กินรวบเบ็ดเสร็จ กับแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

กินรวบเบ็ดเสร็จ

กับแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

 

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 รายมาตรา เพื่อเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 350 : 150 เป็น 400 : 100 ยังตามมาด้วยการแปรญัตติเพื่อนำไปสู่การกินรวบเบ็ดเสร็จในสภา โดยยึดแนวทางการสร้างความได้เปรียบของพรรคใหญ่ที่เคยเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 นำกลับมาใช้ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้

จากเอกสารประกอบวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีรายละเอียดที่ให้เห็นถึงเนื้อหาของคำขอแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาถึง 49 คำขอแปรญัตติ หนา 63 หน้า

ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ภายในแต่ละคำขอจะเห็นถึงทิศทางที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่แสดงออกถึงความต้องการในการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างชัดเจนยิ่ง

มาตราในรัฐธรรมนูญที่ถูกนำมาเกี่ยวข้องในคำขอแปรญัตติจึงมิได้จำกัดเพียงเนื้อหาในมาตรา 83 ที่กำหนดจำนวน ส.ส.แต่ละประเภท และมาตรา 91 ที่เกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคสมควรได้จากวิธีการคำนวณจากบัตรเลือกตั้งใบที่สองเท่านั้น

แต่ยังครอบคลุมไปยังอีกหลายมาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องและมีความปรารถนาในการแก้ไขเพื่อตอบโจทย์ของพรรคการเมืองใหญ่

อาทิ การให้มีการกำหนดจำนวนที่ต้องส่ง ส.ส.เขตขั้นต่ำ ก่อนที่จะสามารถส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และการกำหนดร้อยละขั้นต่ำของคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองก่อนที่จะนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคจะได้รับจัดสรร

 

ต้องส่ง ส.ส.เขต ขั้นต่ำ 100 เขต

ย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 นั้น ไม่มีการกำหนดว่า พรรคการเมืองที่จะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อจำเป็นต้องส่ง ส.ส.เขตด้วย จึงนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่พรรครักประเทศไทยของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไม่ส่ง ส.ส.ลงเขตเลือกตั้งแม้แต่เขตเดียว แต่ด้วยการเสนอนโยบายและลีลาการหาเสียงที่เป็นเฉพาะตัว ทำให้ได้คะแนนจากบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2554 ถึง 998,603 คะแนน นำไปสู่การได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภาทีเดียวถึง 4 คน

สำหรับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 90 ก็เขียนไว้เพียงว่า เมื่อพรรคการเมืองส่ง ส.ส.เขตแล้วก็สามารถส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ด้วย ซึ่งก็เป็นหลักการที่สอดคล้องกับกรณีใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อนำมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีก่อนมาหักลบเป็น จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงได้รับ

กติกาดังกล่าวนี้ จึงนำไปสู่ข้อสรุปโดยอัตโนมัติว่า ถ้าพรรคคุณส่งไม่ส่งเขตใด คะแนนที่จะเอารวมในเขตนั้นก็จะไม่มี จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ทุกพรรคพยายามจะส่งผู้สมัครให้มากเขตที่สุด โดยมีถึง 6 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครครบ 350 เขต คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคพลังประชารัฐ

การกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้กลับไม่หยุดเพียงเปลี่ยนสัดส่วนให้มี ส.ส.เขตที่มากขึ้นและลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้น้อยลงเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสนอในขั้นการแปรญัตติโดยเอาสิ่งอยู่ในสาระของร่างที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย มาเพิ่มในมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยกำหนดว่า พรรคใดจะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ต้องส่ง ส.ส.เขตขั้นต่ำ 100 เขต

หากส่งไม่ถึง 100 เขตจาก 400 เขต ก็ไม่มีสิทธิส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

จำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งประเทศไม่ถือว่าเป็นจำนวนที่มากนัก แต่สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่มีนายทุนสนับสนุน หรือพรรคที่เสนอตัวเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน หรือพรรคที่มุ่งนำเสนอนโยบายที่น่าสนใจแต่ไม่มีความพร้อมในด้านบุคลากร การกำหนดจำนวนดังกล่าวคือการตัดโอกาสในการได้คะแนนในบัตรบัญชีรายชื่ออย่างชัดเจน

