ฝ่ายค้านงัดกลยุทธ์เช็กบิล ซักฟอก-ถอดถอน ‘บิ๊กตู่’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฝ่ายค้านงัดกลยุทธ์เช็กบิล

ซักฟอก-ถอดถอน ‘บิ๊กตู่’

 

‘ฝ่ายค้าน’ กางไทม์ไลน์ยื่นสารท้ารบรัฐบาลในศึกซักฟอกวันที่ 16 สิงหาคมนี้

หวังกันไว้ว่า ถ้าสถานการณ์โควิดไม่แย่ลงไปกว่านี้ หลังจากการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 วาระ 2 และ 3 เสร็จสิ้นแล้ว จะสามารถพารัฐบาลขึ้นเขียงชำแหละต่อกันได้ทันที

เพราะข้อมูลทุกอย่างพัวพันกันตั้งแต่การบริหารราชการในสภาวะวิกฤต ไปจนถึงการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีนอกมีใน ตรวจสอบไม่ได้ และการทำเศรษฐกิจประเทศดิ่งลงเหว

จังหวะการเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังการพิจารณางบประมาณแผ่นดินจึงถือว่าเหมาะสมที่สุด

การเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ‘ฝ่ายค้าน’ รอบนี้ใช้สูตรเดียวกับครั้งที่ผ่านมา นั่นคือ ‘แยกกันเดิน ร่วมกันตี’

แต่ละพรรคไปหาข้อมูล และเตรียมการอภิปรายในส่วนของตัวเองมา ก่อนที่จะเอาข้อมูล และรายชื่อคนที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเคาะร่วมกันในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา

เหตุที่ต้องทำงานกันอย่าง ‘มีความลับ’ แบบนี้ เพราะศึกซักฟอกครั้งนี้ฝ่ายค้านหวังผลมากกว่าทุกครั้ง

แม้จะล้มรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ด้วยมือในสภา แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ที่ใกล้เข้ามา บวกกับสัญญาณของการยุบสภาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายค้านหวังทิ้ง ‘ความรู้สึก’ ต่อรัฐบาลนี้ไว้ในหัวใจประชาชน

เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนก่อนการตัดสินใจเลือกผู้นำครั้งใหม่ของพวกเขาในอนาคต

นอกจากนี้ ‘ฝ่ายค้าน’ ยังหวังผลตามช่องทางของกระบวนการตรวจสอบด้วย เพราะมีหลายกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นร้องเอาผิด ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกฯ และรัฐบาล ทั้งก่อนที่จะเปิดเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่เตรียมยื่นร้องต่อหลังจากที่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงด้วย

 

ด้วยความหวังที่สูงมากต่อศึกซักฟอกครั้งนี้ ฝ่ายค้านจึงล็อกเป้าชื่อรัฐมนตรีขึ้นเขียงไม่เกิน 5 ชื่อ เพื่อให้เวลากับการชำแหละความผิดพลาดของรัฐมนตรีคนนั้นๆ อย่างเต็มที่

เนื้อหาในการอภิปราย ชี้ให้ตรงเป้าว่า มุ่งไปที่เรื่องโควิดเป็นหลัก

เนื่องจากมีหลายประเด็นที่จะหยิบยกมาถลกรัฐบาล อาทิ การบริหารราชการที่ผิดพลาด ล้มเหลว จนปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจากโควิดจำนวนมาก

การจัดสรรวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การออกกฎหมายที่ไม่ตรงกับสภาพการณ์ และสถานการณ์บ้านเมือง

การใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงจุด และไม่สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

ความผิดพลาดซ้ำซากของรัฐบาล เป็นสาเหตุทำให้พี่น้องประชาชนยากลำบาก

และปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลในรัฐบาล รวมไปถึงบริวารแวดล้อม ฯลฯ

 

พี่ใหญ่ฝ่ายค้านอย่าง “เพื่อไทย” จึงมีชื่อที่ล็อกเป้าไว้ในใจเพียง 3 ชื่อเท่านั้น คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และชื่อที่ทำให้รู้สึกเซอร์ไพรส์เล็กน้อย คือ 3.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

แน่นอนว่า “เพื่อไทย” เลือกคนที่มีแผลชัดเจน มีใบเสร็จ ข้อมูล และหลักฐานที่ชัดแจ้ง ไม่ยิงสะเปะสะปะ แต่ยิงแล้วต้องร่วง

ก่อนหน้านี้ ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย พยายามเสนอชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกฯ ขึ้นเขียงด้วยประเด็นว่าเป็นผู้ริเริ่มซื้อเรือดำน้ำของประเทศไทย แต่ก็ยัง 50/50

เนื่องจากทีมเตรียมการอภิปรายของพรรคเพื่อไทยมองว่า พล.อ.ประวิตรนั้นพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปหลายปีแล้ว หากอภิปรายถึงอาจจะทำให้มีน้ำหนักเบาไป และกองทัพเรือก็ตัดสินใจถอนงบฯ ซื้อเรือดำน้ำออกจากงบประมาณไปด้วย

ดังนั้น เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องหันกลับมาเชือด พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน

ส่วนรัฐมนตรีจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก่อนหน้าก็มีชื่อของ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่สุดท้ายคิดว่าไม่น่าจะเสนอชื่อขึ้นเขียง

เพราะข้อมูลหลักฐานของนายจุรินทร์ถูกงัดออกมาจัดเต็มในการอภิปรายครั้งที่ผ่านมาจนมีการร้องดำเนินคดีแล้ว

อีกคน “สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็คงไม่เสนอชื่อถูกอภิปรายเช่นกัน เพราะนายสาธิตคุมกรมสุขภาพจิต

และเมื่อเป้าหมายใหญ่คือตัวเจ้ากระทรวงอย่างนายอนุทิน ก็จัดเต็มที่เจ้ากระทรวงเน้นๆ เสียก็จบ

 

ขณะที่ฝั่ง ‘พรรคก้าวไกล’ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้มีข่าวหลุดออกมาจากพรรคก้าวไกลน้อยมาก ไม่มีชื่อ และประเด็นหลุดออกมาให้รัฐบาลรู้ตัวเลยก็ว่าได้ แต่หากรัฐบาลจะเดาชื่อคนที่จะถูก ‘ก้าวไกล’ อภิปรายแน่ๆ คงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์และนายอนุทินแน่นอน

อีกทั้งพรรคก้าวไกลเองคงมีทีเด็ดทีขาดให้เห็นเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านๆ มาแน่ๆ

หลายคนจึงจับตาดูรายชื่อคนที่จะถูกเสนอขึ้นเขียงจากฝั่งพรรคก้าวไกล

 

ความจริงพรรคร่วมฝ่ายค้านคิดเห็นตรงกันอยู่ประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ล้มนายกฯ ได้ รัฐบาลก็ล้ม การเอานายกฯ ออกจากตำแหน่งได้ รัฐบาลก็ไปต่อได้ยาก

จะเห็นได้จากก่อนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ‘ฝ่ายค้าน’ ได้แท็กทีม เดินทางไปยื่นร้อง ป.ป.ช. ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีออกประกาศฉบับที่ 29

โดยแยกความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจนออกเป็น 4 กระทง ใหญ่ คือ

1.กระทำผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 36 ที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันของบุคคล ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิบุคคล เรื่องเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งมาตรา 35 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเข้าข่ายกระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

และ 4. ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งให้นำมาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย ตามข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 12 และข้อ 13

แน่นอนว่า ประเด็นเหล่านี้ เมื่อยื่นร้องไปยังองค์กรอิสระแล้วก็ต้องถูกบรรจุลงในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

 

ศึกซักฟอกรอบนี้ หนักทั้งนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ‘ภูมิใจไทย’ เหมือนฝ่ายค้านตั้งใจเหลือโอกาสนี้ไว้ให้ ‘ประชาธิปัตย์’ ตัดสินใจ เพื่อเป็นเกม ‘วัดใจ’

ดังนั้น ในวันนี้ ‘ประชาธิปัตย์’ ยังมีโอกาสแก้ตัวในสายตาประชาชน โดยการยกมือไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ปิดทางให้รัฐบาลนี้เดินต่อไปได้ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่า

เพราะฝ่ายค้านเชื่อลึกๆ ว่า นี่อาจจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้แล้ว