จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (15) ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (15)

ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ (ต่อ)

การปฏิรูปสองระยะ

กล่าวเฉพาะการปฏิรูปของซ่งไท่จู่โดยรวมแล้วก็คือ การให้ความสำคัญกับกิจการพลเรือนเป็นหลักและกิจการทหารเป็นรอง กิจการพลเรือนก็คือ เหวิน กิจการทหารก็คือ อู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ในยุคสมัยของซ่งไท่จู่จึงแก้ความขัดแย้งที่มีกับราชวงศ์เหลียว เซี่ยตะวันตก และจินด้วยการเน้นการเจรจามากกว่าการทำศึก เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคประชาสังคมด้วยมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ภาษี และระบบการเงิน

โดยบรรดาศึกษิต (scholars) ได้รับการสนับสนุนให้ทำการสำรวจธรรมชาติ ทำการทดลอง และประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร สิ่งทอ และเครื่องปั้นดินเผา การปรับปรุงคุณภาพเหล็กให้ดีขึ้น การต่อเรือ การสร้างยุโธปกรณ์ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมายหลายด้าน

จากนั้นนายวาณิชก็จะนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปสู่ตลาดทั่วทุกมุมเมืองของจักรวรรดิ1

 

การปฏิรูปที่ให้ความสำคัญกับกิจการพลเรือนนี้นับว่ามีผลต่อการปฏิรูปในรัชสมัยต่อๆ มา การปฏิรูปในสมัยซ่งโดยรวมแล้วมีอยู่สองระยะคือ ระยะอนุปฏิรูปกับระยะอภิปฏิรูป

อนุปฏิรูป (Minor Reform) หรือ ชิ่งลี่ซินเจิ้ง (Qingli New Deal) ผู้นำในการปฏิรูปคือ ฟั่นจ้งเอียน (ค.ศ.989-1052) ส่วนอภิปฏิรูป (Major Reform) ซึ่งในคำจีนมีคำเรียกต่างๆ คือ ซินฝ่า ซีหนิงเปี้ยนฝ่า และ ซีเฟิงเปี้ยนฝ่า โดยผู้นำการปฏิรูปคือ หวังอันสือ (ค.ศ.1021-1086)

และทำให้การปฏิรูปนี้มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า การปฏิรูปหวังอันสือ (Wang Anshi Reform) หรือ หวังอันสือเปี้ยนฝ่า

การปฏิรูปของฟั่นจ้งเอียนเริ่มที่กองทัพ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนับแต่ที่ซ่งตั้งวงศ์ขึ้นมาแล้วทำการรวมแผ่นดินนั้น ซ่งได้พัฒนากองทัพไปอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านกำลังพลที่เพิ่มขึ้นโดยลำดับ จนส่งผลให้งบประมาณทางด้านการทหารเพิ่มสูงตามไปด้วย ยิ่งในบางสมัยด้วยแล้วงบฯ ดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 ซึ่งนับเป็นภาระทางการคลังอย่างมาก

ครั้นถึง ค.ศ.1020 มีรายงานระบุว่า กำลังพลมีอยู่ 912,000 นาย และด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นี้ก็ส่งต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างกว้างขวาง และนำไปสู่วิกฤตใน ค.ศ.1045 เมื่อกำลังพลสูงถึง 1,259,000 นาย โดยที่อีก 40 ปีต่อมางบฯ ทางด้านการทหารก็สูงถึงร้อยละ 80 ของงบฯ ทั้งหมด

แต่การเพิ่มขึ้นของงบฯ ทางการทหารนี้มิใช่เป็นเพราะซ่งกระหายศึก หากแต่เป็นเพราะซ่งต้องเตรียมตั้งรับศึกที่มาจากชนชาติอื่นหลายชนชาติ โดยฟั่นจ้งเอียนเสนอให้ใช้ทหารบ้าน (militias) ให้มากขึ้นเพื่อลดภาระทางด้านงบประมาณลง

 

ใน ค.ศ.1043 ฟั่นจ้งเอียนได้เสนอการปฏิรูปในสิบด้านด้วยกันคือ ปรับระบบการเลื่อนขั้นขุนนาง ระงับการเลื่อนขั้นเพราะโชค คัดกรองผู้สอบเข้ารับราชการ คัดเลือกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ แบ่งสรรที่นาของทางการ สร้างผลผลิต ฝึกฝนและเตรียมกำลังรบ ลดความเข้มงวดด้านแรงงานเกณฑ์ แผ่พระเดชพระคุณ และเคารพในคำสั่ง

