เจตจำนงคงอำนาจ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

เจตจำนงคงอำนาจ

 

“สิ่งใดๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมานั้นต้องตระเตรียมที่จะเผชิญหน้ากับการแตกสลายอันน่าเจ็บปวดของตัวมันเอง” – นิทเช่

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้ปีเดียว “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ออกมาเปิดเผยว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

คำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน เราจะทำตามสัญญา” จึงเป็นกลลวง โดยต่อมาก็มี “รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เป็นประจักษ์หลักฐาน

กว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก็ยื้อเวลาไปถึง 24 มีนาคม 2562 “หัวหน้า คสช.” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรียาวนานเสียยิ่งกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชนชาวไทย

คำถามจึงอื้ออึง “อธิปไตยเป็นของใคร”!

มาตรา 3 รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ลายลักษณ์อักษรประกาศชัด

แต่ด้าน “ปฏิบัติ” ชวนให้สงสัย อย่างเช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วต่ออายุเรื่อยมาราวกับเสพติดอำนาจ นับตั้งแต่ครั้งที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันละคนสองคน จนวันนี้มีผู้ติดเชื้อวันละ 2 หมื่นคน มีคนตายมากกว่าวันละ 200 คน

ยังจะให้เชื่อหรือว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อประชาชน!

 

ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองขับไล่ประยุทธ์ รัฐบาลงัดสารพัดกฎหมายมากล่าวหาจับกุมดำเนินคดี อาทิ ม.112 ม.116 ยุยงปลุกปั่น เป็นกบฏ มั่วสุม ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กีดขวางทางสาธารณะ ผิด พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในขณะที่การบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 ของรัฐบาลล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

กับฝ่ายเห็นต่างและผู้ชุมนุมรัฐบาลประยุทธ์เล่นบทบาท “ตีสองหน้า”

หน้าหนึ่งผ่าน “อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาใช้คำว่า “วอน” ผู้เข้าร่วมชุมนุมห่วงใยความปลอดภัยของตัวเอง ครอบครัว ชุมชนและบุคคลอื่น รัฐบาลยืนยันประชาชนยังคงมีสิทธิเสรีภาพแสดงออกทางการเมืองอย่างสุจริต

หน้าหนึ่งที่ผ่าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ใช้คำ “ขอเตือน” ว่าผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรค และข้อหาอื่นๆ

น่ากังวลมากยิ่งขึ้นเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่ง “เจตนา” จุดไฟจลาจลด้วยการเผารถตำรวจในวันที่ 7 สิงหาคม ทั้งที่ “แกนนำ” ประกาศยุติการชุมนุมไปก่อนหน้าราวได้กลิ่นไม่ดี

เป็นความจริงว่า บนกระดานการเมืองมีทหารยืนถือปืนคุมอยู่ มีบทบาท “ครอบงำ” มาตั้งแต่ปี 2490 ถ้าไม่ใช้กำลังและใช้อาวุธรบกันเองก็ใช้ “ช่วงชิงอำนาจรัฐ” จากรัฐบาลพลเรือน เคยตัวจนเชื่อว่าการเมืองต้องจัดการด้วยกำลังทหาร

ทุกคนมีสิทธิที่จะมี “ความเชื่อ” แต่โลกไม่เหมือนเดิม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวล้ำสมัย สภาพสังคมเปลี่ยนไป คนเปลี่ยนรุ่น เยาวชนหนุ่มสาวยุคนี้ก็มีสิทธิที่จะเชื่อว่า “คนเท่ากัน” มีสิทธิเสรีภาพที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองและกิจการสาธารณะ ทหารควรจะถอยออกไป และ “เสรีภาพ” ไม่ใช่เพียงแต่นอนหลับอยู่ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อรัฐส่งคนออกมาใส่ร้ายป้ายสีว่ามีการ “จัดฉากนอนตายข้างถนน” ผู้คนก็สุดทนข่มกลั้น กระทั่งคุณหมอนิติเวช โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งก็ทนไม่ไหวออกมาโพสต์ยืนยันว่า “ตายมากกว่าที่เห็นและเป็นข่าวหลายเท่า”

รัฐบาลไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ “ประยุทธ์” กลับออกประกาศที่เรียกว่าข้อกำหนด “ฉบับที่ 29” อ้างตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าวสาร จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

2. กรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเตอร์เน็ต ให้ “กสทช.” แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกรายทราบ ให้มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารที่มีจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพีที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ก็ให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ “เลขที่อยู่ไอพี” นั้นทันที

ข้อ 1 ว่าปิดปากกันแล้ว ข้อ 2 นี่ถึงขั้น “รัดคอ”!

 

“การใช้อำนาจรัฐ” ต้องมีขอบเขต การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายบริหารไม่อาจทำได้ตามอำเภอใจ ต้องถูกถ่วงดุล ควบคุม และตรวจสอบได้

บริษัท รีพอร์ตเตอร์ โปรดักชั่น จำกัด กับพวกรวม 12 คน ยื่นฟ้องศาลแพ่ง “ขอให้คุ้มครองชั่วคราว” จากกรณีนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด “ฉบับที่ 29” ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม “ศาลแพ่ง” ก็มีคำสั่ง ห้ามจำเลย (ประยุทธ์-นายกรัฐมนตรี) บังคับใช้ข้อกำหนดที่เรียกกันว่า “ฉบับที่ 29” นั้น จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ในคำสั่งศาลมีข้อความน่าศึกษา เช่นว่า ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความ “อันอาจ” ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวนั้น มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จ ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิภาพ มีลักษณะไม่แน่ชัด ขอบเขตกว้างขวางเสียจนทำให้ไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสาร ตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ ทั้งยังเป็นการ “จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ” ไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ

ส่วนข้อ 2 ที่ใช้อำนาจระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address)นั้น ก็ไม่ปรากฏว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้อำนาจ “นายกรัฐมนตรี” ทำเช่นนั้นได้

จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การระงับให้บริการอินเตอร์เน็ตเป็นการปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ

 

ไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย มี “รัฐธรรมนูญ” และ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” จำกัดกรอบ “การใช้อำนาจรัฐ” ไว้ รัฐบาลไหนๆ มาแล้วก็ต้องจากไปตามวาระ ไม่อาจลุแก่โทสะใช้อำนาจเกินความจำเป็นจนกลายเป็นการคุกคามลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

ขบวนไล่ “ประยุทธ์” นั้นก่อรูปขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ มีอิสระ ไม่มีกำลังรบ ไม่มีอาวุธ ไม่มีคนหนุนหลัง ทั้งหมดเกิดจาก “การขัดกัน” ระหว่างอำนาจนิยมหลงยุคกับความเชื่อเสรีนิยม

“เสรีนิยม” เชื่อว่าต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ แต่ “อำนาจนิยม” ไม่นิยมชมชอบ

เจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงมักถูกกล่าวหาว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคง และขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”!?!!