สุรชาติ บำรุงสุข : สงครามใต้ร่ม “ธงดำ”! ก่อการร้ายยุคหลังโมซุล

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การสูญเสียพื้นที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ การสูญเสียเช่นนี้จะนำไปสู่การจัดกำลังพลใหม่ และจะเป็นดังโอกาสของการจุดไฟสงครามขึ้นอีกครั้ง”

Rumiyah

แม็กกาซีนออนไลน์ของกลุ่มรัฐอิสลาม

ถ้าจะลองลากเส้นแบ่งเวลาปัจจุบันโดยจะถือเอากลางเดือนพฤษภาคม 2017 เป็นต้นมา ก็จะเห็นถึงแนวโน้มที่ความรุนแรงจากการก่อการร้ายทวีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดังจะเห็นได้ว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในงานคอนเสิร์ตที่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 22 คน ต้องถือว่าเป็นความรุนแรงจากการก่อการร้ายที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปีหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในรถไฟใต้ดินที่กรุงลอนดอนในปี 2005 หรือที่รู้จักกันในชื่อของเหตุการณ์ “7/7”

จากเหตุก่อการร้ายที่แมนเชสเตอร์แล้ว ก็มีการโจมตีขบวนรถของผู้แสวงบุญที่เป็นชาวคริสต์คอปติก (Coptic Christian) ในอียิปต์

และตามมาด้วยการที่กลุ่มโบโกฮารามเปิดการโจมตีเมืองหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไนจีเรีย

ต่อมาก็เห็นถึงการที่กลุ่มเมาเต้ (The Maute) เปิดปฏิบัติการปิดล้อมและยึดเมืองมาราวีในฟิลิปปินส์ อันเป็นรูปแบบการโจมตีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในอีกด้านหนึ่งของโลก กลุ่มรัฐอิสลามยังคงมีปฏิบัติการโจมตีในแบกแดดไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่ครั้งนี้เป็นการโจมตีครอบครัวที่กำลังเข้าแถวซื้อไอศกรีม

ส่วนในคาบูลก็ยังมีการโจมตีด้วยระเบิด แต่ครั้งนี้เป็นรถบรรทุก (truck bomb) ที่มีปริมาณของระเบิดมาก จนถึงกับทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการจุดระเบิดครั้งนี้ถึง 150 คน…

สงครามก่อการร้ายขยายตัวทั่วทุกภูมิภาค

แต่เหตุระเบิดที่แมนเชสเตอร์ยังไม่ทันจะจางหายไปจากความรู้สึกของผู้คนในอังกฤษ

เหตุร้ายก็เกิดขึ้นอีกในลอนดอน มีคนนำรถแวนไล่ชนคนและคนขับยังลงจากรถแล้วเอามีดไล่แทงคน

ในอีกมุมหนึ่งของโลก ประเทศในตะวันออกกลางที่เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าจะมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นก็คืออิหร่าน แต่ในครั้งนี้กลุ่มปฏิบัติการที่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลามตัดสินใจเปิดปฏิบัติการต่ออิหร่าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 12 คน

และในอีกมุมหนึ่ง “หมาป่าตัวเดียว” (The Lone Wolf) ก็ออกปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นในออสเตรเลีย และในฝรั่งเศส และ “หมาป่า” เหล่านี้ล้วนแต่อ้างอิงถึงกลุ่มรัฐอิสลาม

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากกลางเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา ดูจะเป็นสัญญาณจาก “นาฬิกาปลุก” ที่ส่งเสียงเตือนไม่หยุดถึงการแพร่กระจายของการก่อการร้าย

และไม่ว่าความรุนแรงชุดนี้จะเกี่ยวข้องกับ “เทศกาลรอมฎอน” หรือไม่ก็ตาม เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายส่วนเชื่อว่าหลังจากการประกาศก่อตั้ง “กลุ่มรัฐอิสลาม” (IS) และตามมาด้วยการประกาศถึงสถานะของความเป็นผู้นำทั้งทางการเมืองและทางจิตวิญญาณของ อัลบูบักร์ อัล-บัฆดาดี ที่ประกาศตัวเป็น “กาหลิบ” ในช่วงกลางปี 2014 แล้ว เทศกาลรอมฎอนก็ถูกมองว่าเป็นดัง “ช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์” ของการปฏิบัติการด้วยความรุนแรง

แต่ว่าที่จริงแล้วกลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิมก็มักจะใช้เทศกาลนี้เป็นเวลาของปฏิบัติการอยู่เสมอๆ จนไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่หากไม่ผูกโยงความรุนแรงกับเทศกาลดังกล่าวแล้ว ก็อาจเห็นถึงสถานการณ์ในอีกด้านหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งแต่เดิม “กระแสไอเอส” ดูจะพุ่งสูงขึ้นหลังจากความสำเร็จของกลุ่มในการบุกเข้ายึดโมซุล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรักในช่วงกลางปี 2014

