‘ไอพีซีซี’ กับคำเตือน ‘ภาวะโลกรวน’ มหันตภัยของจริงที่มาถึงแล้ว!/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Flood waters lap at a high water warning sign that was partially pushed over by Hurricane Florence on Oak Island, North Carolina, U.S., September 15, 2018. REUTERS/Jonathan Drake/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

‘ไอพีซีซี’ กับคำเตือน ‘ภาวะโลกรวน’

มหันตภัยของจริงที่มาถึงแล้ว!

 

“ภาวะโลกรวน” หรือ “ไคลเมจเชนจ์” ถูกพูดถึงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศอย่างคาดไม่ถึง

นอกเหนือจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตใหญ่ของโลกในเวลานี้ เราได้เห็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงในแบบที่ไม่เคยเห็นในช่วงชีวิตของเราอย่างต่อเนื่อง

ไม่นานมานี้เพิ่งเกิดไฟป่าขนาดยักษ์ที่แคลิฟอร์เนีย น้ำท่วมครั้งมโหฬารในจีนและภูมิภาคยุโรป ได้เห็นน้ำทะลักท่วมระบบรถไฟใต้ดินอย่างไม่เคยมีมาก่อน คลื่นความร้อนทุบสถิติในไซบีเรีย หรือแม้กระทั่งการเกิดฟ้าผ่าในฤดูมรสุมของอินเดียจนมีผู้เสียชีวิตถึง 76 คนใน 1 วัน

ถึงกระนั้นหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความร่วมมือของประชาคมโลกอย่างจริงจังที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน อันเกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างจริงจัง

แม้จะมีการทำ “ความตกลงปารีส” ในการตั้งเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ทว่าก็ไม่สามารถทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย หลังจากเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2015

แน่นอนว่ายังคงเกิดคำถามจากคนอีกบางส่วนว่าจริงๆ แล้วมนุษย์สร้างความเปลี่ยนแปลงกับสภาพภูมิอากาศโลกมากน้อยแค่ไหน?

และมันจะแย่มากไปกว่านี้สักแค่ไหนกัน?

 

ล่าสุดมีผู้ให้ “คำตอบ” ที่ชัดเจนและน่าหวาดหวั่นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากกลุ่มนักวิทยาศาสร์ระดับนานาชาติที่มีชื่อว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เผยแพร่รายงานจากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยกว่า 14,000 ชิ้น ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า เวลานี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์ ในแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว

“บทสรุปก็คือ เราไม่มีเวลาเหลือแล้วที่จะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดอันตรายอีกต่อไป เพราะเวลานี้มันมาถึงแล้ว” ไมเคิล อี. มันน์ หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนรายงานไอพีซีซีปี 2001 ระบุ

รายงานของไอพีซีซี ในปี 2021นี้มีความแตกต่างจากรายงานฉบับล่าสุดเมื่อ 8 ปีก่อน เพราะเป็นข้อมูลและคำเตือนที่ชัดเจนและตรงไปตรงมามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่จะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

รายงานไอพีซีซีมีใจความสำคัญอยู่หลายประเด็น และประเด็นเหล่านั้นเองที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

หนึ่งในนั้นคือการยืนยันว่า “มนุษย์คือต้นเหตุ”

 

ไอพีซีซีใช้คำที่ชัดเจนมากที่สุดในการชี้ชัดประเด็นดังกล่าว ในบรรทัดแรกของบทสรุปรายงานความยาวกว่า 4,000 หน้า ว่า “มันชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่ามนุษย์ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และผืนแผ่นดินร้อนขึ้น”

ประโยคดังกล่าวนับเป็นการใช้ภาษาที่ชัดเจน ยกระดับจากรายงานไอพีซีซีฉบับก่อนหน้า ซึ่งเคยระบุไว้เพียงว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ที่อุตสาหกรรมจะเป็นต้นเหตุของภาวะโลกรวนเท่านั้น

เรื่องใหญ่เรื่องต่อมาก็คือ ไอพีซีซีระบุว่า เวลานี้ไม่มีเวลาพอที่จะชะลอภาวะโลกรวนได้อีกต่อไปแล้ว แม้โลกจะร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมหาศาลในช่วง 10 ปีถัดไป อุณหภูมิเฉลี่ยก็จะยังสูงขึ้นระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 และอาจเพิ่มเป็น 1.6 องศาในปี 2060 ก่อนที่จะทรงตัว

แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงปี 2060 โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.0 องศาเซลเซียส และ 2.7 องศา เมื่อสิ้นศตวรรษนี้

ความร้อนในระดับนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 3 ล้านปีก่อน ซึ่งระดับน้ำในมหาสมุททรสูงระดับปัจจุบันถึง 25 เมตร

ไอพีซีซีระบุด้วยว่า สภาพภูมิอากาศโลกจะยังคงรุนแรงแบบสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นหายนะ แม้ว่าโลกจะสามารถจำกัดอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเกิดคลื่นความร้อนจัดแบบที่ปกติจะเกิดขึ้นทุก 50 ปี เวลานี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี พายุหมุนเขตร้อนจะทวีความรุนแรงขึ้น จะเกิดฝนและหิมะตกมากขึ้นใน 1 ปี ขณะที่ภาวะแห้งแล้งจะเกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม 1.7 เท่า ฤดูกาลไฟป่าจะยาวนานและรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ ไอพีซีซีทำนายแนวโน้มในแง่ดีที่สุดเอาไว้ว่า ภายในปี 2050 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์น้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติก ละลายหายไปหมดสิ้นในฤดูร้อนอย่างน้อย 1 ครั้งเนื่องจากพื้นที่ดังกลาวเป็นพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากที่สุดหากเทียบกับทุกพื้นที่ของโลก

ไอพีซีซีระบุไว้ในรายงานด้วยว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกจะทำให้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น แม้จะสามารถคงระดับอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำก็จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก 2 ถึง 3 เมตร หรืออาจจะมากกว่านั้น นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ระดับน้ำจะสูงขึ้นถึง 15 เมตรภายในปี 2300 ด้วย

นักวิทยาศาสตร์ระบุด้วยว่า พื้นที่ชายฝั่งที่เกิดน้ำท่วมจะมีโอกาศเกิดขึ้นมากกว่าเดิม 2 เท่า ขณะที่ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงท่วมชายฝั่งที่เคยเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในรอบ 100 ปี จะเกิดขึ้นปีละครั้งภายในปี 2100

โดยสรุปแล้วคือรายงานของไอพีซีซีได้ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดแล้วว่า “หายนะ” กำลังใกล้เข้ามาทุกทีหากไม่ร่วมมือกันและดำเนินการอย่างจริงจังและรวดเร็วเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลก

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็นระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นการเตือนภัย “ระดับสีแดงสำหรับมนุษยชาติ” เป็นการเตือนภัยที่เสียงดังมากชนิดทำให้หูดับได้

“รายงานนี้คือสัญญาณบอกเหตุถึงการสิ้นสุดการใช้งานถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อนที่ของเหล่านี้จะทำลายโลกของเรา” เลขาฯ ยูเอ็นระบุ