษในเพจส่วนตัว

ยืนยันว่าที่นำมาลงเพื่อต้องการเชิดชูข้อเขียนดีๆ

เพราะถ้ารู้ว่าใครเขียนก็จะระบุชื่อไว้อย่างแน่นอน

“ผมต้องขอโทษเป็นอย่างยิ่งหากทำให้ท่านเจ้าของเสียความรู้สึกและต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยที่มิได้พยายามหาข้อมูลให้ครบถ้วน ผมเขียนบทความมา 29 ปี โดยไม่เคยมีเหตุการณ์ใดๆ ผมจึงรู้สึกเสียใจเป็นพิเศษและต้องขอโทษท่านเจ้าของบทความอีกครั้งครับ”

ในข้อความทั้งหมด 10 กว่าบรรทัด

มีคำว่า “ขอโทษ-ขออภัย-เสียใจ” เต็มไปหมด

 

ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยใจตุ๊มๆ ต้อมๆ

จะหลบไม่เขียนก็ได้

แต่ถ้าไม่เขียนก็รู้สึกคาใจ

เพราะผมรู้จักอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นอย่างดี

เคยเป็น “พ่อสื่อ” เชิญอาจารย์มาเขียนใน “มติชนสุดสัปดาห์”

และตอนเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ก็เอางานเขียนของอาจารย์วรากรณ์มารวมเล่ม

อาจารย์วรากรณ์ก็ยังเป็นคนที่น่าเคารพคนหนึ่ง

เรื่องที่ผมประทับใจมากที่สุด เป็นเรื่องที่อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ เล่าให้ฟังครับ

ตอนที่เขาเรียนอยู่ ม.3 อาจารย์ปกป้องเป็นพิธีกรรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลก

สื่อไปสัมภาษณ์แล้วถามว่าอยากเรียนอะไร

อาจารย์ปกป้องบอกว่าอยากเรียนคณะเศรษฐศาสตร์

เพราะเขาอ่านหนังสือของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แล้วชอบมาก

อาจารย์วรากรณ์ได้อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

รู้ไหมครับว่าทำอย่างไร

เขาเขียนจดหมายไปหา “ปกป้อง”

คุยว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างไร

และชวนมาคุยที่คณะ

ตอนนั้นท่านเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

คิดดูสิครับ “คณบดี” ชวนเด็ก ม.3 มาคุยด้วย

เพียงเพราะรู้ว่าเด็กคนนี้อยากเรียนเศรษฐศาสตร์

ในที่สุด “ปกป้อง” ก็สอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สำเร็จ

นี่คือ ความน่ารักของอาจารย์วรากรณ์

 

ผมมองปรากฏการณ์ครั้งนี้แบบ “นักวิเคราะห์”

เข้าใจอาจารย์วรากรณ์ว่าคิดอะไร

และเข้าใจน้องๆ ว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น

มันเป็น “ความแตกต่าง” ระหว่างวัยชัดเจนมาก

ในมุมของอาจารย์ เมื่อได้อ่านงานเขียนของใครแล้วรู้สึกดี

ก็อยากจะให้มีคนอื่นได้อ่านบ้าง

เลยเอามาเขียนในคอลัมน์

หรือที่อาจารย์วรากรณ์ใช้คำว่า “เชิดชู”

ผมเชื่อว่าอาจารย์คิดอย่างนั้นจริงๆ

เพียงแต่ครั้งนี้เขาไม่รู้ว่าใครเขียน

ถ้ารู้ก็ลงแน่นอน

ในมุมหนึ่ง การคิดแบบ “เชิดชู” ก็คล้ายๆ คนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียลมีเดีย ที่เจอข้อเขียนดีๆ ในเพจหรือเฟซบุ๊ก

แล้วแชร์ต่อ

ทุกคนอยากให้คนอื่นได้อ่านบ้าง

แต่บังเอิญที่งานเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารมีค่าคอลัมน์

น้องๆ ก็คิดว่าแบบนี้ไม่แฟร์

ไม่เหมือนกับการแชร์ในเฟซบุ๊ก ที่คนเขียนและคนแชร์ไม่ได้เงิน

คำว่า “เชิดชู” กับ “เอางานคนอื่นมาหากิน”

อยู่ที่ “มุมมอง” ครับ

ส่วนหนึ่งที่เข้าใจอาจารย์วรากรณ์ เพราะผมก็เคยทำแบบนี้ 555

เคยเอาเรื่องของ “โจ้” โต๊ะกลม หรือ “เม้ง” ชูใจ ที่เขียนในเฟซบุ๊กมาลงในคอลัมน์

อาจมีการตัดต่อ หรือเรียบเรียงบ้าง

ไม่ได้จัดเต็มเหมือนอาจารย์วรากรณ์

แต่ที่ผมเอามาลงเพราะรู้สึกว่าอยากให้คนอื่นได้อ่านเรื่องดีๆ

คิดแบบ “เชิดชู” จริงๆ

แค่ได้ปิดต้นฉบับดีๆ ชิ้นหนึ่งทันเวลาก็ดีใจเหลือเกินแล้ว

ไม่ได้คิดในมุม “ค่าเรื่อง” เลยครับ

ยิ่งอาจารย์วรากรณ์ “ค่าเรื่อง” เป็น “รายได้” ที่เล็กน้อยมากสำหรับฐานะของอาจารย์ในวันนี้

เขาไม่น่าคิดในมุมนี้

 

อีกเรื่องหนึ่งครับ

สมัยก่อนการที่เรื่องจากอินเตอร์เน็ตได้ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร

เจ้าของเรื่องจะดีใจ

เพราะสมัยก่อน สื่อสิ่งพิมพ์เป็น “สปอตไลต์” ดวงใหญ่กว่า “อินเตอร์เน็ต”

แต่วันนี้ไม่ใช่แล้วครับ

โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

โลกโซเชียลมีเดียหรืออินเตอร์เน็ต ใหญ่กว่าสิ่งพิมพ์

“สปอตไลต์” ย้ายฝั่ง

คนเขียนหนังสือวันนี้ถ้ามีเพจดังๆ พูดถึง เขาจะดีใจ

ต้องยอมรับว่าโลกหมุนไปไกลมาก จะคิดด้วยความเคยชินเดิมไม่ได้เลย

เพราะผลที่ออกมาไม่เหมือนเดิม

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่น้องๆ หลายคนไม่เข้าใจอาจารย์วรากรณ์ว่าถ้าอ่านงานแล้วไม่รู้ชื่อผู้เขียน

ก็แค่เอาเนื้อหาบางประโยคไปค้นในกูเกิลก็รู้แล้วว่าใครเขียน

อาจารย์วรากรณ์ชี้แจงเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา

“ผมถูกต่อว่าว่าถึงไม่มีชื่อก็ควรตรวจสอบใน Google ได้ว่าใครเป็นผู้เขียน ผมขอสารภาพว่าผมไม่เคยรู้วิธีนี้มาก่อน ผมรู้สึกเสียใจที่ไม่รอบคอบในการเช็กหาชื่อเจ้าของ”

น้องหลายคนอ่านแล้วไม่เชื่อว่าเรื่องแค่นี้ทำไมถึงไม่รู้

เรื่องนี้ก็เช่นกัน

เป็นเรื่อง “ยุคสมัย” จริงๆ

คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย

ในขณะที่คนอีกรุ่นหนึ่งพอรู้เรื่องบ้าง

แต่ “ไม่รู้” มากกว่า

เรื่องนี้ผมยืนข้างอาจารย์วรากรณ์เต็มตัวเลยครับ

ขอสารภาพแบบอายๆ

ผมก็ไม่รู้วิธีการนี้เหมือนกันครับ

และเชื่อเถอะว่า ถ้าผมไม่รู้

พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่รู้เช่นกัน