การปฏิรูปนี้จึงมุ่งให้การแต่งตั้งขุนนางหรือข้าราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้การเกษตร การผลิตผ้าไหม การสร้างเขื่อน และการหักร้างถางพงเพื่อบุกเบิกที่ดินทางการเกษตร และลดหน่วยงานราชการที่มีความซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นลง เป็นต้น

แต่กระนั้น การปฏิรูปของฟั่นจ้งเอียนจากที่กล่าวมานี้กลับมิได้รับการตอบสนองแม้ในระยะแรก และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การไม่กล้าตัดสินพระทัยและไม่เต็มพระทัยต่อข้อเสนอการปฏิรูปของจักรพรรดิซ่งเหญินจง (ครองราชย์ ค.ศ.1022-1063) เอง

และภายหลังการโต้เถียงกันภายในราชสำนักของขุนนางระดับต่างๆ ผ่านไประยะหนึ่ง การปฏิรูปของฟั่นจ้งเอียนก็มีอันต้องสลายตัวลงในที่สุด ตราบจนต้นปี ค.ศ.1045 เขาลาออกจากงานในราชสำนักโดยอาสาไปทำงานที่ชายแดนภาคเหนือของมณฑลสั่นซี

เขาใช้เวลาแปดปีในการบริหารมณฑลนี้จนประสบผลสำเร็จในหลายเรื่อง และไม่เคยหวนกลับไปยังราชสำนักอีกเลย

 

ภายหลังการปฏิรูปที่ล้มเหลวของฟั่นจ้งเอียนไปแล้ว การปฏิรูปก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสมัยจักรพรรดิซ่งเสินจง (ครองราชย์ ค.ศ.1067-1085) หรือหลังจากราชวงศ์ซ่งยืนมาได้ร้อยปีเศษ สาเหตุของการปฏิรูปในยุคนี้มาจากฐานะการคลังที่ง่อนแง่นของซ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำศึกกับชนชาติอื่นมายาวนาน

โดยขุนนางที่เป็นผู้นำในการปฏิรูปครั้งนี้คือ หวังอันสือ ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถตั้งแต่เยาว์วัย ครั้นอายุ 20 ก็สอบเข้ารับราชการระดับสูงได้ จากนั้นก็ผ่านตำแหน่งขุนนางในท้องถิ่นต่างๆ หลายตำแหน่ง และได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรในท้องที่ต่างๆ ยาวนานถึง 20 ปี

และด้วยกิตติศัพท์ของเขา จักรพรรดิซ่งเหญินจงจึงทรงให้เรียกตัวเขาเข้ามายังเมืองหลวง ทั้งนี้ เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ปัญหาการเงินการคลังในขณะนั้น แต่พอไปถึงเมืองหลวงเขาก็ถวายฎีกาต่อซ่งเหญินจงให้ทำการปฏิรูป

ส่วนซ่งเหญินจงซึ่งทรงยกเลิกการปฏิรูปที่ฟั่นจ้งเอียนเสนอจึงไม่ใส่ใจฎีกาของเขา ตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วมีจักรพรรดิองค์ใหม่ที่ครองราชย์ได้เพียงสี่ปีก็สิ้นพระชนม์อีก จากนั้นจักรพรรดิองค์ต่อมาคือ ซ่งเสินจง (ครองราชย์ ค.ศ.1067-1085) ซึ่งตอนขึ้นครองราชย์ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา

แต่ก็เป็นจักรพรรดิที่ปรีชาชาญไม่น้อย

ซ่งเสินจงทรงรู้จักหวังอันสือจากขุนนางคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกับหวังอันสือ และกิตติศัพท์ที่เพื่อนผู้นี้กล่าวถึงเขา ทำให้ซ่งเสินจงทรงต้องการหวังอันสือมาช่วงใช้ และตอนที่พระองค์ทรงแต่งตั้งเขาเป็นรองมหาอำมาตย์นั้นคือ ค.ศ.1069 เวลานั้นหวังอันสือมีอายุได้ 47 ปีแล้ว

และจากการหนุนช่วยของซ่งเหญินจง ก้าวแรกในการปฏิรูปของหวังอันสือจึงเต็มไปด้วยความกระตือรืนร้นและความมุ่งมั่น

