2503 สงครามลับ สงครามลาว (42)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (42)

 

สถานการณ์คับขันขอให้ไทยช่วย

การถอนตัวของกองร้อยทหารปืนใหญ่เอสอาร์เมื่อ พ.ศ.2512 ส่งผลอย่างสำคัญต่อการรบ เวียดนามเหนือสามารถทุ่มเทกำลังเข้าสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มี “เส้นทางโฮจิมินห์” พาดผ่าน จนกระทั่งเข้ายึดทุ่งไหหิน และเมืองสุยไว้ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2513

และมีสิ่งบอกเหตุว่าจะไม่หยุดยั้งอยู่แค่เพียงทุ่งไหหินเท่านั้น แต่เป้าหมายต่อไปคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ล่องแจ้ง ศาลาภูคูณ และท่าเวียง เพื่อควบคุมพื้นที่ทุ่งไหหินให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของเส้นทางโฮจิมินห์ หัวใจหลักของสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้

เมื่อทุ่งไหหินและเมืองสุยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามเหนือแล้ว กำลังทหารกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 โดยการนำของนายพลวังเปา ก็ต้องร่นถอยมาทางใต้ แล้ววางกำลังตั้งรับ ตามแนว บ.นา-ภูล่องมาด-ถ้ำตำลึง-ภูผาไซ-คังโค้ โดยใช้ล่องแจ้ง และซำทองเป็นที่มั่นสุดท้าย

กลางมีนาคม 2513 เวียดนามเหนือเปิดการรุกขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง กองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 จึงอยู่ในภาวะอันตรายหนักยิ่งขึ้น และเกือบจะต้องเสียที่มั่นสำคัญบริเวณล่องแจ้งไปอีก รัฐบาลลาวโดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรีและด้วยการสนับสนุนจากอเมริกา ได้ร้องขอกำลังรบของไทยเป็นการด่วนไปสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 เพื่อป้องกันล่องแจ้งและซำทอง ที่มั่นสุดท้ายของสมรภูมิทุ่งไหหิน

26 กุมภาพันธ์ 2513 รัฐบาลไทยเปิดประชุม “คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในราชอาณาจักรกลาว – คณะกรรมการ คท.” ครั้งที่ 16 เป็นการเร่งด่วน

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตัดสินใจสั่งการให้จัดทำ “โครงการวีพี” และให้กองทัพบกเตรียมจัด “กองร้อยทหารปืนใหญ่ทดลอง 12/1 (เอสอาร์ 9)” เพื่อส่งเข้าปฏิบัติการสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 ที่ล่องแจ้ง โดยใช้นามรหัส “เอวีพี-1”

กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี-1จะเป็นหน่วยแรกในโครงการวีพี ที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่การรบ ทำให้สามารถกอบกู้สถานการณ์บริเวณล่องแจ้งไว้ได้

ต่อมาเพื่อให้สามารถแย่งชิงพื้นที่ทุ่งไหหินกลับคืน รัฐบาลลาวยังได้ร้องขอกำลังทหารราบ ขนาดกรมผสม ซึ่งมีหน่วยรบหลัก 3 กองพันทหารราบจากไทยไปเพิ่มเติมกำลังอีก โดยรัฐบาลอเมริกายืนยันที่จะให้การสนับสนุนการปฏิบัติของกำลังทหารไทยทั้งสิ้น

จอมพลถนอม กิตติขจร จึงสั่งการให้กองทัพบกส่งกำลัง 1 กองพันทหารราบ เข้าปฏิบัติการสนับสนุน กองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 เป็นเบื้องต้น และให้เตรียมกำลังเพิ่มเติมอีก 2 กองพันทหารราบ โดยจัดกำลังรบหลักจากกรมผสมที่ 13 อุดรธานี และให้สนธิกำลังจากกรมผสมที่ 3 นครราชสีมา และกรมผสมที่ 6 อุบลราชธานี แล้วส่งมอบการบังคับบัญชาให้ “หน่วยผสม 333” ซึ่งมี พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ” เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสมรภูมิลาว

หน่วยผสม 333 ได้จัดตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจ วีพี” ขึ้นเพื่อควบคุมบังคับบัญชาโดยตรงในพื้นที่การรบต่อกำลังทหารประจำการจากไทยทั้งหมดที่ได้รับมอบ โดยให้เข้าปฏิบัติการในเขตกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 บริเวณทุ่งไหหิน

