วิกฤตและความรุนแรง! ความคับข้องใจทางการเมืองยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

วิกฤตและความรุนแรง!

ความคับข้องใจทางการเมือง

 

“คนที่มีความคับข้องใจ [ทางการเมือง] มีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง”

Ted Robert Gurr

Why Men Rebel (1970)

 

ผู้นำทหารที่มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐตั้งแต่รัฐประหาร 2557 และใช้การเลือกตั้งในตอนต้นปี 2562 เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนตนเองจาก “รัฐบาลทหาร” มาเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง”…

การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงปัจจัยในการลดทอนแรงกดดันต่อรัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ เพื่อให้รัฐบาลใหม่ของผู้นำรัฐประหารไม่ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองมากเกินไป

อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้นำรัฐบาลทหารว่ามาจากการเลือกตั้ง หรือเป็นการใช้การเลือกตั้งเป็นหนทางของการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่ผู้นำรัฐประหารที่ต้องการก้าวสู่การเมืองในยุคหลังเลือกตั้ง

แต่การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน และไม่มีผลงานเชิงนโยบายเป็นที่ประจักษ์ ย่อมทำให้รัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

และยิ่งเมื่อรัฐบาลต้องเผชิญกับ “วิกฤตโรคระบาด” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลกลับไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและขีดความสามารถของระบบ การบริหารจัดการวิกฤตโคคิด-19 ประสบปัญหา และเป็นประเด็นที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ผลที่เกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การที่รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากประชาชนอย่างหนัก

อันอาจกล่าวได้ว่าไม่มียุคใดสมัยใดที่ผู้คนในสังคมจะส่งเสียงต่อต้านรัฐบาลมากมายเท่านี้ อีกทั้งยังน่ากังวลอย่างมากกับการยกระดับของความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นจากการส่งข้อความของประชาชนในหลายภาคส่วน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความ “เกลียดชัง” และการ “ไม่ไว้ใจ” รัฐบาล

จนเราอาจต้องยอมรับว่า ไม่เคยมีครั้งไหนเลยในการเมืองไทย ที่คนในสังคมเป็นจำนวนมากจะแสดงออกถึงการต่อต้านผู้นำรัฐบาลเช่นในปัจจุบัน

ชีวิตของผู้คนในสังคมไทยที่กำลังถูกทำลายจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดความ “คับข้องใจ” (frustration) ทางการเมืองอย่างมาก

ฉะนั้น ความคับข้องใจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรในอนาคต และความคับข้องใจเช่นนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองด้วยหรือไม่

 

วิกฤตและการเมือง

ทฤษฎีความรุนแรงทางการเมือง (political violence) ในวิชารัฐศาสตร์ถือว่าการขยายตัวของ “ความเกลียดชัง” ที่ผสมผสานเข้ากับ “ความคับข้องใจ” ทางการเมืองในท่ามกลางวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมาก

เพราะ “อารมณ์ทางการเมือง” จากความคับข้องใจ คือตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มของการเกิดความรุนแรงทางการเมืองที่ชัดเจนในตัวเอง

กล่าวคือ วิกฤตก่อให้เกิดความคับข้องใจ ซึ่งจะเป็นตัวแปรตรงที่นำไปสู่การเกิดของความรุนแรงทางการเมือง

หรือโดยนัยคือวิกฤตเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ข้อสังเกตทางทฤษฎีในอีกด้านหนึ่งคือ ประเด็นในเรื่องของผลกระทบ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ

และอาจกล่าวเป็นข้อสรุปได้ว่า ไม่มีวิกฤตชุดใดจบลงโดยปราศจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะวิกฤตในตัวเองชี้ให้เห็นถึงสภาวะของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกครองได้ (ungovernability)

และอาจเกิดสภาวะที่ปัญหาใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลจะสามารถแบกรับได้ (governmental overload) จนทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตไม่ประสบความสำเร็จ

