ก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าทางตัน เอกชนจ่อคอ รัฐบาล ฝ่าดงหนามโควิด/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าทางตัน

เอกชนจ่อคอ รัฐบาล ฝ่าดงหนามโควิด

 

การระบาดโควิดสร้างผลกระทบเป็นภาพจำที่ชัดเจนจากปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 และพบการระบาดระลอกใหม่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่า แต่สถานการณ์การระบาดโควิดยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งทะลุหลัก 2 หมื่นคนต่อวัน ถือเป็นการทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) และจำนวนผู้ติดเชื้อยังทรงตัวในระดับสูงเกือบ 2 หมื่นคนต่อวันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อดูท่าจะเอาไม่อยู่ รัฐบาลจึงต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ออกมาใช้อีกครั้ง หวังควบคุมการระบาดที่เริ่มหนักขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ตามสไตล์รัฐ แรกๆ เริ่มจากล็อกดาวน์ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม แต่สถานการณ์แย่ลงๆ ล่าสุดประกาศล็อกดาวน์ 29 จังหวัด

รอบนี้กำหนดประเมินสถานการณ์เพื่อทบทวนต่อหรือไม่ต่อสูงสุดในวันที่ 18 สิงหาคมที่จะถึงนี้

หากสถานการณ์โควิดระบาดไม่ได้แผ่วลง โอกาสยืดอีก 14 วันใช้มาตรการสูงสุดออกไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม

เสียงส่วนใหญ่ไม่ว่าเอกชน นักวิชาการ หรือหน่วยงานรัฐ เชื่อว่า คงล็อกดาวน์ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม บนการวิเคราะห์ด้านสาธารณสุข และความรู้สึกของประชาชนต่อการบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 ของไทย ที่ครั้งนี้ปล่อยการเดินทางกลับภูมิลำเนาข้ามจังหวัด ก่อนเพิ่มล็อกดาวน์

ดังนั้น จากนี้อีก 4-7 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันทำจุดสูงสุด (พีก) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนสิงหาคมต่อถึงกลางเดือนกันยายน

 

ใช่ว่าจะพีกแค่ด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีกว่ากันนัก สะท้อนจากทุกสำนักด้านเศรษฐกิจออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี 2564

ไม่ว่าจะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองติดลบ 1.5% ทั้งที่เพิ่งปรับลดตัวเลขก่อนหน้านี้ไม่ถึง 2 เดือน ที่ปรับลดจาก 3% เหลือ 0.5-2%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่ายังโตได้แต่แค่ 0.7% จากเดิม 1.8%

ส่วนนักวิชาการและนักวิเคราะห์ทางการเงินก็ปรับลดเฉลี่ย บวกหรือลบ 1% เพราะหากปีนี้ติดลบ เท่ากับเศรษฐกิจติดลบต่อเป็นปี 2 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นได้บ่อยนัก!!

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) หนึ่งในตัวแทนภาคเอกชนให้มุมมองไว้ว่า มาตรการล็อกดาวน์ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจแค่จะมากหรือน้อยอย่างกันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นธุรกิจประเภทใด

อาทิ หากเป็นภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ขณะนี้ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่ก็เริ่มเห็นการระบาดโควิดเข้าไปตามโรงงาน ก็ต้องหาทางควบคุมเฉพาะจุดไปให้ได้ ปิดหมดก็จะเกิดปัญหาสินค้าป้อนตลาด หากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคบริการ สถานการณ์เข้าขั้นไอซียู ธุรกิจปิดตัวถาวรก็เกิดได้ทุกวัน ซึ่งการใช้มาตรการล็อกดาวน์ไม่ว่าจะสลับเวลายาวบ้างสั้นบ้าง

เขายังย้ำอีกว่า หากยังไม่มีวัคซีนเข้ามาในจำนวนที่เพียงพอ ไม่สามารถแยกคนป่วยติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง และคนไม่ติดเชื้อออกจากกันได้อย่างชัดเจน การล็อกดาวน์ก็เป็นเพียงการชะลอไม่ให้คนออกจากบ้าน หรือลดการทำกิจการตามปกติลงเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยลดการติดเชื้อได้จริง สะท้อนได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะใช้มาตรการล็อกดาวน์แล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทุกคาดหวัง คือการพบผู้ติดเชื้อโควิดลดลง หากวัคซีนยังไม่เข้ามาในจำนวนที่เพียงพอจนสามารถฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ ประเทศไทยจะยังเหนื่อยมากต่อไป เพราะเมื่อปลดล็อกดาวน์แล้ว ตัวเลขติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้นอีก ต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมการระบาดใหม่อีก เกิดวงจรเดิมซ้ำๆ วนไปมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวจากนี้ได้เร็ว และมูลค่าเสียหายมหาศาล

“การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในขณะนี้ ยังถือว่าอยู่ในระดับที่พอรับไหว แต่หากใช้โมเดลอู่ฮั่นหรือการปิดเมือง 100% รัฐบาลต้องพิจารณามาตรการรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น และหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจรอไว้ทันที ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยแตกต่างกับอู่ฮั่น เพราะตอนที่อู่ฮั่นล็อกดาวน์เมืองนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าในไทยตอนนี้มาก อยู่หลักพันต่อวันเท่านั้น แต่ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อในหลัก 2 หมื่นคนต่อวันแล้ว และทรงตัวอยู่ในระดับเกือบ 2 หมื่นคนต่อวันอย่างต่อเนื่อง ทำให้หากไม่มีวัคซีนเข้ามาตามจำนวนที่เราต้องการ การล็อกดาวน์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร”

“ซึ่งความจริงมองว่า การล็อกดาวน์เป็นทางออกในระดับหนึ่ง แต่ต้นทุนเดิมมีจำนวนมากเกินไป คือ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้มีมากเกินไป โอกาสที่จะปรับให้ลดลงทำได้ยาก และไม่มีเครื่องมือช่วยได้ ยกเว้นการนำยาสมุนไพรเข้ามาช่วย อาทิ ฟ้าทะลายโจร เพื่อให้ผู้ป่วยสีเขียว-เหลือง รักษาหายกลับบ้านได้ แต่ผู้ป่วยสีส้มหรือสีแดง ยังไม่สามารถช่วยได้”

 

ประธาน ส.อ.ท.ระบุต่อว่า การรับมือกับการระบาดโควิด และการผ่านวิกฤตไปให้ได้นั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน อย่างที่เคยพูดและส่งเสียงมาตลอด เนื่องจากในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) มีวาระประจำของภาครัฐอยู่แล้ว แม้ภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำเสนอข้อเสนอหรือเรื่องที่เตรียมไปได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทีมนี้ไม่มีภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมได้แม้แต่คนเดียว ทำให้การออกมาตรการต่างๆ เป็นการพิจารณาของภาครัฐเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ในการหารือร่วมกัน เป็นวาระการนำเสนอของภาคเอกชน เพื่อสะท้อนเสียง หรือแผนงานต่างๆ ที่มีอยู่

“อยากบอกนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ต้องสนับสนุนเปิดนำวัคซีนให้ได้มากที่สุด ผ่านองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ วัคซีนถือเป็นการตอบโจทย์ทุกปัญหาเศรษฐกิจ ไม่อย่างนั้นต้องล็อกดาวน์และปลดล็อกดาวน์ไปเรื่อยๆ หากวันนี้ไม่มีต่างชาติบริจาคเข้ามา ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น วัคซีนที่นำเข้ามาก็ไม่สามารถทำได้ตามแผนของรัฐบาล ความช่วยเหลือเยียวยาก็ต้องแรงตาม ยืนยันว่าไทยสามารถกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท รวมของเดิมเป็น 2 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและลดวิกฤตในอนาคต เพียงระมัดระวังกู้แล้วใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ตกหายระหว่างทาง ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนจริง เป็นแหล่งเงินกู้พยุงธุรกิจด้วย เมื่อสถานการณ์ระบาดลดลง ธุรกิจก็แข็งแรงพอที่จะกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง”

ขณะที่ธุรกิจอีกไม่น้อย ประกาศยอมเสี่ยงฝ่าโควิดดีกว่าอดตาย สะท้อนจากตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเดือนไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อเดือน พุ่งเป็น 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน

ดูเหมือนจะถึงทางแยกสุดท้ายที่รัฐบาล “ประยุทธ์” ต้องเลือก ทั้งด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ควรไปทางใดที่นำพาประเทศก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้