14 ตุลาคม 2516… จะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่? : หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

14 ตุลาคม 2516…

จะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่?

 

องค์ประกอบของความขัดแย้งในปัจจุบัน

มีความเหมือนและต่างกับปี 2516 อย่างไรบ้าง

เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการกับประชาชน

ในยุค 2516 เรียกเผด็จการว่า 3 ทรราช ซึ่งได้อำนาจปกครองมายังไม่ถึง 10 ปี แต่ถ้านับจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประชาชนก็ตกอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการประมาณ 15 ปี เพราะจอมพลสฤษดิ์รัฐประหารปี 2500

เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตลงในปลายปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้มารับอำนาจต่ออีก 6 ปีจึงมีการเลือกตั้งแทรกเข้ามาในปี 2512 แต่จอมพลถนอมก็ปฏิวัติรัฐบาลตัวเองในปี 2514 ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จนถูกประชาชนเคลื่อนไหวโค่นล้มใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ถ้าเทียบกับยุคใหม่นี้ คือมีการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 จากนั้นก็มีการต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด มีทั้งการเดินขบวนขับไล่ ใช้ตุลาการภิวัฒน์ตัดสิทธิ์ทางการเมือง สุดท้ายก็ต้องใช้การรัฐประหารในปี 2557 อีกครั้งและก็ปกครองต่อมาถึง 2562 จึงมีการเลือกตั้ง สืบทอดอำนาจถึงปัจจุบัน

จากปี 2549 ถึงปีนี้เวลาประมาณ 15 ปีเช่นกัน แต่สภาพแวดล้อมในสังคมและการเมืองต่างกัน

 

พื้นฐานแนวคิดทางการเมือง และอุดมการณ์

จอมพลสฤษดิ์, จอมพลถนอม และจอมพลประภาส ไต่เต้ามาจากการเข้าร่วมทำการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 โค่นรัฐบาลฝ่าย ดร.ปรีดี พนมยงค์ และเติบใหญ่ขึ้นมาใต้เงาอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ป่วยตาย อำนาจจึงตกมาตามสายการเมืองและสายบังคับบัญชา แต่จอมพลสฤษดิ์ก็ถูกฟ้องและยึดทรัพย์ในข้อหาคอร์รัปชั่น

ย้อนดูกลุ่มผู้มีอำนาจในยุคนี้ก็เติบโตมาจากการรัฐประหาร ดร.ทักษิณในปี 2549 เช่นกัน ดังนั้น พื้นฐานความคิด อุดมการณ์ ความเคยชินของผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่ผู้มีอำนาจ 2 ยุคทำเหมือนกันคือ

1. ใช้อำนาจทางทหารในการรัฐประหารและในการปราบปรามถ้ามีผู้ต่อต้าน

2. ใช้การร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ เพื่อร่างกฎเกณฑ์กฎหมายให้ได้ตามที่ตนเองต้องการและบังคับให้ประชาชนยึดถือสิ่งนั้นเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์

แต่ในยุคใหม่ได้มีการใช้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ เพื่อใช้ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด ตามที่ฝ่ายตนต้องการได้ และก็อ้างว่านี่เป็นการตัดสินตามกฎหมายหรือตามหลักฐาน

 

ความพยายามจะสืบทอดอำนาจ

ผู้นำระบบเผด็จการหวังแปลงกายไปเป็นผู้นำประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ โดยใช้การแสดงการเลือกตั้ง สร้างรัฐธรรมนูญที่ร่างเองและการซื้อเสียง ส.ส.

เผด็จการทั้งสองยุคต่างก็พยายามถ่วงเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะปกครองแบบเผด็จการสมบูรณ์ให้ ที่สุด จอมพลถนอมสามารถดึงเวลาร่างรัฐธรรมนูญได้อีก 4 ปีกว่า ต่อจากจอมพลสฤษดิ์ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 ปีถ่วงไว้รวมแล้ว 9 ปีกว่า ถ้าเทียบกับการรัฐประหาร 2557 ก็ดึงเวลาไว้ได้ประมาณ 4 ปี

ในรัฐธรรมนูญนั้นที่สำคัญก็คือให้มี ส.ว.มาช่วยค้ำเก้าอี้นายกฯ

ในยุคจอมพลถนอมไม่ได้มีเขียนไว้ว่าให้ ส.ว.เลือกนายกฯ แต่ ส.ว.มาจากข้าราชการประจำได้ และสามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ มีจำนวนถึง 3 ใน 4 ของ ส.ส. รัฐธรรมนูญยังให้มี ส.ส.อิสระลงสมัครได้ด้วย

ดังนั้น การซื้อเสียง ส.ส.อิสระมาสนับสนุนเป็นรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องยาก

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ใช้หลัก ส.ว. 250 คนมาช่วยหนุนการเลือกนายกฯ แต่ไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจ และใช้วิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และมีกฎหมายพรรคการเมืองให้ ส.ส.สามารถย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น เราจึงเห็น ส.ส.ไปรับแจกกล้วย

