คู่มือการเมือง : ผลงานของผู้พิพากษาที่หันเข้าหามวลชน/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

คู่มือการเมือง

: ผลงานของผู้พิพากษาที่หันเข้าหามวลชน

 

“การปกครองทุกประเทศ ทุกสมัยต้องเก็บภาษีจากราษฎรเพื่อบำรุงราษฎรด้วยกันทั้งนั้น มิฉะนั้นก็จะไม่มีเงินจ่ายเป็นค่าใช้สรอย เงินเดือนให้ผู้บริหาร…บางประเทศก็เก็บภาษีอย่างไม่ยุติธรรม ฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติครั้งใหญ่ก็เพราะรีดภาษีแก่คนจนถ่ายเดียว จนคนจนไม่มีเลือดจะให้รีด จึงเกิดลุกเป็นไฟขึ้น “(เทพ โชตินุชิต, 2479)

เมื่อครั้งที่ไทยยังปกครองในระบอบราชาธิปไตย ชนชั้นนำเห็นราษฎรเป็นเพียง “…ผม, ขน เปรียบด้วยราษฎร เมื่อขาดไปเส้นหนึ่งก็ไม่สู้กระไรนัก แต่เมื่อขาดไปหลายๆ เส้นก็ดูโหรง แม้ถึงพวกราษฎรก็เหมือนกัน ถ้าตายไปคนหนึ่งก็ไม่สู้กระไรนัก แต่ถ้าตายไปมากบ้านเมืองก็จะเงียบเหงา” (อรรถจักร สัตยานุรักษ์, 2541)

เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว หนังสือการเมืองเล่มหนึ่งสะท้อนอารมณ์แห่งยุคสมัยว่า “ในทุกวันนี้ สิทธิทั้งหลายของมนุษย์ได้มีลักษณะสุกปลั่งขึ้นมาก แต่เฉพาะสยามของเรา สิทธิของมนุษย์ได้ถูกเหยียบย่ำมาหลายร้อยปี เดชะบุญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้มีคณะชนหมู่หนึ่งมีปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้เห็นประเทศรีบรุดไปสู่ความเจริญ กอปรด้วยรู้สึกทนไม่ได้ในการที่เห็นสิทธิและเสรีภาพต้องจมอยู่ในความมืด…” (จินดา พันธุมจินดา, 2481)

ในปลายทศวรรษ 2470 ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ปรากฎหนังสือที่ให้ความรู้ทางการเมืองพรั่งพรูออกสู่สังคมจำนวนมาก รวมทั้ง “คู่มือการเมือง” (2479) ของเทพ โชตินุชิต ด้วย

เทพพบโจวเอินไหล (2498) และหนังสือเยือนปักกิ่ง ที่แคล้ว นรปติ บันทึกการเดินทางครั้งนั้น

ผู้พิพากษาผู้เดินออกจากบัลลังก์

ข้ามมายังสภาผู้แทนราษฎร

เทพ โชตินุชิต (2450-2517) เป็นชาวนครปฐม เกิดในครอบครัวข้าราชการผู้น้อย ด้วยครอบครัวไม่สามารถส่งให้เข้าเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมได้ เขาจึงหันการเรียนเข้าโรงเรียนกฎหมายจนสำเร็จเนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) (2475) เขาเคยเป็นผู้พิพากษา ผู้แทนราษฎร (ศรีสะเกษ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคเศรษฐกร (2498-2501) และพรรคแนวร่วม-เศรษฐกร (2511-2514)

หลังจบเนติบัณฑิต เคยทำงานเป็นเสมียนของสำนักงานทนายความพระบริหารนิติเกษตร์ จ่าศาลจังหวัด ผู้พิพากษา เขาไม่ชอบชีวิตราชการ ด้วยเห็นว่า ไม่สามารถสร้างสังคมที่เขาคาดหวังได้จึงลาออกสมัครผู้แทนฯ เมื่อ 2480 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.คนแรกของศรีสะเกษ และได้รับการเลือกตั้งต่อมาอีกหลายสมัย