จนหลังจากโมซุลถูกยึดครอง หลายๆ ฝ่ายก็กังวลอย่างมาก กลุ่มรัฐอิสลามอาจจะเปิดปฏิบัติการมุ่งใต้ด้วยการรุกเข้าตีแบกแดด ซึ่งอาจจะต้องถือว่าเป็นโชคดีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปในทิศทางดังกล่าว

กลุ่มกลับขยายตัวเข้าไปในซีเรีย โดยเฉพาะการมีฐานที่มั่นหลักที่สำคัญที่เมือง “รักกา” (Raqqa) จนถือกันว่ารักกาคือเมืองหลวงของกลุ่มไอเอส และในทางทหาร รักกาก็คือกองบัญชาการสูงสุดของกลุ่มนั่นเอง

ฉะนั้น หลังจากกลุ่มเข้าควบคุมเมืองโมซุลและพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรัก พร้อมกับขยายพื้นที่การยึดครองเข้าไปในซีเรียด้วยแล้ว ก็ทำให้เห็นชัดถึงสถานะของกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย” (The Islamic State of Iraq and Syria หรือ ISIS)

ฉะนั้น จากความสำเร็จในช่วงกลางปี 2014 เป็นต้นมาจนกลายเป็น “กระแสไอเอส” ในเวทีโลกที่ดึงดูดนักรบอาสาสมัครชาวมุสลิมจำนวนมากจากทุกภูมิภาคเข้าไปร่วมรบในพื้นที่ดังกล่าว

และต้องยอมรับว่าเมื่อกลุ่มนี้ขึ้นสู่กระแสสูงก็ตามมาด้วยปฏิบัติการที่เกิดขึ้นทั้งในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดการโจมตีฝรั่งเศสในเดือนมกราคม 2015 จนอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตก่อการร้าย” ของยุโรป

แต่จากช่วงปลายปี 2016 เป็นต้นมา ผลจากการขยายปฏิบัติการก่อการร้ายเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐ ทำให้กลุ่มถูกตอบโต้ด้วยการกดดันทางทหารอย่างหนัก

กองทัพอิรักภายใต้การสนับสนุนของปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐรุกเข้าตีเพื่อยึดโมซุลคืนอย่างต่อเนื่อง

แม้ปฏิบัติการนี้จะไม่รวดเร็วและมีการรบติดพันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเห็นถึงการตอบโต้ด้วยการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดฆ่าตัวตาย ตลอดจนการซุ่มยิง อันทำให้การรุกเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ของโมซุลประสบความยากลำบาก

แต่จากหลายเดือนที่ผ่านมา จนถึงปลายเดือนมิถุนายนต่อเข้าเดือนกรกฎาคม พื้นที่ของโมซุลก็เริ่มถูกปลดปล่อยทีละส่วนอย่างเห็นได้ชัด

จนอาจประเมินในทางทหารได้ว่าโมซุลคงถูกยึดกลับคืนมาในช่วงเวลาอีกไม่นานนัก

และแม้ศาสนสถานที่เคยถูกใช้ประกาศการเป็น “กาหลิบ” ของผู้นำไอเอสก็ถูกยึดคืนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าการปลดปล่อยโมซุลจากการยึดครองของกลุ่มรัฐอิสลามน่าจะประสบความสำเร็จในเร็วๆ นี้

จนอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังก้าวสู่สถานการณ์ใหม่ หรืออาจจะเรียกตามชื่อของพื้นที่ได้ว่า สถานการณ์ก่อการร้ายใน “ยุคหลังโมซุล”

พร้อมกันนี้กำลังรบของรัฐบาลซีเรียโดยมีการสนับสนุนทางอากาศจากรัสเซียก็เปิดการโจมตีรักกาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

และว่าที่จริงแล้วสถานการณ์ที่รักกาก็ไม่ได้แตกต่างจากที่โมซุล

ดังนั้น หากแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเช่นนี้ หลังจากโมซุลถูกยึดกลับโดยรัฐบาลอิรัก รักกาก็อาจจบลงด้วยการถูกยึดคืนโดยรัฐบาลซีเรียไม่แตกต่างกัน

ซึ่งถ้าคิดในบริบทของ “สงครามตามแบบ” แล้ว ก็คงจะเริ่มสรุปได้ว่ากลุ่มรัฐอิสลามกำลังเข้าสู่จุดสุดท้ายของความพ่ายแพ้

