กู่ก้องรำลึก 12 ปี เหตุลุกฮืออุรุมชี พร้อมคำถามย้อนกลับจาก ‘จีน’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

กู่ก้องรำลึก 12 ปี เหตุลุกฮืออุรุมชี

พร้อมคำถามย้อนกลับจาก ‘จีน’

 

การลุกฮือของชาวมุสลิมอุยกูร์และการปราบปรามของรัฐบาลจีนในมณฑลซินเจียงอันเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายแบบแข็งกร้าวและปราบปรามชนกลุ่มน้อยจนถึงปัจจุบันได้บรรจบครบรอบ 12 ปีแล้วในปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 กรกฎาคม ปี 2009 (2552) ผลพวงจากนโยบายของจีนในการโยกย้ายประชากรชาวฮั่นเข้าสู่เขตปกครองตนเองซินเจียงที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นจุดมุ่งหมายของรัฐบาลจีนในการกลืนวัฒนธรรมและเชื้อชาติให้ผสมกับชาวฮั่นและกลายเป็นส่วนหนึ่งพลเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าว กลับสร้างผลลัพธ์ชวนตึงเครียดและการกีดกัน จนเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวฮั่นกับชาวอุยกูร์ถึงขั้นทำร้ายใช้ความรุนแรงกัน

ขยายต่อลุกลามเป็นการลุกฮือต่อต้านการกลืนวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเมืองหลวงของซินเจียงอย่างอุรุมชี ทำให้รัฐบาลจีนส่งกองกำลังเข้าปราบปรามและจับกุม แต่เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเซ็นเซอร์อย่างหนักเพื่อไม่ให้เรื่องนี้หลุดรอดออกสู่สาธารณชนหรือนอกประเทศ

แต่เรื่องก็รั่วไหลสู่สื่อต่างชาติและกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จีนในการใช้ความรุนแรงกับชาวอุยกูร์

แม้จะเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่จีนที่คำนึงถึงเสถียรภาพและความเป็นบูรณภาพดินแดนของตัวเองมากกว่า การลุกฮือในกรุงอุรุมชีคือผลลัพธ์ที่ทำให้จีนตัดสินใจใช้เครื่องมือเชิงนโยบายในการปราบปรามชาวอุยกูร์หนักขึ้นเพื่อทำลายอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่ไม่ใช่จีนออกไปให้สิ้น เปลี่ยนชาวอุยกูร์เป็นพลเมืองที่ยึดถืออุดมการณ์แบบรัฐคอมมิวนิสต์จีน

แต่บาดแผลทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นไม่อาจลบเลือนจากความทรงจำของอุยกูร์ทั่วโลกไปได้

 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวอุยกูร์และชาวทิเบตพลัดถิ่นได้รวมตัวกันประท้วงหน้าสถานทูตจีนในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เพื่อรำลึกเหตุการณ์เลือดที่พวกเขามองว่าเป็น “เหตุสังหารหมู่” จากรัฐบาลจีน

โดยมีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวน 50 คน ทำการประท้วงอย่างสันติหน้าสถานทูต

นอกจากที่อังกฤษ ยังมีการเดินประท้วง 15 วัน จัดขึ้นโดยสมาคมเตอร์กิสตะวันออกในแคนาดา เพื่อประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์โดยรัฐบาลจีน

และที่สำคัญ ไม่กี่วันต่อมา 7 กรกฎาคม นายแอนโทนี บลิงเก้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้พบแบบประชุมทางไกลกับผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันชาวอุยกูร์และญาติของผู้ถูกควบคุมตัวในซินเจียง

รมต.บลิงเก้นได้ให้คำมั่นว่ารัฐบาลสหรัฐจะทำการกดดันจีนให้ยุติการก่อการสังหารหมู่ชาวอุยกูร์ที่กำลังดำเนินอยู่

ต่อมาโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า รมต.บลิงเก้นได้พบผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน นักรณรงค์สิทธิและญาติของผู้ถูกควบคุมตัวในซินเจียง และแสดงให้เห็นว่า สหรัฐแน่วแน่ที่ทำงานร่วมกับชาติพันธมิตรและชาติหุ้นส่วนเพื่อเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาชนจีนยุติการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับชาวอุยกูร์ในซินเจียง

ทั้งนี้ สหรัฐหลังจากโจ ไบเดน นั่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐก็ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น

โดยหลายเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน กลายเป็นชาติแรกในโลกที่เรียกการกระทำของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์ว่าเป็นว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

อีกทั้งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2021 ซึ่งชี้ว่าจีนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับเลวร้าย อันเนื่องจากการยกระดับกดขี่ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นมากขึ้น

รายงานยังกล่าวหาจีนใช้เครื่องมือในการสอดแน่มและการตั้งข้อหาทางอาญาเพื่อลักพาตัวหรือจับกุมชาวมุสลิมกว่า 1 ล้านคน ซึ่งรวมถึงชาวอุยกูร์, ชาวฮุยและชาวคาร์ซัคไปอยู่ในค่ายกักกันที่ตั้งอยู่ในซินเจียงกว่า 1,200 แห่ง

 

อย่างไรก็ตาม สถานกงสุลจีนประจำนครโตรอนโตได้ออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะตอบโต้แบบการทูตหมาป่า ทั้งในเรื่องเหตุการณ์ลุกฮือในอุรุมชี พร้อมตั้งคำถามกลับไปยังสหรัฐและกองกำลังต่อต้านจีนว่า พวกเขาใส่ใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงจริงหรือ? ไม่ใช่เลย พวกเขากำลังใช้สิ่งเหล่านี้ทำลายการพัฒนาในซินเจียง ใช้ปมซินเจียงเป็นประเด็นการเมือง เพื่อบั่นทอนกิจการภายในของซินเจียง แทรกแซงกิจการภายในของจีนและควบคุมไม่ให้จีนมีการพัฒนา

นอกจากนี้ จีนยังตอบโต้หลายเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง โดยชี้ว่า หลักฐานที่ออกมากล่าวมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์นั้น

เป็นคำลวงและคำโกหก