พรรคสหประชาไทของจอมพลถนอมชนะเลือกตั้งเป็นที่หนึ่ง แต่ได้เสียงไม่มาก ต้องไปดึงตัว ส.ส.อิสระและพรรคเล็กมาช่วย ส่วนในการเลือกตั้งปี 2562 รัฐธรรมนูญบีบบังคับไว้แล้วว่านายกฯ จะต้องมีเสียงเกินครึ่งของรัฐสภา ทำให้พรรคที่จะได้นายกฯ ต้องมีเสียง ส.ว.มาช่วยหนุน เพราะต่อให้ชนะเกินครึ่ง ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ

ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 การวางฐานอำนาจต่อเนื่องของระบบเผด็จการ ใช้เวลาเป็น 10 ปีจึงคุมทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ส่งคนเข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจ เดือนมกราคม-เมษายน 2516 อำนาจรัฐยังดูมั่นคงมาก

แต่ภายใต้ภาวะที่เงียบสงบมีความไม่พอใจและความเกลียดชังแฝงอยู่ทั่วแผ่นดิน

วันนี้สถานการณ์คล้ายกัน แต่สิ่งที่พวกเขายึดกุมไว้ไม่เพียงแค่กำลังทหารเท่านั้น แต่ใช้โครงสร้างการรักษาอำนาจหลายด้าน หลายองค์กร

แผนสืบทอดอำนาจทำไปได้ 80% แล้ว แต่การไร้ความสามารถในการบริหารและข่าวการโกงกินที่แผ่ไปทั่วทุกฝ่ายทำให้เกิดการไม่ยอมรับผู้ใช้อำนาจทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายตุลาการ กลายเป็นจุดตาย

 

โอกาสเกิด 14 ตุลาคม 2564 จะถูกปิดก่อน

หลังจากโควิดระบาดในปี 2563 และประชาชนได้เห็นฝีมือการบริหารของกลุ่ม คสช.และการสืบทอดอำนาจ สรุปได้ว่า 7 ปีที่ผ่านมา ทำงานไม่ได้เรื่อง และคงไม่สามารถพาชาติผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิคได้

แม้ยังมีสภาพแตกทางความคิดของประชาชนเป็น 2 ฝ่าย แต่วันนี้ความเห็นของคนส่วนใหญ่เหมือนกันว่าจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล คล้ายกับก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่คนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า รัฐบาลเผด็จการขณะนั้นใช้ไม่ได้ ต้องเอาออกไป

แต่การเปลี่ยนรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านระบบรัฐสภาอย่างเดียวขณะนี้ไม่สามารถทำได้ จริงๆ แรงกดดันจากประชาชนจะเป็นปัจจัยหลัก

แม้การแสดงการไม่ยอมรับให้แก้รัฐธรรมนูญทำให้การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนอกสภาก็ยังเกิดได้ต่อเนื่อง แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิดและเรื่องเศรษฐกิจ

ถ้าความล้มเหลวในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิดยังดำเนินต่อไปอีก 2 เดือน คาดว่าแรงต่อต้านของประชาชนจะแรงขึ้น ในเมื่อโรคระบาดไม่ได้ลดลง สภาพเศรษฐกิจจะยิ่งแย่กว่าวันนี้ แม้คนจะกลัวโควิด แต่ก็จะหาวิธีต่อต้านรัฐบาลด้วยรูปแบบต่างๆ

แต่คิดว่าจะไม่ออกมาตามตัวแบบ 14 ตุลาคม 2516 เพราะ

เมื่อกระแสแรงขึ้น ฝ่ายผู้ปกครองที่เห็นว่าต้านไม่ไหว ก็จะใช้เล่ห์เหลี่ยมแบบเก่าด้วยการเปลี่ยนหัว เชื่อว่าจะชิงเปลี่ยนหัวก่อนที่จะถูกโค่นล้มไปทั้งหมด แต่การเปลี่ยนหัวก็ใช่ว่าจะมีคนยอมรับง่ายๆ ดังนั้น อาจมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ถ้าฝ่ายต่อต้านไม่มีแรงผลักดันที่เข้มแข็งพอก็จะไม่ได้อะไร นอกจากการเปลี่ยนตัวนายกฯ และ ครม. แต่ถ้าเข้มแข็งพอก็จะสามารถลุกคืบไปแก้รัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างได้บ้าง

ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยการต่อสู้ในระยะเวลาสั้นๆ ฝ่ายเผด็จการวางรากฐานตามกฎหมายบุคคลและองค์กร ยังต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี การจะแก้ไขโครงสร้าง ก็ต้องใช้เวลานานมากเช่นกัน ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีโอกาสอยู่ในอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตย วิธีตรวจสอบ การสร้างองค์กรมาตรฐานและสร้างตัวบุคคล ที่มีความสามารถแต่ต้องถูกตรวจสอบได้

การต่อสู้เพื่อได้เป็นแค่รัฐบาล มีบทเรียนที่ผ่านมา 15 ปี ว่ามีองค์กรเยอะแยะที่ล้มรัฐบาลได้ด้วยข้ออ้างต่างๆ

ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่จน เจ๊ง เจ็บกันทั้งประเทศ ก็ยังสรุปได้ว่า จะไม่เกิด 14 ตุลาคม 2564 เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าเหมือนเด็กหนุ่ม-สาว…เพื่อผลประโยชน์ของคณะปรสิต การยุบสภาจึงเป็นการลดแรงกดดันที่ง่ายกว่าหนทางอื่น