สำหรับคู่มือการเมืองนั้น เขาพยายามรวบรวมสิ่งจำเป็นของผู้เอาใจใส่ต่อความเป็นไปของบ้านเมืองมาให้ท่านผู้อ่าน สำหรับ “ผู้ที่เขาไม่เอาใจใส่ ฤๅไม่อยากรู้ ทั้งที่เขาก็ควรจะรู้ ฤๅควรจะเอาใจใส่นั้น จงปล่อยให้เขาทั้งหลายอยู่ข้างหลังเถิด เรามาก้าวหน้า ก้าวไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ…” (เทพ โชตินุชิต, 2479) เนื้อหาภายในแบ่งเป็น 4 ส่วน

ส่วนแรกเป็นเรื่องแนวคิดการเมือง ประกอบด้วยเรื่องสหกรณ์บริโภค การบำรุงประเทศ การเสียภาษี คณะการเมือง กระแสเงินตรา การปกครอง เทศบาล

ส่วนที่สอง เป็นเรื่องกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น รัฐธรรมนูญสยาม กฎหมายป้องกันรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายจัดตั้งเทศบาล การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น กฎหมายปกครองท้องที่ ข้าราชการพลเรือน สาธารณสุข กฎหมายคอมมิวนิสต์ การบริหารราชอาณาจักร

ส่วนที่สาม เป็นเรื่องเรื่องรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ เขาแปลรัฐธรรมนูญของ ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส แนวคิดในการเลือกผู้แทนฯ และข้อสังเกตรัฐธรรมนูญแห่งสยาม

ส่วนที่สี่ เป็นเรื่องสถิติข้อมูลให้ผู้อ่านได้ทราบ เช่น จำนวนพลเมืองสยาม จำนวนพลเมืองแยกรายจังหวัด สถติการใช้ธนบัตร สถิติคดีแพ่ง อาญา จำนวนนักเรียน จำนวนโรงเรียน สถิติการค้า งบประมาณแผ่นดินสยามตั้งแต่ 2476

ในแต่ละหัวข้อ เขาสอดแทรกความเห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องสหกรณ์

เขาเห็นว่า “วิธีสหกรณ์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในโลกขณะนี้ เพราะไม่เป็นการบังคับขู่เข็ญผู้ใดให้ถูกรอนสิทธิและเสรีภาพแม้แต่น้อย…ในฐานะที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชานี้มาบ้างเล็กน้อยและมีปรารถนาอันแรงกล้าในอันที่จะให้กิจการสหกรณ์บริโภคนี้แพร่หลายแก่ชาวเราอย่างแท้จริง” เขาเล่าว่า เขาศึกษาแนวคิดและการจัดตั้งสหกรณ์ตามแนวทางของอังกฤษ

ในเรื่องการเสียภาษี เขายกตัวอย่างว่า “การปกครองทุกประเทศ ทุกสมัยต้องเก็บภาษีจากราษฎรเพื่อบำรุงราษฎรด้วยกันทั้งนั้น มิฉะนั้นก็จะไม่มีเงินจ่ายเป็นค่าใช้สรอยเงินเดือนผู้บริหาร…บางประเทศก็เก็บภาษีอย่างไม่ยุติธรรม ฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติครั้งใหญ่ก็เพราะรีดภาษีแก่คนจนถ่ายเดียว จนคนจนไม่มีเลือดจะให้รีด จึงเกิดลุกเป็นไฟขึ้น”

เขาเห็นว่า เมื่อไทยปฏิวัติแล้ว รัฐบาลระบอบประชาธิปไตยควรยกเลิกการเก็บภาษีตามระบอบเก่าที่เอาเปรียบราษฎร มาเป็นการเก็บภาษีแบบใหม่ที่เป็นธรรม เช่น ภาษีมรดก ภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินแทน เขาเห็นว่า ไทยควรมีการจัดเก็บภาษีมรดกเพราะ “ที่ผ่านมา เล่นกันอิหลักอิเหลื่อ เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่ภาษีไม่ใคร่รบกวนต่อผู้มั่งคั่งมานานแล้ว”

เขาเห็นว่า การจัดเก็บภาษีรายได้ สมควรเป็นภาษีใหม่ในระบอบประชาธิปไตยที่ต้อง “ขูดเลือดขูดเนื้อคนหาเงินได้มากๆ” เช่น คนกลุ่มที่มีชีวิตที่ฟุ่มเฟือย

