ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
คดีสะเทือนขวัญปากีฯ
สู่กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว
กลายเป็นอีกหนึ่งคดีสะเทือนขวัญในประเทศปากีสถาน เมื่อ น.ส.นูร์ มุคาดัม ลูกสาวนักการทูต วัย 27 ปี ถูกสังหารและตัดศีรษะอย่างโหดเหี้ยม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีฐานะ ในกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน
โดยผู้ที่ก่อเหตุคือ นายซาฮีร์ จาฟเฟอร์ วัย 30 ปี ลูกชายจากตระกูลผู้ทรงอิทธิพลในปากีสถาน ที่ถูกจับกุมตัวในที่เกิดเหตุ และถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายในตอนแรก ก่อนที่การตั้งข้อหาจะถูกเปลี่ยนเป็น “ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”
ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทางซีเอ็นเอ็นได้เห็นมา ระบุว่า นูร์ มุคาดัม เสียชีวิตลงหลังจากถูกทรมาน และถูกสังหาร โดยฝีมือของคนรู้จัก คือนายซาฮีร์ จาฟเฟอร์ ชายหนุ่มจากตระกูลทรงอิทธิพล ผู้ถือสองสัญชาติคือปากีสถานและสหรัฐอเมริกา
นูร์ หญิงสาวผู้ร่าเริงสำหรับคนรอบข้าง เกิดที่ประเทศจอร์แดน ส่วนบิดาเคยเป็นนักการทูตประจำอยู่ที่ปากีสถาน เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์ โดยชอคัต มุคาดัม ผู้เป็นบิดาของนูร์บอกว่า ในคืนวันที่ 19 กรกฎาคม หลังจากออกไปซื้อของกับภรรยา เมื่อกลับถึงบ้าน พบว่าลูกสาวยังกลับไม่ถึงบ้าน จึงได้พยายามโทรศัพท์ตาม แต่มือถือของนูร์ “ปิดเครื่อง” อยู่ จึงได้พยายามตามหานูร์ โดยให้เพื่อนๆ ของลูกสาวช่วยกันตามหา
ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นูร์ได้โทรศัพท์แจ้งพ่อกับแม่ว่า จะเดินทางไปเมืองละฮอร์กับเพื่อนๆ ขอให้พ่อ-แม่ไม่ต้องเป็นห่วง และหลังจากนั้น ก็ไม่มีใครสามารถติดต่อกับนูร์ได้อีกเลย
บ่ายวันต่อมา วันที่ 20 กรกฎาคม พ่อ-แม่ของนูร์ได้รับโทรศัพท์จากซาฮีร์ จาฟเฟอร์ ที่ยืนยันว่า นูร์ไม่ได้อยู่กับเขา ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับทางครอบครัวมุคาดัมว่า นูร์ถูกสังหาร ก่อนที่พ่อของนูร์จะถูกพาไปที่บ้านพักของครอบครัวจาฟเฟอร์ เพื่อยืนยันว่าศพที่พบเป็นนูร์จริงๆ
ทั้งนี้ ตำรวจไม่สามารถคาดเดาเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวจาฟเฟอร์และมุคาดัม ต่างรู้จักกันดีอยู่แล้ว
ขณะที่พ่อและแม่ของจาฟเฟอร์ เจ้าของบริษัท อาเหม็ด จาฟเฟอร์ แอนด์ คอมพานี หนึ่งในบริษัทครอบครัวที่ทำการค้าขายและโครงการใหญ่ๆ ที่เก่าแก่ที่สุดบริษัทหนึ่งของปากีสถาน ถูกตำรวจจับกุมตัว ข้อหาปกปิดหลักฐาน และยุยงให้ผู้อื่นกระทำความผิด
หลังเหตุการณ์สังหารโหดที่เกิดขึ้นกับหญิงสาววัย 27 ปีรายนี้ ปากีสถานมีการติดแฮชแท็กเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ น.ส.นูร์จำนวนมากบนทวิตเตอร์
ขณะที่เพจ “โกฟันด์มี” ได้มีการระดมเงินเพื่อช่วยเหลือค่าทำเนียบในการดำเนินการตามกฎหมายให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ จนได้เงินเกือบ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ครอบครัวของนูร์จะออกมาขอให้ปิดการรับบริจาคดังกล่าว
การบริจาคดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีข่าวว่า ครอบครัวของนูร์อาจจะต้องต่อสู้ทางกฎหมายยืดเยื้อยาวนาน แม้ว่าสภาพแวดล้อมและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ จะชัดเจนอย่างมากว่า จาฟเฟอร์เป็นผู้ก่อเหตุจริงๆ
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หากคดีนี้ ไม่ใช่คดีที่เกิดกับลูกสาวของนักการทูต และครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลของจาฟเฟอร์ รวมถึงที่ก่อเหตุที่เกิดขึ้นในย่านคนมั่งคั่งแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นคดีที่ไม่มีใครสนใจ และหายไปจากสารบบของกระบวนการยุติธรรมในปากีสถาน
คดีดังกล่าว ยังทำให้บรรดานักเคลื่อนไหวออกมาใช้คดีนี้เป็นตัวกระตุ้น เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการลงโทษผู้กระทำความผิด ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัวอีกครั้ง
โดยเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ระบุว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงถือเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศปากีสถาน และราว 28 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในปากีสถานที่อายุระหว่าง 15 ถึง 49 ปี มีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว และเมื่อถูกทำร้าย ก็จะไม่มีการแจ้งความใดๆ อันเนื่องมาจากสังคมปากีสถานแต่เดิมมาที่นับถือชายเป็นใหญ่ในครอบครัว
หากแต่นักเคลื่อนไหวระบุว่า ปัญหาการทำร้ายร่างกายผู้หญิงไม่ใช่เรื่องของสภาพสังคมอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะระบบกฎหมายด้วย เพราะตามกฎหมายปากีสถาน การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างสามีและภรรยา และคนในครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ลงโทษผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวขึ้นมา หากกฎหมายดังกล่าวผ่าน ก็จะมีผลบังคับใช้เฉพาะในเขตนครบาลกรุงอิสลามาบัดเท่านั้น แต่นักเคลื่อนไหวก็เชื่อว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน ก็จะกระตุ้นให้จังหวัดอื่นๆ เดินหน้าทบทวนเรื่องกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
และหลังจากนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่วุฒิสภาแล้ว จะต้องนำเรื่องเข้าสู่สภาอิสลาม (ซีไอไอ) ที่มีสมาชิกเป็นผู้ชายล้วน ซึ่งทำหน้าที่ในการแนะนำฝ่ายการเมืองว่า กฎหมายนั้นๆ ขัดกับหลักศาสนาอิสลามหรือไม่
โดยเมื่อปี ค.ศ.2016 ซีไอไอเคยเสนอกฎหมายของตัวเอง ที่อนุญาตให้ผู้ชายสามารถเฆี่ยนตีภรรยาได้ “เบาๆ”
แน่นอนว่า บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ต่างออกมาหวาดเกรงว่า ซีไอไอจะออกมาโค่นกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษผู้ก่อเหตุรุนแรงในครอบครัว
แม้ว่าในตอนนี้ ต้นสายปลายเหตุของคดีฆาตกรรมนูร์ จะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในปากีสถานเองก็หวังว่า จะเป็นอีกคดีที่ช่วยผลักดันให้เกิดความยุติธรรมและปกป้องผู้หญิงในปากีสถานได้ในอนาคต