การศึกษา : จับตามาตรการ ‘ลดค่าเทอม’ ช่วยแบ่งเบาภาระตรงจุดหรือไม่?

 

 

จับตามาตรการ ‘ลดค่าเทอม’

ช่วยแบ่งเบาภาระตรงจุดหรือไม่?

 

เรียกร้องกันมาพักใหญ่ ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19

แบ่งเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสังกัดอื่นๆ ใน 3 มาตรการ คือ

มาตรการที่ 1 ช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครอง 11 ล้านคน วงเงิน 21,600 ล้านบาท

มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลด หรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563

และมาตรการที่ 3 ให้สถานศึกษาถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีการศึกษา 2564

และมีมติลดค่าเล่าเรียนของนิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 3 ขั้น สูงสุด 50%…

 

แม้จะมีมติไปแล้ว แต่ก็ยังขาดความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงอาจยังไม่รวดเร็วทันใจ

โดยนางเกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษก ศธ.ชี้แจงว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ส่งหนังสือให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาจัดสรรงบฯ ให้ โดย ศธ.ได้ส่งข้อมูลกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัด ศธ.และนอกสังกัด ศธ.ที่ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท ประมาณ 11 ล้านคน ประกอบด้วยสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน ประมาณ 9.8 ล้านคน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.มีทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มโรงเรียนสาธิต สังกัด อว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

“หากสำนักงบประมาณอนุมัติเงินให้แล้ว จะโอนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดต่อไป เพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดไปบริหารจ่ายเงินต่อไป โดยสถานศึกษาจะต้องดำเนินการตามมติ ครม. คือต้องจ่ายเงินให้ผู้ปกครองโดยตรง 2,000 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ขณะนี้รอสำนักงบประมาณพิจารณา และแจ้งกลับมาว่าจะให้งบฯ เท่าไหร่ และจะมอบให้ในช่วงไหน คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ จะจ่ายไปตามฐานข้อมูลที่ ศธ.เคยจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียน โดยจะนำเงินให้โรงเรียนโดยตรง ซึ่งทางโรงเรียนจะบริหารจัดการเองว่าจะจ่ายเงินให้ผู้ปกครองอย่างไร อาจจะจ่ายเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีธนาคาร เป็นต้น ส่วนโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น อาจจะให้เงินกับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เพื่อให้ ศธจ.นำเงินส่งต่อไปที่โรงเรียน หรืออาจจะจัดสรรให้โรงเรียนโดยตรง เป็นต้น” โฆษก ศธ.กล่าว

แม้รัฐบาลจะอนุมัติมาตรการช่วยเหลือ แต่ก็อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอ ต้องยอมรับว่า ความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้หนักหน่วง ผู้ปกครองนักเรียนหลายคนตกงาน อย่างเด็กที่เรียนเอกชน นานาชาติ หรือโรงเรียนสาธิตหลายรายอาจต้องถึงขั้นให้เด็กย้ายโรงเรียน

อย่างกรณีผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตหลายรายสอบถามผู้บริหารโรงเรียนสาธิตต่างๆ ทางเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน โดยขอให้ทางโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ช่วยพิจารณาลดค่าเทอม นอกเหนือจากค่าอาหาร ค่านม ค่าแอร์ หรือค่ากิจกรรมต่างๆ

โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ซึ่งได้เรียนผ่านออนไลน์วันละไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเต็มที่ ซึ่งทางแอดมินเพจของโรงเรียนสาธิตแจ้งว่า ได้แจ้งผู้บริหารไปแล้ว หรือบางแห่งระบุว่าเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลด้านนโยบาย

 

นายสมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้ผู้ปกครองกรอกแบบสอบถาม ว่าต้องการให้โรงเรียนช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง และมีการช่วยเหลือไปแล้วบางส่วนในวงเงินไม่เกิน 5,000 บาท และได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. คือรายละ 2,000 บาท ส่วนจะสามารถลดค่าเทอม 50% เท่ากับระดับอุดมศึกษา ได้หรือไม่นั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะสาธิตเป็นการเรียนระดับขั้นพื้นฐาน การดำเนินการใดๆ จะต้องสอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.

ขณะที่นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกชัดว่า แม้ ครม.จะมีมติอุดหนุนงบฯ ส่วนหนึ่งให้มหาวิทยาลัยเพื่อช่วยลดภาระค่าเทอมของนิสิต นักศึกษา แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ขณะนี้จึงได้แต่เตรียมความพร้อม คำนวณตัวเลขงบฯ ที่ต้องใช้ทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว หากไม่มีปัญหาและมีความชัดเจนเรื่องงบฯ มก.ก็พร้อมสำรองจ่ายคืนค่าเทอมให้นิสิตได้ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ เพราะเข้าใจว่างบฯ จากรัฐบาลคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งอาจใช้เวลานาน

ส่วนโรงเรียนสาธิต ทั้งประถม มัธยม และหลักสูตรนานาชาตินั้น มีนโยบายไปแล้ว ให้ยกเว้นการเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนที่นักเรียนไม่ได้ใช้จริง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่ถึง 50% เท่าเด็กมหาวิทยาลัย โดยเข้าใจว่า โรงเรียนจะนำไปเป็นส่วนลดในเทอมถัดไป ซึ่งเหลืออีกไม่กี่เดือน ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆ เป็นไปตามนโยบายของ ศธ.

“อยากฝากถึงผู้ปกครอง นักเรียนและนิสิต มก.ทุกคน ผมย้ำมาตลอดว่า ทุกคนต้องได้เรียน หากใครเดือดร้อนจริงๆ ก็พร้อมผ่อนผันการเก็บค่าเล่าเรียนออกไป แต่ผมอยากช่วยคนที่เดือดร้อนจริงๆ คนที่ไม่มีรายได้และอาจต้องออกจากระบบการศึกษา ในรูปแบบการให้งานทำ แต่มีเงินค่าตอบแทนให้เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งสามารถช่วยนิสิตไปแล้วจำนวนมาก” นายจงรักกล่าว

เรียกได้ว่า วิกฤตครั้งนี้หนักหนาสาหัสจริงๆ กระทบไปทุกภาคส่วนของสังคม หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไข ช่วยเหลือเยียวยาให้ตรงจุดแล้ว ก็ไม่รู้จริงๆ ว่า ประเทศไทยจะถอยหลังเข้าคลองไปอีกกี่ก้าว…