“ทางลงที่เหลืออยู่” ของประยุทธ์ คุยอดีตเลขาฯ สมช.มอง-ประเมินเหตุ เตรียมนับถอยหลัง!

“ณ เวลาสถานการณ์ตอนนี้ทางลงของนายกฯ คนนี้มันไม่เหลือช่องทางที่ดีเลย หมายความว่าทางลงมีแต่การต้องเจ็บตัวเพียงแต่ว่าจะเจ็บมาก เจ็บสาหัส” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) ประเมินทางลงหลังเสือของผู้นำสืบทอดอำนาจคนนี้ว่าเหลือไม่กี่ทางแล้ว

พล.ท.ภราดรเปรียบเทียบการถอยหลัง ให้เห็นภาพง่ายๆ ว่านายกฯ คนนี้กำลังเดินขึ้นบันไดวิบากกรรมอยู่ แล้วพอเดินขึ้นไปเรื่อยๆ มองหันหลังกลับมา ขั้นบันไดที่เดินผ่านมาแล้วมันหายไป ทำให้ถอยหลังไม่ได้ แต่พอจะเดินขึ้นไปข้างหน้า มองบันไดขึ้นไปมันก็ไม่เห็นที่หมายอีกว่าจะไปที่ไหน พอยิ่งเดินสูงขึ้นไปหันกลับมาบันไดก็หายไปแล้ว ถ้าจะโดดลงก็สูงเกินไป แต่พอจะเดินไปข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปไหน ยิ่งเดินก็ยิ่งไม่พบที่หมาย ตอนนี้พอเดินมาถึงจุดหนึ่งก็คิดว่าจะลง แต่มันมาสูงแล้วถ้ากระโดดลงไปก็ถึงขั้นเจ็บสาหัส แต่ถ้าคุณยิ่งเดินต่อไปอีก แล้วคิดจะโดดลงทีหลัง ถึงตอนนั้นอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ได้

สำหรับทางออกตามระบอบตามครรลองของประชาธิปไตยที่มีอยู่ที่จริงแล้วไม่ได้ยุ่งยากเลย

1. นายกฯ รับผิดชอบด้วยตัวเองตัวคนเดียว ก็ลาออก

2. ถ้าไม่ลาออกก็ยุบสภา แต่เสียงบางส่วนอาจบอกว่าสภาไม่ได้ทำอะไรผิด มันเป็นเรื่องของนายกฯ ก็ลาออกไป จะยุบสภาทำไม

แต่สายตาของพี่น้องประชาชนก็มองได้หลายมุม ว่าสภาก็เกี่ยวข้องกับอยู่แล้วเพราะเป็นส่วนหนึ่งไปยกมือสนับสนุนเอานายกฯ คนนี้เข้ามาถือว่าเป็นความบกพร่องด้วยที่เอาคนแบบนี้มาเป็นผู้นำและก่อให้เกิดวิกฤตบ้านเมือง

ฉะนั้น ก็เลยมองได้สองมุม ว่าจะต้องยุบสภาหรือลาออก

แต่ถ้าให้ยุบสภาก็ไม่ยุบ ลาออกก็ไม่ยอมลาออก แบบนั้นก็จะกลายเป็นประชาธิปไตยทางตรงคืออำนาจอธิปไตยของประชาชนทางตรงโดยการออกมาขับไล่

ณ วันนี้ ทางออกที่มันมีอยู่ 3 หนทางนี้ แต่ช่องทางที่จะดีต่อนายกฯ ที่สุดจริงๆ เวลานี้ก็คือการลาออก ซึ่งมันจะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องทั้งหลายกับทุกภาคส่วนร่วมถึงภาคประชาชน

เมื่อนายกฯ ลาออกแล้ว พล.ท.ภราดรมองว่า ในทางรัฐธรรมนูญก็จะต้องเลือกคนใหม่ แล้วไม่ต้องกังวล นายกฯ คนใหม่น้ำหนักจะไปที่สภาผู้แทนราษฎร ส่วนวุฒิสมาชิกเดิมทีที่อาจจะมีส่วน แต่ในสถานการณ์แบบนี้ กระแสของสังคมตอนนี้ ส.ว.ก็คงต้องฟังเสียงสังคม ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วพลังอิทธิพลที่จะส่งไปถึง ส.ว.ทั้งหลายมันก็จะหายลงไป ไม่เหมือนในอดีต แล้วไม่น่าเป็นกังวลว่าจะหาตัวคนไม่ได้ ในอดีตที่ผ่านมาก็สามารถหาตัวบุคคลได้ตลอด

