เครื่องเคียงข้างจอ : สงครามทำมือ / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

สงครามทำมือ

 

ช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนจะหลีกลี้หนีเรื่องร้ายๆ จากโควิด มาหาความสุขจากการติดตามชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์” กัน

นอกจากความน่าสนใจว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะเดินไปท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ตลอดรอดฝั่งอย่างไร เรายังได้เห็น “ความเป็นญี่ปุ่น” ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการจัดการแข่งขันแบบรักษ์โลก การซุกซ่อนคุณค่าของประวัติศาสตร์และเรื่องราวของวิถีญี่ปุ่นในทุกรายละเอียด

การเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบันเพื่อสะท้อนไปสู่อนาคตก็เป็นสิ่งที่โตเกียวเกมส์ครั้งนี้ทำได้อย่างวิเศษ

ซึ่งญี่ปุ่นนั้นได้รับการยอมรับอยู่แล้วในเรื่องของการ “เก็บคุณค่าของเก่า” และ “พัฒนาสู่ของใหม่” ได้อย่างน่าชื่นชม

ดังปรากฏในงานฝีมือของญี่ปุ่นหลายแขนง ที่พัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แนวทางการออกแบบที่ทันสมัย ทำให้ “ผลิตภัณฑ์” ของญี่ปุ่นมีคุณค่าขึ้นอย่างมาก

 

สําหรับประเทศไทยเราเองก็มีเอกลักษณ์ของงานศิลปะที่โดดเด่น โดยเฉพาะกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราก็ไม่น้อยหน้าใคร เมื่อได้รับการจัดการดูแลส่งเสริมให้ถูกทางก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ซุกซ่อนศิลปะและความงามของวิถีชีวิตของคนไทยได้เช่นกัน

ปัจจุบันนี้มีองค์กรหนึ่งที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่นั่นคือ “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรม (องค์การมหาชน)” หรือชื่อเดิมคือ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) ได้ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านหัตถกรรมแขนงต่างๆ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อการศึกษาค้นคว้าพัฒนาต่อยอดได้ง่าย

รวมทั้งได้รวบรวมบุคคลที่เป็น “ครูช่าง” จากงานฝีมือต่างๆ ไว้ทุกพื้นที่ เพื่อเป็นคลังสมองและคลังฝีมือในการสร้างงานหัตถกรรมของไทยให้คงอยู่ต่อไป

ไม่แต่เก็บรักษาอนุรักษ์เท่านั้น แต่องค์กรนี้ได้มุ่งหวังที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็น “ผลิตภัณฑ์ระดับโลก” อีกด้วย โดยได้ความร่วมมือจากนักออกแบบรุ่นใหม่ นักการตลาดที่ทันกับความต้องการของโลก นักวิชาการที่ช่วยพัฒนาวัสดุของเราให้หลากหลายและตอบสนองประโยชน์ได้มากขึ้น

อย่างผ้าไทยย้อมสีที่มักจะมีปัญหาเรื่องซักแล้วสีตก ก็มีการแก้ไขให้ไม่มีปัญหานั้นได้แล้ว หรือผ้าไหมไทยรุ่นใหม่ที่สามารถซักแล้วไม่ต้องรีดก็คงรูปสวยงามดั่งเดิมได้ นี่ก็เป็นการพัฒนาองค์ความรู้อย่างหนึ่ง

เรื่องของการตลาดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราทำสินค้าออกมาแล้วขายไม่ออกก็จะเกิดประโยชน์อะไร โดยเฉพาะถ้าเป็นตลาดโลกย่อมต้องศึกษาความต้องการของตลาดนั้นๆ ให้ชัดเจน

การเปิดเวทีเพื่อให้นักออกแบบที่มีความสามารถได้แสดงฝีมือก็เป็นทางหนึ่งในการพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้ “ไอเดีย” ที่แปลก เป็นที่สนใจ และตอบสนองความต้องการได้ โดยเฉพาะเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ไปไกลมากทีเดียว

 

รายการโทรทัศน์ที่ชื่อ “SACICT War Craft สงครามทำมือ” จึงกำเนิดขึ้นด้วยจุดประสงค์นี้ ถ่ายทำเป็นรายการเรียลลิตี้แข่งขันการออกแบบผลิตภัณฑ์ “จักสาน” โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้สินค้าใน 3 รูปแบบคือ สินค้าแฟชั่น, สินค้าประดับและตกแต่ง และสินค้านวัตกรรม

เปิดรับนักศึกษาที่เรียนการออกแบบและศิลปะโดยเฉพาะจับกลุ่มกันเป็นทีม ทีมละ 3 คน จะมาจากสถาบันเดียวกันหรือต่างสถาบันก็ได้ ส่งผลงานมาให้คณะกรรมการได้คัดเลือกเพื่อหา 5 ทีมสุดท้ายที่จะขับเคี่ยวกันเป็นผู้ชนะในตลอด 8 ตอนนี้

จากผลงานที่ส่งมาในการสมัครจนคัดให้เหลือ 5 ทีม ต้องบอกเลยว่าไอเดียของน้องๆ ไม่ธรรมดา

หลายชิ้นงานสร้างความประหลาดใจให้กับกรรมการได้ถึงแนวคิด และเอ็นด์โปรดักต์ ที่ออกแบบไว้

แน่นอนที่นี่เป็นแค่ขั้นเริ่มต้น เพราะงานออกแบบนั้นยังต้องถูกเจียระไนในเงื่อนไขการผลิตและความเป็นไปได้จริงอีกด้วย

 

จึงเกิดเป็นการผสมผสานที่น่าสนใจระหว่าง “นักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรง” กับ “ครูช่างที่มากประสบการณ์”

โดยแต่ละทีมที่เป็นคนรุ่นใหม่ 3 คนจะมีครูช่างประจำกลุ่มเพื่อร่วมกันทำงาน 1 คน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่คนรุ่นเก่าจะเปิดรับความคิดคนรุ่นใหม่แค่ไหน คนรุ่นใหม่จะรู้จักเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานจริงมาตลอดชีวิตของคนรุ่นเก่า เพื่อมาประยุกต์ต่อยอดกับงานออกแบบอย่างไร เป็นสงครามย่อยๆ ภายในกลุ่ม นอกจากสงครามระหว่างทีมการแข่งขันกันเองแล้ว

 

ครูช่างที่ให้เกียรติร่วมรายการนี้ก็มี “คุณเรืองยศ หนานพิวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญการจักสานกก จ.นครพนม, “รศ.วาสนา สายมา” ผู้เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมไม้ไผ่ จ.เชียงใหม่, “คุณมนัทพงค์ เซ่งฮวด” ผู้เชี่ยวชาญหัตถกรรมกระจูด จ.พัทลุง, “คุณณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี” ผู้เชี่ยวชาญหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ จ.เพชรบุรี และ “คุณคมกฤช บริบูรณ์” ผู้เชี่ยวชาญงานจักสานด้วยไม้ไผ่ จ.ชลบุรี

นอกจากนั้น ยังมีความน่าสนใจเพิ่มเติมจากผู้ที่เราเรียกว่า “ผู้เสริมทัพ” ซึ่งเป็นศิลปินนักแสดง ที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับงานออกแบบหรืองานศิลปะพื้นบ้านไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมาเป็น “คู่คิด” ให้กับแต่ละทีม ทีมละ 1 คนอีกด้วย

ผู้เสริมทัพที่ว่านี้ก็มี “แพนเค้ก เขมนิจ” นักแสดง นางแบบชื่อดัง, “จิ๊บ ปกฉัตร” นักแสดงที่เรียนด้านการออกแบบมาโดยเฉพาะ, “ตูมตาม ยุทธนา” นักแสดง นักร้องหนุ่มผู้ผูกพันกับศิลปะพื้นบ้านอีสานมาตั้งแต่เล็ก, “นิว ชยพร” นักแสดงหนุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ได้พบเห็นงานหัตถกรรมมาแล้วจากหลายๆ แหล่ง และ “บุ๊กโกะ ธนัชพันธ์” ดีเจและพิธีกร ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียเริ่ด มาเสริมความคิดกับน้องๆ

“ไม่นึกเลยนะครับพี่ ว่าน้องๆ จะออกแบบได้ขนาดนี้” ตูมตามเอ่ยถึงงานของเด็กๆ

“นึกว่าจะออกแบบกันสนุกๆ ที่ไหนได้ทุกคนจริงจังมาก อยากให้งานออกมาดี” แพนเค้กเสริม

 

และนอกจากผู้เสริมทัพที่เป็นศิลปินดาราแล้ว ยังมี “ผู้เจนทัพ” ที่จะเป็น mentor ให้กับงานออกแบบที่จะต้องนำไปผลิตได้จริงอีก 3 คน ได้แก่

“กรกต อารมย์ดี” นักออกแบบงานหัตถกรรมไม้ไผ่ที่โด่งดังไปทั่วโลก เจ้าของแบรนด์ “KORAKOT”

“หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา” ดีไซเนอร์แนวหน้าของเมืองไทย

“นุ้ย-สุจิรา อรุณพิพัฒน์” พิธีกรและนักแสดง ที่สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบมาโดยเฉพาะ

ทั้งสามคนจะนำความรู้ ประสบการณ์ และมุมมอง มาสะท้อนงานออกแบบของแต่ละทีม เพื่อกลั่นกรองเจียระไนให้ออกมาเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่ตอบโจทย์ในความเป็นจริงได้มากที่สุด

 

จากการบันทึกเทปที่ผ่านมา บอกได้ว่าทั้งสามคนกัดไม่ปล่อยจริงๆ หลายคำพูดทำลายความมั่นใจของเด็กๆ ได้เลย บางคนถึงกับน้ำตาตก แต่ทั้งนั้นก็เพื่อที่จะให้เด็กๆ ได้คิดและกลับไปแก้ไขงานมาใหม่ให้ดีที่สุด นี่ก็คือ “สงครามระหว่างนักออกแบบ และ mentor” ที่ผู้ชมจะได้ชมในรายการ

งานนี้ เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย รับหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรค์รายการ ดำเนินการแข่งขันโดย “สัญญา คุณากร” พิธีกรอันดับต้นๆ ของวงการ ที่จะควบคุมการทำสงครามให้เข้มข้น น่าติดตาม และชวนให้ลุ้นเชียร์แต่ละทีมกัน ติดตามได้ทางช่องอมรินทร์ทีวี 34 ทุกวันเสาร์ เวลา 16.30-17.00 น. เริ่มออกอากาศตอนแรกวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคมนี้

สำหรับผู้ที่ร่ำเรียนหรือทำงานทางการออกแบบคงจะสนุกกับการติดตามชม แต่ไม่ใช่เท่านั้น ไม่ว่าคุณจะหยิบจับทำงานอะไร กระบวนการและองค์ความรู้ที่จะผลักดันให้เกิดมาซึ่งผลงานที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง รายการนี้จะช่วยชี้แนะบอกกล่าวเพื่อเป็นต้นน้ำให้เรานำไปปรับประยุกต์ใช้ได้จริง จึงเหมาะสำหรับคนทำงานทุกสาขาวิชาที่จะหาสาระและประโยชน์จากรายการได้

มาร่วมชมสงครามแห่งการออกแบบงานจักสาน ที่ต้องสร้างผลงานระดับสากลออกมาให้ได้โดยฝีมือคนต่างรุ่น ต่างวัย ต่างมุมมองและแนวคิด ที่ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพของการทำทุกอย่างในโลกปัจจุบันนี้ นั่นคือ “พลังของคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า”

ติดตามชม “SACICT War Craft สงครามทำมือ” กันนะครับ