กรองกระแส/กำหนดเลือกตั้ง เดือนสิงหาคม 2561 สัญญาประชาคม

กรองกระแส

กำหนดเลือกตั้ง เดือนสิงหาคม 2561 สัญญาประชาคม

ไม่ว่าจะเห็นด้วย ไม่ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเวลาของการเลือกตั้งอยู่ที่เดือนสิงหาคม 2561 มากด้วยความสำคัญ

จะไปตำหนิคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นการกำหนดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เหมือนที่ คสช. ยืนยัน เหมือนที่รัฐบาลยืนยัน

ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะจาก นายวิษณุ เครืองาม นั่นก็คือ โรดแม็ปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีความเชื่อหนาแน่นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า โรดแม็ปนี้อาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดและยืนยัน กระทั่งส่วนหนึ่งมั่นใจว่าไม่น่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2561 ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ หากแต่น่าจะเป็นปี 2562 มากกว่า

แต่คำประกาศอันมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เท่ากับเป็นการตอกย้ำ ยืนยันว่าจะต้องเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2561

อนิจจังโรดแม็ป

เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คนไทยปรับตัวเข้ากับความเคยชินอย่างใหม่ในทางการเมือง

นั่นก็คือ ความไม่แน่นอนของคำสัญญา

เริ่มจากคำสัญญาที่ปรากฏผ่านบทเพลงว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่จากเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ผ่านเดือนพฤษภาคม 2558 ผ่านเดือนพฤษภาคม 2559 และผ่านเดือนพฤษภาคม 2560 และจะต้องผ่านเดือนพฤษภาคม 2561 อย่างแน่นอน

คำว่า “ไม่นาน” จึงอยู่ในกรอบไม่น้อยกว่า 4-5 ปี

ยิ่งกว่านั้น คำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” นั้นสัมพันธ์กับการสร้างความเข้าใจในเรื่องของการเลือกตั้งอย่างที่เรียกว่า “โรดแม็ป”

มีความเชื่อในเบื้องต้นว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2558

แต่แล้วก็เกิดคำประกาศอย่างที่เรียกว่า “ปฏิญญาโตเกียว” ต่อหน้า ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2559 แต่แล้วก็เกิดคำประกาศอย่างที่เรียกว่า “ปฏิญญานิวยอร์ก” ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560

แต่แล้วจากปี 2558 ก็เลื่อนเป็นปี 2559 และจากปี 2559 ก็เลื่อนเป็นปี 2560 และจากปี 2560 ก็เลื่อนเป็นปี 2561

นี่คือ อนิจจังแห่ง “โรดแม็ป” อันยืนยันสภาวะที่ไม่แน่นอน

กำหนดเลือกตั้ง

กกต. เน้นปี 2561

แท้จริงแล้ว คำประกาศอันมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561 มิได้เป็นเรื่องใหม่

เป็นคำประกาศอย่างที่ คสช. และรัฐบาลยืนยัน

ไม่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ว่า คสช. ไม่ว่ารัฐบาล ต่างอิงอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560

และจากเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมาคือการทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศอันคึกคักของการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ การตระเตรียมเพื่อสร้างความพร้อมก่อนการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561

นี่คือความเชื่อโดยพื้นฐานภายในสังคมไทย

คำประกาศกำหนดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561 จึงเป็นเหมือนการตอกย้ำและยืนยันอีกครั้งหนึ่งต่อสังคมและประชาชนไทย

เป็นคำมั่นว่าจะต้องมี “การเลือกตั้ง” อย่างแน่นอน

เป็นคำมั่นว่านับแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนสิงหาคม 2561 คือการก้าวแต่ละก้าวไปสู่กระบวนการของการเลือกตั้งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

คำมั่นนี้จึงเป็น “โรดแม็ป” เป็น “สัญญาประชาคม”

สัญญาประชาคม

กว้างไกลสู่สากล

สายตาทุกสายตาไม่ว่าจากคนไทยในประเทศ และจากประชาคมนานาอารยประเทศทั่วโลกจึงให้ความสนใจไปยังการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2561

นี่คือสัญญาที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่า คสช. ไม่ว่า ครม. ไม่ว่า สนช. ไม่ว่า กรธ. ไม่ว่า สปท. อันถือว่าเป็น “แม่น้ำ 5 สาย” จักต้องทำให้คำมั่นสัญญานี้ปรากฏเป็นจริงให้จงได้

1 เพื่อทำให้ความเชื่อที่ว่าไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 เป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อน

ขณะเดียวกัน 1 เพื่อทำให้ความเชื่อต่อ “แม่น้ำ 5 สาย” อันร่วมกันรับผิดชอบประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา มีเกียรติภูมิอย่างเป็นจริง

มิใช่ไม้หลักปักเลน