โดยเขาได้เสนอการปฏิรูปผ่านสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายใหม่” (ซินฝ่า, New Policies)

 

ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วมีสาระสำคัญคือ การปรับความสัมพันธ์ของอุปสงค์กับอุปทานด้านวัตถุดิบเพื่อทำให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ การแลกเปลี่ยนทางการตลาด การกักตุนเสบียงอาหาร การสร้างระบบชลประทานในท้องถิ่น การให้องค์กรส่วนท้องถิ่นจ้างแรงงานเกณฑ์

การให้มีการรังวัดที่ดินในเดือนเก้าของทุกปี และกำหนดอัตราภาษีที่ดินตามขนาดของที่ดิน การฝึกทหารเพื่อเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง การฝึกทหารให้กับราษฎรในชนบทเพื่อเป็นเวรยามในการป้องกันการก่อกบฏ การจัดระบบสอบบัณฑิตและการศึกษา เป็นต้น

การปฏิรูปดังกล่าวได้ส่งผลในสองด้านด้วยกัน

ด้านแรก การปฏิรูปช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางชนชั้นลง และเพิ่มรายรับให้กับการคลังของรัฐบาล

อีกด้านหนึ่ง การปฏิรูปได้เข้าไปขัดผลประโยชน์ของเหล่าขุนนางและชนชั้นสูง จนทำให้ถูกต่อต้านจากคนเหล่านี้และกลายเป็นจุดอ่อนของการปฏิรูป

ซ้ำร้ายเมื่อเกิดการต่อต้าน หวังอันสือก็มิอาจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และทำให้เขาต้องลาออกจากตำแหน่งถึงสองครั้งสองครา แต่ก็ถูกยับยั้งโดยซ่งเสินจงซึ่งทรงมีความเด็ดเดี่ยวในการปฏิรูป และเพื่อให้การปฏิรูปของหวังอันสือเดินต่อไปได้ พระองค์ทรงถึงกับปลดขุนนางที่ต่อต้านการปฏิรูป

แต่การปฏิรูปก็ยุติลงเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1085

 

เมื่อขุนนางในกลุ่มที่ต่อต้านการปฏิรูปกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง ขุนนางกลุ่มนี้นอกจากจะยกเลิกการปฏิรูปแล้วก็ยังปลดขุนนางที่สนับสนุนการปฏิรูปอีกด้วย

จากเหตุนี้ หวังอันสือจึงลาออกจากตำแหน่ง จากนั้นก็เดินทางไปปฏิบัติงานยังท้องถิ่นตราบจนสิ้นชีพใน ค.ศ.1086 ทิ้งไว้แต่ตำนานให้ชนรุ่นหลังได้เล่าขานถึงการปฏิรูปของเขาไปในทางที่ยกย่อง2 ถึงแม้ว่าการปฏิรูปของเขาจะไม่สำเร็จผลก็ตาม

การที่ยุคราชวงศ์ซ่งมีขุนนางที่คิดอ่านจะปฏิรูปดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในยุคนี้ยังมีขุนนางที่มองเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองในขณะนั้นอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีของซ่งที่มีขุนนางเช่นนี้

แต่ซ่งก็ไม่ต่างกับราชวงศ์ก่อนหน้าที่เมื่อมีขุนนางที่มองเห็นปัญหา และต้องการแก้ปัญหานั้นด้วยการปฏิรูป แต่ก็กลับต้องประสบกับอีกปัญหาหนึ่งคือ มีผู้นำ (จักรพรรดิ) ที่ไม่จริงจังที่จะแก้ปัญหา หรือไม่ก็มีขุนนางที่เสียประโยชน์จากการปฏิรูปคอยต่อต้าน

จนเป็นเหตุให้การปฏิรูปล้มเหลวไปในที่สุด

 

¹คำว่า เหวิน กับ อู่ นี้ไทยเราเรียกผ่านสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า บุ๋น กับ บู๊ ตามลำดับ

²เรื่องราวของหวังอันสือเคยมีผู้เขียนเป็นภาษาไทยในเชิงนิยาย แต่ก็เห็นถึงการค้นคว้ามาพอสมควร นั่นคือ ทองเปลว ชลภูมิ, หว่องอันยื้อ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านเกล็ดแก้ว, 2527).