รถม้าลำปาง มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

“รถม้าลำปาง” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ตามคำขวัญที่ว่า “ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล อนุรักษ์ช้างให้ลือโลก”

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2458 รถม้าคันแรกของลำปางซื้อมาจากกรุงเทพฯ ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง สมัยนั้นรถม้าเป็นที่นิยมมากในกรุงเทพฯ เป็นพาหนะของหมู่เจ้าขุนมูลนาย และใช้เป็นรถประจำตำแหน่งของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก ต่อมากระจายความนิยมไปตามจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ

กระทั่งปี พ.ศ.2492 มีการก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนจังหวัดลำปาง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง มี เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เป็นนายกสมาคม

นับเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการรถม้าในจังหวัด

เดิมทีรถม้าในจังหวัดลำปาง มี 3 ประเภท

รถม้า 4 ล้อ รับจ้างทั่วไป ใช้ม้าลาก 1-2 ตัว หรือมากกว่า ตัวถังโค้งงอเป็นรูปท้องเรือ

รถม้า 2 ล้อ จะใช้ม้าลาก 1 หรือ 2 ตัว ใช้เป็นรถฝึกม้าหรือใช้ส่วนตัว

รถม้ากระบะ จะเป็น 4 ล้อ สมัยก่อนใช้ลากขนสินค้าหรือขยะมูลฝอย

สมัยต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ มีรถยนต์ใช้ รถม้าในเมืองหลวงก็เสื่อมความนิยมลง จึงถูกเคลื่อนย้ายไปต่างจังหวัด รวมทั้งมาเพิ่มจำนวนในจังหวัดลำปางด้วย

จากการสำรวจในปี 2507 ลำปางมีรถม้า 185 คัน แต่จำนวนก็ลดลงเรื่อยๆ ในปี 2536 รถม้าเหลือเพียง 50 คัน

และในปัจจุบันเหลือแต่รถม้ารับส่งนักท่องเที่ยวเท่านั้น

ม้าในจังหวัดลำปางส่วนใหญ่ เป็นม้าพันธุ์พื้นเมือง ตัวเล็กแต่ว่องไว เชื่องและฝึกง่าย หมู่บ้านที่นิยมเลี้ยงม้าขับรถม้าในปัจจุบันคือบ้านหม้อ อำเภอเมืองลำปาง เมื่อจะนำม้ามาบริการนักท่องเที่ยว จะมีการกำบังตาม้าไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ม้าตื่นตกใจง่ายเมื่อเห็นสิ่งผิดปกติ

อุปกรณ์ของรถม้าลำปางที่น่าสนใจคือตะเกียงแก้ว ของแท้มาจากต่างประเทศ ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว เนื่องจากถูกเปลี่ยนมาใช้ไฟแบตเตอรี่แทน เพราะมีความสว่างกว่า

กระดิ่งรถม้าแบบมี 2 ฝา ประกบกัน มีเหล็กเหยียบ เวลาดังจะมีเสียงสะท้อนเป็น 2 เสียง กังวานไพเราะเมื่อเวลาขับขี่ และเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงม้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน

คนกับม้า จะรักและผูกพันกันเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวเช่นเดียวกับควาย คนเลี้ยงม้าจะดูแลเอาใจใส่ม้าของตนอย่างดี แปรงขน พูดคุยกัน ให้อาหารโปรดของม้า ตอนค่ำจะสุมไฟไล่ยุงให้ หากม้าอารมณ์ดีจะใช้ปากงับเจ้าของเบาๆ เป็นการแสดงความรักตอบแทน

คนเลี้ยงม้าจะไม่ทรมานหรือรังแกม้า เพราะมีความเชื่อว่าการรังแกสัตว์จะทำให้การทำมาค้าขายไม่ขึ้น

คนลำปางจึงนิยมสู่ขวัญม้า เพื่อรำลึกถึงความดีงามของม้าที่ตอบแทนผู้เป็นเจ้าของ โดยนิยมทำในเทศกาลสงกรานต์ โดยเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยไปขอขมาที่เคยดุด่าว่ากล่าว หรือตีให้ม้าต้องเจ็บและเสียใจ จากนั้นก็จะเอาอาหารที่ม้าชอบให้กิน

ถือว่าเป็นการเสร็จพิธี