และจะแพ้อย่างแน่นอน เพราะพื้นที่หลักทางภูมิศาสตร์ของกลุ่มได้ถูกกำลังของฝ่ายรัฐยึดคืนแล้วทีละส่วน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเมื่อฐานที่มั่นหลักแตกและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ถูกควบคุม

ซึ่งก็น่าจะเป็น “จุดจบ” ของสงครามอย่างแน่นอน

แต่สำหรับกลุ่มรัฐอิสลามที่ไม่ได้มีฐานะเป็นรัฐ และเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เปิดการเคลื่อนไหวด้วยปฏิบัติการรุนแรงในรูปแบบต่างๆ นั้น การสูญเสียฐานที่มั่นและเสียพื้นที่ในควบคุมอาจจะไม่ใช่การพ่ายแพ้ในบริบทของสงครามตามแบบ

เพราะการต้องถอยออกจากโมซุลและรักกา ก็มิได้หมายความว่ากลุ่มจะไม่มีพื้นที่อื่นๆ ในอิรักหรือในซีเรียเหลือเป็นฐานที่มั่น

ซึ่งก็อาจเทียบเคียงได้กับสถานการณ์หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลตาลิบันในอัฟกานิสถานและการควบคุมคาบูล หรือหลังจากการล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ในอิรัก และการควบคุมแบกแดด ก็มิได้หมายความว่าสงครามต่อต้านตะวันตกในอัฟกานิสถานและในอิรักจะจบลงแต่อย่างใด

สงครามนอกแบบในประเทศทั้งสองยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากความสำเร็จของสหรัฐในการเข้ายึดพื้นที่และล้มรัฐบาลเป้าหมายลงได้

ดังนั้น เมื่อกลุ่มรัฐอิสลามไม่ใช่รัฐโดยตรง และมีสถานะเป็น “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” การสูญเสียพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้สงครามสิ้นสุดลง

แน่นอนว่าหลังจากโมซุลถูกยึดกลับ และรักกาถูกปิดล้อมมากขึ้น กลุ่มอาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้น และอาจจะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถบางส่วนของกลุ่ม

แต่ความจำกัดเช่นนี้ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ และขณะเดียวกันด้วยความเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ กลุ่มก็ไม่มีความจำเป็นโดยตรงที่จะต้องมีบริบทของพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์ และความไม่มีพื้นที่เช่นนี้อาจจะทำให้กลุ่มมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว โดยไม่มีความจำเป็นต้องระวังป้องกันกับพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใด และทั้งยังอาจทำให้กลุ่มเปิดการขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับบริบทของพื้นที่ เพราะในอีกด้านหนึ่งกลุ่มเองก็ถูกมองว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายที่พยายามจะทำให้ตัวเองกลายเป็น “รัฐ” จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งสภาวะของความเป็นพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่โมซุลหรือที่รักกาก็ตาม

การสูญเสียพื้นที่อาจจะเป็นปัจจัยที่บังคับให้กลุ่มกลับสู่สถานะเดิมของการเป็น “ขบวนติดอาวุธ” และต้องการ “พื้นที่หลบซ่อน” หรือที่เรียกว่าพื้นที่ที่เป็น “safe haven” ของการเคลื่อนไหว

ดังจะเห็นได้จากกรณีของ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ซึ่งหลังจากกำลังรบบุกเข้าอัฟกานิสถาน โค่นล้มรัฐบาลทาลิบัน และกดดันกลุ่มอัลกออิดะห์แล้ว บิน ลาดิน เองก็สามารถหลบซ่อนต่อเนื่องได้อีกยาวนานจนกว่าจะได้รับการค้นพบและสังหารในปี 2011 หรืออีกหลายปีต่อมา

สถานะที่ไม่เป็นรัฐเช่นนี้อาจจะเป็นความคล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่มทั้งสอง

ดังนั้น การที่กลุ่มรัฐอิสลามไม่ใช่ตัวแสดงที่เป็นรัฐ จึงทำให้เราใช้กรอบของความเป็นรัฐไปพิจารณาปัญหาการแพ้ชนะในการรบไม่ได้ และสงครามที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่สงครามตามแบบ ที่มีบรรทัดฐานของการแพ้ชนะที่ชัดเจน

ดังนั้น โอกาสของการก่อการร้ายใน “ยุคหลังโมซุล” (หรือปฏิบัติการความรุนแรงหลังจากโมซุลถูกยึดคืน) หรือในอีกบริบทหนึ่งก็คือ “ยุคหลังรักกา” (ถ้ารักกาถูกยึดคืนได้สำเร็จ) จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มจะปรับตัวทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีกับสถานการณ์ชุดใหม่นี้อย่างไร

การปรับตัวกับสถานการณ์ยุคหลังโมซุลอาจจะนำไปสู่การขยายปฏิบัติการและการจัดตั้งเข้าไปสู่พื้นที่ของยุโรปมากขึ้น

