กำไรในขาดทุน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

กำไรในขาดทุน

วันเวลาที่ผมนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียวเพิ่งจะมีพิธีปิดอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ เมื่อคืนที่ผ่านมา พอดีกับที่ค่ำวานนี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสของบ้านเราได้มีรายการสารคดีเรื่อง Olympic Focus เล่าถึงเบื้องหลังการจัดงานในแง่มุมต่างๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นเตรียมการมานานปี และด้วยความพิถีพิถัน

ยกตัวอย่างข้อมูลและความรู้ที่ผมได้รับจากรายการโทรทัศน์เมื่อคืนนี้ เช่น การแข่งขันโอลิมปิกอย่างนี้เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่าเป็นโอลิมปิกฤดูร้อน เพราะเป็นฤดูร้อนหรือซัมเมอร์ในประเทศหลายประเทศรวมทั้งประเทศญี่ปุ่นด้วย

อากาศในฤดูร้อนเมืองญี่ปุ่นนั้นร้อนเอาเรื่องเอาราวทีเดียว การแข่งขันกีฬากลางแจ้งหลายรายการจึงต้องคิดรายละเอียดเรื่องนี้ให้จงหนัก เช่น การแข่งไตรกีฬา ซึ่งมีทั้งวิ่งว่ายน้ำ และถีบจักรยาน ดีไม่ดีนักกีฬาและคนดูจะพาลเป็นลมเป็นแล้งเอา

การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้รู้สภาพอากาศที่ตัวเองต้องเผชิญ ทั้งฝ่ายผู้จัดรายการแข่งครั้งก็สามารถเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ ได้ดี

 

รายการโทรทัศน์เมื่อคืนทำให้ผมได้เห็นการทำงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่มีอาชีพให้บริการพยากรณ์อากาศแบบแม่นยำ เจาะลึกเป็นพื้นที่เฉพาะเจาะจง ใช้เครื่องมือทันสมัยใช้คนที่มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานร่วมกัน

นี่ก็เป็นความรู้ใหม่ครับว่าบริษัทแบบนี้ก็ขายบริการพยากรณ์อากาศได้ และไม่ได้ขายเฉพาะกรรมการจัดงานโอลิมปิกเท่านั้น แต่น่าจะแปลว่าเขาขายพยากรณ์อากาศอย่างนี้มาต่อเนื่องเป็นอาชีพแล้ว

สมมุติว่าบริษัทแห่งหนึ่งอยากจะจัดงานกลางแจ้ง ต้องลงทุนหลายเงินอยู่ เจ้าของบริษัทก็คงอยากรู้ว่า งานของเราจะโดนฝนถล่มหรือไม่ การรู้ล่วงหน้าก็สามารถรับมือได้ดีกว่าไม่รู้ ครั้นจะไปถามกรมอุตุนิยมวิทยาท่านก็อยู่สูงศักดิ์เกินกว่าจะไปถามได้ เราก็ต้องซื้อข้อมูลจากบริษัทแบบนี้ล่ะครับ

เรื่องพื้นผิวถนนสำหรับการวิ่งแข่งมาราธอนก็ดี ลานกว้างสำหรับประชาชนที่จะต้องมายืนรอชมการแข่งขันก็ดี ประเทศญี่ปุ่นเขาคิดละเอียดไปจนถึงเรื่องอุณหภูมิความร้อนที่จะระอุและแผ่ซ่านขึ้นมาจากพื้นผิวเหล่านั้น นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจึงต้องคิดวิธีการที่จะลดความร้อนด้วยวิธีการต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของวัสดุปูพื้นหรือสีที่ทาบางๆ ฉาบผิวหน้าของพื้นถนน ล้วนส่งผลต่ออุณหภูมิความร้อนที่กระทบต่อความสามารถของนักกีฬาและความสุขสบายของผู้ชมทั้งสิ้น

เฉพาะแค่เรื่องทาสีผิวถนน ก็ทำให้อุณหภูมิลดลงไปได้ถึง 10 องศาเซลเซียสแล้ว

 

กระบวนการคิดเล็กคิดน้อยของญี่ปุ่นนั้นกระจัดกระจายอยู่ในทุกเรื่อง เช่น การคิดรูปแบบตัวสัญลักษณ์ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Mascot เขาก็สร้างขึ้นจากจินตนาการของการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งปวง มีหลายรูปแบบเต็มที

แล้วใครเป็นคนตัดสินทราบไหมครับ

คนที่เป็นกรรมการไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิ (แบบผม ฮา!) หากแต่เป็นเด็กนักเรียนจำนวนนับหมื่นคนตามโรงเรียนต่างๆ ร่วมกันเป็นกรรมการลงมติคัดเลือก

เจ้ามาสคอตที่ได้มา จึงเป็นขวัญใจของเด็กและหมายความรวมถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของเด็กอีกจำนวนมาก ไม่ใช่ขวัญใจของกรรมการ

หลายท่านย่อมทราบดีแล้วว่าหลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกชุดใหญ่ผ่านไปแล้วจะมีการแข่งขันกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าพาราลิมปิก ซึ่งเป็นการแข่งขันของคนพิการทั้งหลายต่อเนื่องกันไป ในสนามกีฬาแห่งเดียวกันและในเมืองเดียวกันกับโอลิมปิกฤดูร้อน

นั่นหมายความว่าการเตรียมการสำหรับกรุงโตเกียวทั้งเมือง จึงต้องคิดเผื่อไปถึงเรื่องผู้ที่มีข้อจำกัดในทางร่างกายในแง่มุมต่างๆ ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ทางเดินที่มีสัญลักษณ์พิเศษเป็นเครื่องหมายนูนน้อยๆ สีเหลืองสำหรับผู้ที่พิการทางสายตา ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า Braille Block ที่แม้มีมาแต่เดิมบ้างแล้วแต่ยังมีไม่เพียงพอ เขาก็ทำเพิ่มเติมขึ้น และนำไปผสมผสานเข้ากับแอพพลิเคชั่นยุคใหม่ที่อยู่บนมือถือ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทราบรายละเอียดต่างๆ ประกอบกับสัญลักษณ์พิเศษบนทางเดินนั้นได้

เช่น มีข้อมูลอยู่บนโทรศัพท์ซึ่งส่งเสียงเป็นคำพูดให้ผู้พิการทางสายตาทราบว่าห้องน้ำใกล้ที่สุดอยู่ทางทิศไหน ห่างไปกี่เมตร เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอย่างไร ทั้งหมดนี้ใช้งานคู่กันกับสัญลักษณ์พิเศษทางเดิน

ทุกอย่างเป๊ะไปหมด

 

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีกเรื่องหนึ่งคือ ญี่ปุ่นได้ใช้โอกาสนี้ให้เด็กและเยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ได้เรียนรู้เรื่องผู้พิการ และเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อคืนนี้ผมได้เห็นภาพของนักกีฬาที่นั่งบนเก้าอี้รถเข็นคนหนึ่ง เป็นสุภาพบุรุษชาวไทยชื่อคุณโชค คุณโชคนี้มีภริยาเป็นชาวญี่ปุ่น คุณโชคได้ไปเยี่ยมเด็กที่โรงเรียนและพูดคุยกับเด็กๆ ให้รู้จักตัวตนของผู้พิการ รวมตลอดไปถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด หรือทางเดินที่มีสัญลักษณ์พิเศษสีเหลืองอย่างที่ว่ามาข้างต้นด้วย

พูดคุยแล้วไม่พูดคุยเปล่า แต่ได้สาธิตและให้เด็กได้ทดลองดูด้วยว่า ถ้าเป็นคนพิการและต้องใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเหล่านั้นแล้ว จะสะดวกจริงหรือไม่ หรือจะสะดุด

สารคดีชุดพิเศษเมื่อคืนนี้ย้อนหลังไปถึงวันเวลาที่โตเกียวเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งก่อน ในปีคริสต์ศักราช 1964 ตรงกับพุทธศักราช 2507 ของบ้านเรา

ครั้งนั้นเป็นโอกาสที่กรุงโตเกียวได้ปรับปรุงระบบการเดินทางสาธารณะครั้งใหญ่เพื่อให้สามารถรองรับกับความจำเป็นในการใช้งาน

และระบบการเดินทางที่ได้ปรับปรุงแล้วนั้นก็เลยใช้เป็นประโยชน์ในการเดินทางของผู้คนทั้งหลายสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

 

ที่เล่ามาทั้งหมดยืดยาวนี้เพื่อจะชวนท่านทั้งหลายคิดต่อไปว่า ถึงแม้การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ของญี่ปุ่นจะขาดทุนป่นปี้ ถ้ามองในแง่ของตัวเงิน เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และเป็นการลงทุนถึงสองรอบเสียด้วยเพราะที่แต่เดิมคิดจะจัดการแข่งขันเมื่อปีก่อนกลับต้องเลื่อนมาจัดในปีนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก

ขณะเดียวกันกับที่รายรับจากผู้เข้าชมก็แทบจะเป็นศูนย์ เพราะสถานการณ์ของโรคระบาดที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นได้คืออะไรครับ

ในสายตาของชาวโลกอย่างผม ผมได้เห็นสมองคิดของคนญี่ปุ่น ได้เห็นวิธีคิดของคนญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผสมผสานวัฒนธรรมที่แสดงออกชัดเจนทั้งในพิธีเปิดพิธีปิด

วัฒนธรรมในที่นี้ไม่ใช่วัฒนธรรมโบราณที่ไม่ปรับเปลี่ยน หากแต่เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานความเก่าและความใหม่เข้าด้วยกันโดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเองแต่ก็ไม่ปฏิเสธความเป็นไปในอนาคต

เรื่องของการรักธรรมชาติรักสิ่งแวดล้อม รายละเอียดเกี่ยวกับเหรียญรางวัลก็ดี วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างก็ดี ล้วนแต่มีที่มาที่ไป ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การนำของที่อาจจะถูกทิ้งทำลายแล้วกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่งเพื่อประหยัดทรัพยากร

ผมได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของคนญี่ปุ่น อย่างที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้วสองสามเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยากรณ์อากาศ การลดอุณหภูมิของผิวถนน การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์ในการนำทางผู้พิการควบคู่กับเส้นทางเดินพิเศษ แค่เห็นสองสามเรื่องนี้ ก็ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างยิ่งแล้ว

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะบอกว่า ญี่ปุ่นเขาเป็นเศรษฐี คิดจะทำอย่างไรก็ทำได้

ผมยอมรับว่าเป็นความจริงบางส่วน

แต่อีกบางส่วนไม่ต้องเป็นเศรษฐีก็ทำได้ครับ

ยกตัวอย่าง เช่น การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันให้คะแนนตัดสินว่าจะเลือกแบบมาสคอตตัวใดมาเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขัน การขยายความรับรู้ของเด็กรุ่นใหม่เกี่ยวกับเรื่องการที่จะอยู่ร่วมกันกับคนพิการ และเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ประคับประคองอุ้มชูซึ่งกันและกัน

หรืออีกมุมหนึ่งก็คือเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ตั้งแต่เรื่องพยากรณ์อากาศโดยบริษัทเอกชน การวิจัยลดความร้อนของสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย

เรื่องอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับเศรษฐีหรือยาจก

แต่เกี่ยวกับวิธีคิด

ผมอาจจะต้องพูดย้ำกับเรื่องที่เคยพูดมาแล้วในเวทีแห่งนี้บ้างอีกสักครั้งหนึ่ง นั่นคืออย่าปล่อยให้พิธีการมากครอบงำจนลืมสาระ แล้วมองข้ามประโยชน์ที่จะได้จากพิธีการหรือกิจกรรมไปอย่างน่าเสียดาย

บ้านเราเวลาจัดงานอะไรก็แล้วแต่ ผู้เข้าร่วมงานมักมีฐานะไม่แตกต่างจากต้นไม้กระถางที่นำมาประดับงานเท่าไหร่ ขอให้วางเต็มพื้นที่เข้าไว้ก็แล้วกัน เวลาถ่ายรูปออกมาแล้วจะได้สวยดี

คนมาร่วมงานก็มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้เพราะเขาเกณฑ์มา

จะพูดอะไรเขาก็ไม่ให้พูด จะถามอะไรก็ไม่ให้ถาม ทุกอย่างกระทบความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไปเสียทั้งหมด

การจัดงานทั้งปวงเป็นของกรรมการ เพื่อกรรมการ และโดยกรรมการ คนอื่นไม่เกี่ยว

กรรมการก็ได้เงินเดือนและเบี้ยประชุมกันไปถ้วนทั่ว แถมบางทียังไปจ้างบริษัทของน้องชายประธานกรรมการมาจัดงานเสียด้วยสิ

ฟังดูคุ้นจังเลย อิอิ