เทพและสมาชิกสภาผู้แทนฯ กับนักหนังสือพิมพ์เยือนจีน พบเหมาเจ๋อตง 2498

หนังสือเล่มนี้ คาดว่าเขาเขียนขึ้นในช่วงอยากจะลาออกจากผู้พิพากษาเป็นผู้แทนฯในปี 2480 เขาเป็นผู้แทนฯ ได้ไม่นาน สภาถูกยุบ เขาจึงกลับเข้ารับราชการใหม่ในตำแหน่งผู้พิพากษา รับราชการในภาคอีสานนานหลายปี จึงมีความเข้าใจสภาพชีวิตของคนอีสาน

ในระหว่างนั้นเขาหารายได้เพิ่มจากการค้าขาย มวนบุหรี่ ทำนมข้นหวานกระป๋องและปลูกผักขายด้วย

มีความเป็นไปได้ว่า หัวข้อและความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือของเขาอาจถูกนำเสนอใช้เป็นแนวทางในการหาเสียงครั้งนั้น เขาเคยลงสมัครครั้งแรก (2480) ครั้งสอง (2490) ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (2491-2492) ต่อมามีเรื่องภายในพรรคเขาจึงแยกตัวจากพรรค เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (2493) ในรัฐบาลจอมพล ป. และลงเลือกตั้งครั้งที่ 3 (2500)

เมื่อมี พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2498 แล้ว เขาเคยก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา 2 พรรค คือ พรรคเศรษฐกร และพรรคแนวร่วม-เศรษฐกร อันเป็นพรรคแนวทางสังคมนิยม สำหรับแนวทางของพรรคเศรษฐกร (2498) มีเขาเป็นหัวหน้าพรรค และแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธิการพรรคต่อมา และมีการจดทะเบียนพรรคแนวร่วม-เศรษฐกร (2511)

เขาเคยเดินทางไปดูงานในประเทศจีน (2499) ภายหลังจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อกลับมาถูกจับ และได้รับการนิรโทษกรรมในปีเดียวกัน (2500)

ต่อมาถูกจับว่ามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ถูกจำคุกนานหลายปี (2501-2509)

หากตามรอยความสนใจปัญหาความทุกข์ยากของคนยากจนปรากฎตั้งแต่เขาเขียนคู่มือการเมืองแล้ว โดยเขานำเสนอแนวคิดเรื่องสหกรณ์ สะท้อนให้เห็นว่า เขามีความสนใจการสร้างความเป็นธรรมมาตั้งแต่หนุ่ม

ดังที่เขียนว่า “มนุษย์เราเกิดมาต้องใช้ต้องรับประทาน มนุษย์ทุกคนไม่ได้หามาได้เอง จึงจำต้องแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จึงเกิดเงินตราเป็นวัตถุแลกเป็นวัตถุกลาง เรียกว่าซื้อขาย…บางคนต้องการกำไรมากๆ เพื่อรวยเร็วๆ ก็ขายแพงกว่าต้นทุนมากๆ… ส่วนบางบุคคลบางพวกมีรายได้เพียงพอใช้พอกิน ฤๅค่อนข้างฝืดเคือง เป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นค้นคว้าหาทางที่จะทำให้พวกเขาได้ใช้ของใช้ของถูกพอควรแก่รายได้ตามแรงงานของเขา โดยกำไรที่ควรได้จะกลับไปอยู่ในหมู่พวกเขาเอง กิจเหล่านี้เขาเหล่านั้นจะต้องร่วมกันกระทำด้วยเรื่องสหกรณ์บริโภค”

แม้เขาจะสนใจความคิดสังคมนิยมมาแต่หนุ่ม แต่เขาประกาศตนเป็นนักสังคมนิยมในปี 2495 และเป็นจวบจนวันตาย (สุวัฒน์ วรดิลก, 2517)

หลังจากพ้นโทษการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว เมื่อปี่กลองทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยดังขึ้นเมื่อไร เขามีความกระตือรือร้นที่อาสาเป็นผู้แทนราษฎรเสมอ แม้ในช่วงหลังเขาไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม ด้วยเหตุการต้องโทษในยุคเผด็จการทหารทำให้เขาสูญเสียทรัพย์สินในการต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก

แม้ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาหวังที่จะอาสาเป็นตัวแทนประชาชนอีกครั้ง แต่เขาถึงแก่กรรมเสียก่อน เมื่อ 7 เมษายน 2517 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุได้ 67 ปี