ดังจะเห็นได้ว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม หรือในเยอรมนี ล้วนมีความเชื่อมต่อกับกลุ่มรัฐอิสลามในทางหนึ่งทางใด

เช่น บางส่วนอาจจะมาในรูปแบบของการจัดตั้ง คือเป็นผู้ปฏิบัติการที่ผ่านสงครามในอิรักและในซีเรียมาแล้ว ซึ่งก็คือการเป็น “ผู้ก่อการร้ายในองค์กรจัดตั้ง”

แต่ความน่ากลัวในปัจจุบันก็คือ ผู้ก่อการร้ายที่เป็น “หมาป่าตัวเดียว” พวกเขาเชื่อมต่อทางความคิดกับองค์กร/ ขบวนใหญ่ หรือเป็น “ผู้ก่อการร้ายนอกจัดตั้ง” ที่พร้อมจะปฏิบัติการสนับสนุนเมื่อใดก็ได้… ที่ไหนก็ได้… กระทำต่อเป้าหมายแบบใดก็ได้

สภาพเช่นนี้ทำให้โลกตะวันตกกังวลอย่างมากกับสถานการณ์ก่อการร้ายในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รับรู้กันว่าแม้กลุ่มรัฐอิสลามจะแข่งขันในการสร้างอิทธิพลกับกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่ทั้งสองกลุ่มก็มีความเห็นร่วมกันที่ชัดเจนที่ต้องการเปิดการโจมตีกับเป้าหมายในโลกตะวันตก

ดังนั้น ไม่เพียงกลุ่มต้องเผชิญเพื่อยึดการโจมตีกับพื้นที่ในอิรักและซีเรียคืน แต่ในพื้นที่ของยุโรปเอง รัฐบาลต่างๆ ก็มีความพยายามร่วมกันในการขยายความร่วมมือทั้งในทางการข่าวและการเฝ้าตรวจติดตามเป้าหมายต้องสงสัย

จนทำให้เกิดคำถามว่า กลุ่มรัฐอิสลามจะปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในสถานการณ์ใหม่อย่างไร

ในสถานการณ์ของความถดถอยของกลุ่มรัฐอิสลามเช่นนี้ มีการเรียกร้องให้ปฏิบัติการแบบตัวคนเดียว หรือ “หมาป่าตัวเดียว” มากขึ้น อันเป็นแนวทางที่ Abu Muhammad al-Adnani เคยเรียกร้องในช่วงปี 2014 ให้ผู้สนับสนุนที่อยู่ในโลกตะวันตกเปิดปฏิบัติการโจมตีด้วยตัวเอง และในช่วงกลางปี 2016 เขาก็คงเรียกร้องให้ปฏิบัติในทิศทางดังกล่าว โดยขยายความว่าให้บุคคลเปิดการโจมตีแบบ “DIY” (do it yourself เช่นเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาติดตั้งเอง) คือปฏิบัติการในแบบคิดเอง-ทำเอง

คำตอบรับที่ชัดเจนก็คือ ปฏิบัติการขับรถพุ่งชนที่เมืองนีซ มีผู้เสียชีวิต 86 คน

และการโจมตีตลาดคริสต์มาสที่เบอร์ลิน มีผู้เสียชีวิต 12 คน ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นถึงปฏิบัติการแบบคนเดียวมากขึ้น

ในอีกส่วนหนึ่งของโลกก็อาจเกิดการเชื่อมต่อด้วยการขยายพื้นที่จากอิรัก-ซีเรียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปิดการโจมตีเพื่อยึดครองเมืองมาราวีในฟิลิปปินส์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนเป็นสัญญาณถึงปัญหาการก่อการร้ายในเอเชียที่ไม่อาจละเลยได้

ปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้มีการชู “ธงดำ” อันเป็นสัญลักษณ์โดยตรงของกลุ่มรัฐอิสลาม และยังมี “นักรบจิฮัด” จากภายนอกเข้าร่วมกับกลุ่มเมาเต้ ซึ่งตัวแบบของการโจมตีมาราวีบ่งบอกถึงความพยายามของกลุ่มไอเอสที่จะขยายพื้นที่เข้าสู่ภูมิภาคนี้

ซึ่งเฉพาะในกรณีของฟิลิปปินส์แต่เดิมก็มีกลุ่มอาบูไซยาฟที่ประกาศเข้าร่วมกับกลุ่มรัฐอิสลามเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ฟิลิปปินส์จะเป็น “ฮับ” หรือกล่าวว่าเป็น “ฐานที่มั่นหลัก” ของกลุ่มในพื้นที่แถบนี้ในอนาคต

สถานการณ์ก่อการร้ายในยุคหลังโมซุลจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง!