เงื่อนงำจัดซื้อ บิ๊กล็อตพันล้าน แอนติเจนเทสต์ คิต ใครได้-ใครเสีย!/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เงื่อนงำจัดซื้อ

บิ๊กล็อตพันล้าน

แอนติเจนเทสต์ คิต

ใครได้-ใครเสีย!

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) พ.ศ.2564 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

มีเนื้อหาใจความหลักๆ เป็นการเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาและใช้ชุดตรวจ แรบิด แอนติเจน เทสต์ (Rapid antigen test) แบบ Home Use ได้ จากเดิมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้แรบิด แอนติเจน เทสต์ เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่เรียกว่า Professional Use

ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสู้กับโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักหน่วงยาวนาน

จากก่อนหน้านี้มีภาพประชาชนต้องรอคิวตรวจหาโควิดด้วยวิธีมาตรฐาน เรียลไทม์ พีซีอาร์ (RT-PCR) เป็นจำนวนมาก

นอกจากจะช่วยให้ประชาชนรู้ถึงสถานการณ์การติดเชื้อของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้การคัดแยกผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้นและให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

 

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว กำหนดให้จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิก รวมถึงร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรประจำ

ส่วนในแง่ของราคา อย.ระบุว่า ชุดตรวจแรบิด แอนติเจน เทสต์ สำหรับประชาชน จะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท แต่ละยี่ห้อ ซึ่งราคาจะเฉลี่ยตั้งแต่ 200-300 บาท

ถึงวันนี้ มีแรบิด แอนติเจน เทสต์ หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า Antigen test kit (ATK) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี รวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่จัดหาซื้อไว้สำหรับเป็นเครื่องมือการตรวจของพนักงาน

ข้อมูลล่าสุด (10 สิงหาคม 2564) พบว่า มีชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต ที่ได้รับการอนุญาตจาก อย.แล้วมากถึง 29 รายการ จากบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายหลายราย และมีแหล่งผลิตหลักจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา สเปน สวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม จากดีมานด์ความต้องการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต ที่มีมากมายมหาศาล ก็ทำให้สินค้าชนิดนี้กลายเป็น “ของหายาก” และมีไปโผล่ขายในช่องทางออนไลน์ และตลาดนัด

ที่สำคัญคือ ราคาต่อชิ้นสูงกว่า 300 บาท

 

อีกด้านหนึ่ง โควิด-19 ที่หนักหน่วงยาวนาน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดดยื่นมือเข้ามา โดยได้เร่งศึกษาเพื่อที่จะจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชนทุกคนทุกสิทธิ

โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจ ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท

และในแง่ของการดำเนินการจัดซื้อ สปสช.มอบหมายให้เครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถีไปดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท และปริมาณชุดตรวจที่คาดว่าจะใช้ราว 8.5 ล้านชุด

เป็นที่มาขององค์การเภสัชกรรมที่เชิญบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.มายื่นซองเสนอราคา ในวันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 และประกาศจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

คาดว่าภายในสิงหาคม 2564 จะส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามที่ สปสช.กำหนดต่อไป

 

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว นายแพทย์เกียรติศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อรองราคา สปสช. ออกมาแสดงความเห็นว่า ก่อนที่ สปสช.จะมอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถี ที่เป็นเครือข่ายผู้ให้บริการ ตั้งเรื่องเพื่อมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ คณะกรรมการต่อรองราคา ได้มีการศึกษา ประเมินราคา รวมทั้งมีการเจรจาต่อรองราคากับผู้นำเข้า มาตั้งแต่ต้นเดือนกรฎาคมที่ผ่านมา โดยยึดหลักเรื่องคุณภาพ ความแม่นยำเป็นสำคัญ

ในแง่คุณภาพ ผ่านการรับรอง อย.อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องการคุณภาพ ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองด้วย ถัดมา ราคาต้องไม่แพง และส่งมอบให้ทันทีหรือเร็วที่สุด

“สปสช.เจาะจงจะซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต 2 ยี่ห้อ ที่องค์การอนามัยโลก ( WHO) รับรอง ทั้ง 2 ยี่ห้อมีผลคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1% ที่ผ่านมา WHO ซื้อแจกใช้ทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ” ประธานคณะกรรมการต่อรองราคา สปสช.กล่าว และย้ำว่า

นอกจากนี้ ยังต่อรองราคาเหลือเพียง 120 บาท จากที่ WHO ซื้อประมาณ 150 บาท ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง ขายให้ WHO ประมาณ 160 บาท แต่ลดให้เรา 140 บาท ทั้งหมดเป็นราคาที่รวมค่าขนส่ง

เรียกว่าได้ของมีคุณภาพและราคาไม่แพง และไม่ต้องมีเสียค่าบริหาร ค่าจัดการในเรื่องการขนส่งเพิ่ม ช่วยประหยัดเงินหลวงไปได้มาก

แต่ท้ายที่สุด องค์การเภสัชกรรมไม่ได้นำเรื่องการเสนอซื้อที่ สปสช.เคาะไปใช้ และส่งเรื่องกลับมาขอให้ สปสช.ลดเงื่อนไขบางอย่างลง ทั้งๆ ที่ในภาวะเร่งด่วนแบบนี้ องค์การเภสัชกรรมสามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ เนื่องจากคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กจว) 0405.2 (ว 115) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบให้สามารถทำได้ในช่วงที่มีภาวะเร่งด่วนจำเป็น

จนถึงตอนนี้เพิ่งจะเริ่มเชิญผู้สนใจมายื่นซอง ถือว่าล่าช้ามาก กว่าจะเปิดซอง กว่าจะเซ็นสัญญา จะใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะสั่งของ และของจะมาถึง เพราะโควิดเป็นอะไรที่ช้าไม่ได้ และยังไม่รู้ว่าจะต้องเสียค่าขนส่งของหรือไม่

สิ่งที่กังวลตอนนี้ก็คือ หากซื้อของมาในราคาที่แพงกว่าที่ สปสช.ต่อรองราคามาได้ รัฐก็เสียหาย หรือหากได้ของที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความแม่นยำมา คนใช้ก็จะไม่มีความมั่นใจ

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อช่วงสายๆ วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรม วานนี้ (10 สิงหาคม) องค์การได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท (จากที่เชิญไป 24 บริษัท) เข้าร่วมเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคา

ปรากฏว่า บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท ราคาชุดตรวจ ATK เหลือประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจาก อย.แล้ว

สำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไป องค์การจะนำรายละเอียดเสนอให้โรงพยาบาลราชวิถี คณะทำงานกำกับติดตามการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ในหลักประกันสุขภาพ และคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม พิจารณาในวันนี้ (วันที่ 11 สิงหาคม 2564) และเร่งดำเนินการทำสัญญาเพื่อให้สามารถส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามที่ สปสช.กำหนด

เนื่องจากไม่มั่นใจในเรื่องของคุณภาพ และเป็นสินค้าจากผู้ผลิตเดียวกับที่ อย.สหรัฐเรียกเก็บคืนสินค้า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า สินค้าดังกล่าว “คุณภาพมีปัญหา” และ “เป็นอันตรายต่อชีวิต”

ความหวังดีของ สปสช.ที่ต้องการจะซื้อแจกประชาชน จะบรรลุเป้าหมายและถึงฝั่งฝันหรือไม่

ต้องติดตามและต้องลุ้นกันต่อไป ว่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาโควิด-19 ที่เป็นอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน!

ถึงนาทีนี้ พูดได้คำเดียวว่า ฝุ่นตลบแน่!