ขณะเดียวกันการชุมนุม-การส่งเสียงขับไล่ ผมยืนยันเลยว่าสัญญานี้มันถูกส่งไปถึงผู้มีอำนาจและองคาพยพทั้งหมด แล้วความจริงจะเริ่มปรากฏชัดขึ้น ว่าพลังนี้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หลุดจากตำแหน่งแน่ ลำพังถ้ามองกลับมาเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎร พลังยังไม่พอ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่มันจะเกิดขึ้น พลังข้างนอก คือพลังของพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ที่กำลังส่งสัญญาณแบบนี้

เราจะเห็นชัดว่า เมื่อพลังอำนาจสภา+ประชาชน 2 พลัง ทั้งภายใน ภายนอก มันมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว มันก็จะเป็นการปิดฉากนายกฯ ที่ชื่อประยุทธ์อย่างชัดเจน และบรรยากาศแบบนี้มันกำลังเคลื่อนตัวมา

ถามว่าดูจากตรงไหน ก็ดูจากสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในขณะที่ยื่นเราจะเห็นว่า บรรยากาศครั้งนี้มันจะแตกต่างจากครั้งอื่น มันจะมีข้อมูลจากประชาชน จากทุกส่วน ส่งผ่านข้อมูลไหลเข้ามาให้ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ในการอภิปราย รวมถึงข้าราชการต่างๆ ด้วย ว่าไม่สามารถที่จะอดทนยอมรับกับรัฐบาลนี้ได้อีกแล้ว

ส่วนมิติของข้างนอกสภา ที่พี่น้องประชาชนมองแล้วว่าผู้แทนฯ จากการเลือกตั้งไม่ได้จะออกมาเรียกร้องอำนาจอธิปไตยของตัวเองโดยตรง ประชาชนก็จะเคลื่อนไหว

แต่พอดีมันอยู่ในสถานการณ์ covid ทำให้บรรยากาศตรงนี้มันชะลอตัว แต่แน่นอนว่าพี่น้องประชาชนไม่ลดราวาศอกแล้ว ก็พยายามปรับกลยุทธ์ เช่น คาร์ม็อบ

ทั้งหมดนี้เมื่อมาบรรจบกันอย่างลงตัวเมื่อไหร่ นั่นคือการปิดฉากนายกฯ คนนี้แน่นอน

พล.ท.ภราดรกล่าวว่า สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าบอกว่าจะหวังกับพรรคเหล่านี้ ก็อยากให้ลองย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมรัฐบาล แล้วทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมามีอำนาจ ความรู้สึกของประชาชนมองว่ารัฐบาลนี้กลายเป็นจุดรวมพลของตระบัดสัตย์ทั้งหมด ตั้งแต่หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลยันหัวหน้ารัฐบาล ไปย้อนเทปดูได้เลย หัวหน้าแต่ละพรรคพูดจาอย่างไรไว้ในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้ง ปฏิบัติตัวอย่างไรหลังมีการเลือกตั้ง

นั่นคือไม่ตรงตามที่พูด ตั้งแต่ให้สัญญาประชาชนไว้

ฉะนั้น การคาดหวังตรงนี้ ในห้วงที่ขนาดวิกฤตสุดๆ จนประชาชนล้มตายมากมายและไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ไม่ต้องรอเปิดอภิปราย จริงๆ ท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปในฐานะเป็นต้นตอของวิกฤตทั้งหมด

แต่พี่น้องประชาชนก็ไม่เห็นบทบาทเหล่านั้นจากพรรคร่วม มันก็เลยเกิดความไม่มั่นใจ เลยต้องมาคาดหวังว่าเมื่อมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน จะเป็นสิ่งที่เป็นความหวังมากกว่า

แต่ตรงนี้เมื่อเปิดเกมนั้นแล้ว เมื่อสถานการณ์พัฒนาไป มันก็มีแนวโน้มที่จะบังคับวิถีให้พรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนใจก็ได้ จะถามว่าจะมั่นใจได้ไหม ก็คงไม่สูงนัก แต่ว่าผลสัมฤทธิ์มันมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้

เพราะปัจจัยภายนอก คือพลังของพี่น้องประชาชน ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะเปลี่ยนใจก็มีความเป็นไปได้สูง

พล.ท.ภราดรประเมินว่า ถึงเวลาเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น เท่ากับนั่นคือการนับถอยหลังของ พล.อ.ประยุทธ์เลย คนทั้งประเทศก็จะเห็นพ้องต้องกัน ทั้งพลังภายในสภาบวกพลังอำนาจนอกสภาจะลงตัวกันเป๊ะ ตรงนั้นก็เป็นการปิดฉากนายกฯ ซึ่งคงในระยะเวลาไม่นานนี้คงได้เห็น

สำหรับชุดความคิดที่ว่าอย่าเพิ่งเปลี่ยนม้าในวิกฤตจะขาดความต่อเนื่องอะไรก็ตาม ขอพูดกันด้วยเหตุด้วยผลเลยว่า ม้าตัวนี้เป็นม้าพิการไปแล้ว จะให้ออกมานำได้อย่างไร? มันไปไม่ได้แล้ว

เปรียบในทางการทหารต่อให้อยู่ในสนามรบเมื่อตัวผู้บังคับหมู่ที่เป็นผู้นำการรบมันหมดสภาพของภาวะการนำ ผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าก็จะต้องส่งคนมาเปลี่ยนเพราะจะให้คนนั้นอยู่ ภารกิจไม่สำเร็จ และนอกจากไม่สำเร็จแล้วยังจะพาลูกน้องไปตายอีก มันหนักข้อขึ้นกว่าเดิม มันมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน

ตรรกะที่จะบอกว่าเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่ได้ในสถานการณ์ที่วิกฤตแบบนี้ มันไม่ใช่ จริงๆ แล้วต้องรีบเปลี่ยนเลยเพราะว่าต้นตอสาเหตุของวิกฤตมันคือตัวผู้นำตัวเอง

การยิ่งเปลี่ยนผู้นำเหมือนเรายกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกาพอเปลี่ยนประธานาธิบดีเป็นโจ ไบเดน เท่านั้น นโยบายไปคนละทาง

เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เราก็เชื่อมาตลอดว่ายังมีคนที่จะมีทำแทน พล.อ.ประยุทธ์ได้อีกมาก

แล้วทันทีที่ลาออกไปนะ รับรองได้เลยว่าสถานการณ์วิกฤตของประเทศไทยมันจะทำให้ความรู้สึกของประชาชนดีขึ้นเกิน 50%

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก บรรยากาศของประเทศ ความรู้สึกประชาชน ความเชื่อมั่นจะกลับมาทันที

พล.ท.ภราดรมองอีกว่า ที่ผ่านมาเขามีทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จ มีกฎหมายคุมได้ทุกอย่าง สามารถสั่งการได้อย่างเต็มที่ แต่ผลที่ออกมาของผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในภาวะวิกฤตกลายเป็นว่าบริหารแย่กว่าสถานการณ์ปกติด้วยซ้ำ ด้อยประสิทธิภาพกว่าภาวะปกติอีก สิ่งเหล่านี้แสดงว่า เป็นสิ่งบอกเหตุเป็นคำตอบชัดเจนได้เลยว่าปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นจาก “ผู้นำ” แม้ว่าเขามีเครื่องมือครบถ้วนก็ตาม ดังนั้น ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนเลย

ส่วนการรัฐประหารในยุคนี้ พ.ศ.นี้ก็ยืนยันเลยว่า มันยากที่จะเกิด เพราะว่าบทเรียนที่ พล.อ.ประยุทธ์ฝากเอาไว้ มันอาจจะมีข้อดี คือว่าประเทศไทยอาจจะไม่เกิดการรัฐประหารอีก เพราะถ้าเกิดเมื่อไหร่รับรองได้ว่าประเทศนี้จะ “กระเทือนไปทั้งระบบ” เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงมีดุลพินิจ มีสติพอมองสถานการณ์บ้านเมืองเห็นอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร

สุดท้ายอยากฝากบทเรียนว่าจุดจบของคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ว่ามันจะกลายเป็นความอเนจอนาถที่จะย้อนกลับมาสู่ตัวเอง มันจะเหมือนคนบ้าสติแตก พูดกันตรงๆ และบั้นปลายชีวิตจะมีความน่ารันทด จึงควรต้องรีบออกจากบันไดวิบากกรรมให้เร็ว

อย่าไปดันทุรังฝืนเลย ควรรีบตัดสินใจ!

ชมคลิป