สภาวะเช่นนี้ทำให้วิกฤตมีความหมายถึง “ความผิดปกติ” (dysfunction) ของระบบ [เช่น ในทางการแพทย์ วิกฤตหมายถึง “ความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย”]

นอกจากนี้ เวลากล่าวถึง “วิกฤต” เราคงต้องทำความเข้าใจว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาขนาดใหญ่ของสังคม ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของผู้คนในสังคมโดยรวม

ภาวะเช่นนี้ทำให้วิกฤตดังกล่าวกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” (political crisis) ไปด้วย [คำนี้จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “วิกฤตรัฐบาล” (government crisis)] วิกฤตด้านหนึ่งสร้างความคับข้องใจในหมู่ประชาชน ยิ่งวิกฤตรุนแรงเท่าใด ก็มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้มากเท่านั้น

และในอีกด้านหนึ่งทำให้เกิดข้อเรียกร้องที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลและ/หรือผู้นำทางการเมืองเท่านั้น

ซึ่งก็คือการเรียกร้องในระดับที่กว้างขึ้นที่ต้องการเห็นระเบียบการเมืองใหม่หลังจากการยุติของวิกฤต

การแก้ปัญหาวิกฤตจึงมีความหมายถึงการเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง เพราะวิกฤตที่เกิดเป็นคำตอบในตัวเองว่า นโยบายเดิมของรัฐบาลประสบความล้มเหลว

หรือในอีกระดับหนึ่งคือ การแก้ไขวิกฤตอาจมีนัยถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางการเมืองด้วย

การที่ระเบียบทางการเมืองใหม่ถือกำเนิดขึ้นนั้น เป็นเพราะระบอบการเมืองเก่าไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดในสังคมได้

อีกทั้งวิกฤตดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของระบอบเดิม รวมถึงการไร้ความสามารถของผู้นำ/ชนชั้นนำเดิมในระบอบนั้น ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อวิกฤตจบลง สังคมจึงต้องการเปลี่ยนทั้งระเบียบการเมืองเก่า และกลุ่มผู้นำเก่า/ชนชั้นนำเก่าออกไปพร้อมกัน

จากในเงื่อนไขข้างต้น วิกฤตจึงมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับสถานะของชนชั้นนำ

หรืออาจกล่าวได้ในอีกมุมหนึ่งว่า วิกฤตในสังคมคือสัญญาณของ “วิกฤตของชนชั้นนำ” ที่สะท้อนให้เห็นจากความล้มเหลวของระบอบการปกครองเดิม ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตได้

ความน่ากลัวในทางทฤษฎีคือ วิกฤตเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงความ “อ่อนแอ” ของระบอบเดิมและความ “อ่อนด้อย” ของผู้นำเดิม

ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา คือ

1) วิกฤตการบริหารจัดการ (ความสามารถของรัฐในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น)

2) วิกฤตความชอบธรรม (ปัญหาการสนับสนุนของประชาชน)

และ 3) วิกฤตศรัทธา (ปัญหาความเชื่อมั่นต่อผู้นำและระบอบการปกครองเดิม)

ซึ่งการรวมตัวของวิกฤตในสามส่วนนี้ คือการก่อตัวของ “วิกฤตการเมือง” อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของระเบียบเก่าและชนชั้นนำเดิม (หรืออาจเรียกว่าเป็น “วิกฤตของระบบ” การเมือง)

สมมุติฐานในข้างต้นชี้ให้เห็นว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกับระบบการเมือง ซึ่งมีฐานะเป็น “ศูนย์กลางอำนาจรัฐ” จะส่งผลกระทบโดยตรงกับความอยู่รอดของระเบียบการเมืองเดิม รวมถึงชนชั้นนำเดิมอีกด้วย ดังนั้น หากเกิดสภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ “ความอ่อนล้าของรัฐ”

และผลที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ได้

อีกทั้งในสภาวะเช่นนี้ มักจะมีความรุนแรงในการต่อต้านระบอบเก่าเกิดขึ้นด้วย

การเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์วิกฤตมีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบเสมอ

 

วิกฤตการเมืองไทย

ตัวอย่างของวิกฤตขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการจัดระเบียบการเมืองใหม่ของสังคมไทย ได้แก่

ปัญหาการเมืองไทยในยุครัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเสมอ ความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบทหารไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษ แต่เป็นการต่อสู้ที่ดำเนินสืบเนื่องระหว่างอุดมการณ์ “เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม” โดยมีพลังเสนานิยมเป็นผู้ชี้ขาด

กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการมาตั้งแต่ปี 2490 แต่การปกครองของรัฐบาลทหารก็สร้างวิกฤตในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความชอบธรรมของตัวระบอบ วิกฤตขีดความสามารถของระบอบเก่าที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาใหม่

เช่น วิกฤตพลังงานในปี 2516 และเมื่อเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางที่ไม่พอใจรัฐบาลทหารแล้ว ปัญหาต่างๆ ในระบอบทหารก็พร้อมที่จะขยายตัวเป็นวิกฤตได้ไม่ยาก ความไม่พอใจของนักศึกษาประชาชนปะทุเป็นการประท้วงใหญ่

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จบลงด้วยการสิ้นสลายของระบอบทหารของจอมพลถนอม ในที่สุด คณะสามทหารของปี 2516 (จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร-พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร) ต้องเดินทางลี้ภัยออกจากประเทศไทย ชัยชนะครั้งสำคัญของนักศึกษาประชาชนในปีดังกล่าวทำให้เกิดระเบียบการเมืองใหม่ คือเกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารสู่ระบอบประชาธิปไตย (transition to democracy) และยังเป็นการเริ่มต้นของผู้นำทหารชุดใหม่ อันเป็นการปิดฉาก “คณะทหาร 2490” ที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหารครั้งนั้น และเป็นการสิ้นสุดอำนาจของผู้นำทหารที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เช่นเดียวกันชัยชนะของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทำให้ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร 2534 ต้องยุติลง และนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจทางการเมือง-การทหารของคณะทหาร “รุ่น 5” ที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นผู้นำ

อันมีนัยถึงการสิ้นสุด “ยุครุ่น 5” ในการเมืองไทย ซึ่งนายทหารรุ่น 5 เป็นกลุ่มทหารที่มีอำนาจอย่างมากในการเมือง “ยุคหลังยังเติร์ก” เพราะหลังจากความล้มเหลวในการทำรัฐประหารของ “กลุ่มยังเติร์ก” หรือนายทหาร “รุ่น 7” ในปี 2524 แล้ว กลุ่มรุ่น 5 เป็นพลังการเมืองสำคัญของฝ่ายทหาร และการสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร 2534 เพื่อจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ถูกต่อต้านอย่างมากจากสังคมในวงกว้าง จนนำไปสู่การประท้วงใหญ่และนองเลือดในปี 2535

ชัยชนะจากการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาประชาชนนำไปสู่สภาวะของ “การเมืองใหม่หลังปี 2535” หรือเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งหลังปี 2516 อีกทั้งยังเกิดผลสืบเนื่องที่นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระเบียบใหม่ในการเมืองไทยร่วมสมัย

 

ภูมิทัศน์ใหม่-ระเบียบใหม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า วิกฤตย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ

และเรากำลังเห็นถึงภูมิทัศน์การเมืองใหม่ของไทยในปี 2564 ที่เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนจากการต่อสู้เรียกร้องขนาดใหญ่ของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ แทบไม่ต่างจากปี 2516 และปี 2535

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ให้คำตอบที่ท้าทายอย่างมากว่า วิกฤตใหญ่ในการเมืองไทยมีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญ และมักจบลงด้วยการสิ้นสุดอำนาจของระบอบทหาร

ฉะนั้น จึงน่าสนใจว่า วิกฤต 2564 จะจบลงเช่นไร และจะส่งผลอย่างไรต่อบทบาทของทหารในอนาคตด้วย?