ได้มีการกำหนดนามรหัสแก่หน่วยหลักที่เข้าปฏิบัติการดังนี้ หน่วยทหารราบใช้นามรหัส “ไอวีพี (INFANTRY VANG PAO)” ประกอบด้วย กองพันทหารราบ “ไอวีพี-11” “ไอวีพี-12” และ “ไอวีพี-13”

ส่วนหน่วยทหารปืนใหญ่ ใช้นามรหัส “เอวีพี (ARTILLERY VANG PAO)” ประกอบด้วย กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-1” และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-2”

 

ไอวีพี-ทหารราบ

การจัดกำลังกองพันทหารราบ “ไอวีพี-11” มอบหมายให้กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการ โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 13 มี พ.ท.ชาญ สะท้อนดี เป็นผู้บังคับกองพัน พ.ต.จรูญ สุกใส เป็นรองผู้บังคับกองพัน

กองพันทหารราบ “ไอวีพี-12” มอบหมายให้กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการ โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 13 มี พ.ท.สง่า สายมงคล เป็นผู้บังคับกองพัน ร.อ.ศักดิ์ แก้วก่า เป็นรองผู้บังคับกองพัน

กองพันทหารราบ “ไอวีพี-13” มอบหมายให้กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 13 เพิ่มเติมด้วยกองพันทหารราบจากกรมผสมที่ 6 อุบลราชธานี-1 กองร้อย และจากกองพันทหารราบ กรมผสมที่ 3 นครราชสีมา-2 กองร้อย

โดยมี พ.ท.ไพศาล คำสุพรหม เป็นผู้บังคับกองพัน และ พ.ต.สนอง สุทธา เป็นรองผู้บังคับกองพัน

 

เอวีพี-ทหารปืนใหญ่

การจัดกำลังกองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-1” ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโดยจัดกำลังพลจากหน่วยทหารปืนใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ กำหนดเป็นสัดส่วนแบ่งเฉลี่ยแก่หน่วยต่างๆ ตามความเหมาะสม มี ร.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี เป็นผู้บังคับกองร้อย ร.ท.อุดม บุญมา เป็นรองผู้บังคับกองร้อย และ ร.ต.เกษมชาติ นเรศเสนีย์ เป็นผู้ช่วยรองผู้บังคับกองร้อย

การจัดกำลังกองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี-2” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการ และจัดกำลังพลจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 อุดรธานี มี พ.ต.อำพน บุตรเมฆ เป็นผู้บังคับทหารปืนใหญ่ทางยุทธวิธี ควบคุมการปฏิบัติของทั้งสองกองร้อยทหารปืนใหญ่ ร.อ.ทองมา วุฒิเสน เป็นผู้บังคับกองร้อย ร.ท.พินัย มีบุศย์ เป็นรองผู้บังคับกองร้อย ร.ต.พงษ์เสริม นภาพงษ์รัชนี เป็นผู้ช่วยรองผู้บังคับกองร้อย

นี่จึงนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของประวัติศาสตร์แห่งสมรภูมิลับในลาว ที่กำลังทหารประจำการจากหน่วยรบหลัก “ทหารปืนใหญ่-ราชาแห่งสนามรบ” จะได้ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมสำแดงพลานุภาพกับ “ทหารราบ-ราชินีแห่งสนามรบ”

มีนาคม 2513 นักรบไทยเหล่านี้ทุกคนถอดเครื่องหมายบนเครื่องแต่งกายชุดสนามออก แปลงร่างเป็น “นักรบนิรนาม” ลาออกจากราชการ ทยอยเดินทางเข้าสู่สมรภูมิลับเพื่อช่วยเหลือเพื่อนแห่งโลกเสรี และป้องกันมิให้ภัยลัทธิคอมมิวนิสต์ข้ามโขงมาไทย

พ.ศ.2513 ที่เวียดนาม “สมรภูมิหลัก” ทหารอเมริกันกำลังถอนตัว แต่ที่ “สมรภูมิรอง” ทหารไทยกำลังสวนทางข้ามโขงสู่ราชอาณาจักรลาว