ร้อยละหนึ่งของคะแนนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ข้อมูลล่าสุดของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงในปี พ.ศ.2562 คือ 51.2 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 74.69 หากยึดหลักเกณฑ์จากข้อเสนอแปรญัตติที่ต้องมีคะแนนขั้นต่ำร้อยละ 1 ตัวเลขขั้นต่ำโดยประมาณ คือ 380,000 คะแนน

ย้อนไปดูผลการเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2562 พรรคที่ได้คะแนนทั้งประเทศเกิน 380,000 คะแนน มีเพียง 11 พรรค โดยพรรคลำดับที่ 11 คือพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ 415,585 คะแนน และลำดับที่ 12 คือพรรคชาติพัฒนา ได้คะแนน 244,770 คะแนน ซึ่งหมายความว่าพรรคการเมืองตั้งแต่ลำดับที่ 12 เป็นต้นไปจะไม่มีสิทธิได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจำนวนคะแนนเสียงที่ถูกตัดออกทั้งหมดจะไม่ถูกรวมในการคำนวณเพื่อแบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อให้แก่ 11 พรรคที่ผ่านเกณฑ์

การยึดจำนวนเกณฑ์ขั้นต่ำนี้ เป็นไปเพื่อตัดพรรคขนาดเล็กออกจากระบบ โดยเคยมีหลักการดังกล่าวใน มาตรา 100 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่กำหนดเกณฑ์ถึงร้อยละ 5 แต่ก็ถูกยกเลิกไปในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ด้วยเหตุว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่มากเกินไป

มาถึงปัจจุบัน กลับนำแนวคิดดังกล่าวย้อนมากลับใช้ แต่ลดจำนวนร้อยละลงเหลือร้อยละ 1

หากกติกาดังกล่าวมีการกำหนดขึ้น แนวโน้มการรวมพรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ากับพรรคขนาดกลางและใหญ่ที่จะนำไปสู่การกินรวบประเทศจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับสมัยที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งและทยอยรวมพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาจนกลายเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงพรรคเดียว

 

แปรญัตติในประเด็นที่ถูกไม่รับหลักการมาแล้ว

ทั้งประเด็นต้องส่ง 100 เขต และประเด็นร้อยละหนึ่ง เคยอยู่ในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ร่างที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ และร่างที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย และรัฐสภาเคยลงมติไม่รับหลักการมาแล้วในการประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564 โดยร่างที่ 1 นั้นมีเสียงลงมติรับหลักการเพียง 334 เสียง และร่างที่ 3 แม้มีเสียงรับหลักการ 376 เสียง แต่ไม่มีเสียงจาก ส.ว.เพียงพอในการสนับสนุน โดยร่างแรกมีเสียง ส.ว.สนับสนุน 0 เสียง และร่างที่ 3 มีเสียงสนับสนุนแค่ 36 เสียง ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องมี ส.ว.สนับสนุนอย่างน้อยหนึ่งในสาม คือ 84 เสียง

หลักการที่เคยไม่รับหลักการในวาระที่หนึ่ง กำลังถูกฟื้นคืนชีพในขั้นการแปรญัตติโดยอ้างเหตุว่าเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้อง

หากผลักดันโดยอาศัยเสียงข้างมากจนผ่านในขั้นกรรมาธิการได้ ก็ยังคงต้องเป็นประเด็นที่ฝ่ายเห็นต่างอาจสงวนคำแปรญัตติไว้ไปอภิปรายในวาระที่สองและสามในสภาใหญ่ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในราวกลางเดือนกันยายน พ.ศ.2564

อย่างไรก็ตาม ยกแรกนั้น ต้องรอดูข้อสรุปของการประชุมกรรมาธิการครั้งสุดท้ายที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 เสียก่อน

ระวัง อาถรรพ์ ศุกร์ที่ 13 ด้วยแล้วกัน

ประเทศไทย สายมู ขอเตือนไว้ก่อน