หนุ่มเมืองจันท์ : ความสุขจากการให้

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

ความสุขจากการให้

 

ช่วงโควิดครั้งนี้ เราได้เห็น “ความสูญเสีย” ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

มีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นทุกวัน

แต่ท่ามกลางความโศกเศร้าที่เหมือนสีดำระบายบนผืนผ้าใบ

ก็มีเรื่องราวดีๆ จาก “น้ำใจ” ของคนไทย

เป็นสายรุ้งสดใสที่ทำให้สังคมไทยไม่ทาทับไปด้วย “สีดำ” ทั้งหมด

คนจำนวนมากที่พอมีกำลัง ไม่ว่ากำลังกายหรือกำลังทรัพย์เริ่มทนไม่ไหว

รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

บางคนช่วยเรื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือคนป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ฯลฯ

บางคนทำข้าวกล่องไปแจก

บางคนทำตู้ปันสุข มีอาหารแห้งให้คนมาหยิบไป

บางคนก็ลงแรงเป็นจิตอาสา

บางคนโอนเงินไปช่วยทุกมูลนิธิที่ช่วยคนป่วย ฯลฯ

มีน้องคนหนึ่งทำข้าวกล่องไปแจกตามที่ต่างๆ

พอเพื่อนรู้ก็ร่วมทำบุญด้วย

เขาเล่าว่าตอนไปแจกที่ถนนราชดำเนิน มีคนเข้าคิวรอข้าวกล่องยาวมาก

เชื่อไหมครับว่าบางคนเดินมาจากสุขุมวิท

เพราะรู้ว่าที่ราชดำเนินจะมีคนแจกข้าวเป็นประจำ

น้องอีกคนหนึ่งไม่รู้จะช่วยอะไรดี

วันหนึ่งเธอมีนัดที่สยาม

ตามปกติเธอจะนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสไป

เพราะสะดวกและรถไม่ติด

แต่วันนั้นเธอเลือกนั่งรถแท็กซี่

ด้วยเหตุผลว่าอยากช่วยคนขับรถแท็กซี่

จ่ายค่ารถแล้วก็ทิปเพิ่มอีก 100 บาท

ตอนลงจากรถ เธอรู้สึกว่าเหมือนลอยลงมา

ครับ องค์ “นางฟ้า” ประทับร่าง

 

ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นกับคนทุกระดับ

ถ้าเรารู้สึก คนรวยก็รู้สึกเช่นกัน

ผมเจอเศรษฐีคนหนึ่ง เขาบอกว่าดูข่าวคนตายข้างถนน คนยืนรอแจกข้าวแล้วทนไม่ไหว

คิดง่ายๆ ว่าคนจนแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน

การให้ที่ดีที่สุด คือ ให้เงินสด

อยากได้อะไรก็ไปซื้อ

เขาแจกเงินวันละ 50,000 บาท

จำไม่ได้ว่าแจกคนละ 100 หรือ 200 บาท

จะแจกหน้าบ้านก็กลัวคนมารอหน้าบ้านทุกวัน

รู้ไหมครับว่าเขาใช้วิธีไหน

ผ่านทางพระครับ

ให้เจ้าอาวาสวัดใกล้บ้านช่วยแจกให้

ไม่มีกติกาอะไร ใครมาก็แจก

ทำบุญแล้วสบายใจ

หรืออย่างคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ก็เช่นกัน

ผมเชื่อว่าเขาเห็นข่าวที่ออกมาทุกวันแล้วคงทนไม่ไหว

“ซีพี” เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอาหาร

คุณธนินท์ทนเห็นคนอดตายไม่ได้หรอกครับ

ล่าสุด เขามีโครงการแจกข้าวกล่อง 2 ล้านกล่อง เป็นเวลา 2 เดือน

กระจายไป 40 จุดทั่ว กทม.

เหมือนตั้ง “โรงทาน” ทั่วกรุง

ถือเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ ต่อชีวิตให้คนเยอะมาก

“ข้าวกล่อง” นั้น “ซีพี” ไม่ได้ผลิตเองทั้งหมด

เขาเลือกช่วยร้านอาหารรายย่อยด้วยการซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารเล็กๆ ในชุมชนใกล้เคียง 1 ล้านกล่อง

ผลิตเอง 1 ล้านกล่อง

ทั้งที่ซีพีมีความพร้อมมากในการผลิตข้าวกล่องเอง

และต้นทุนที่ทำเองต่ำกว่าซื้อข้าวกล่องจากทางร้าน

แต่คุณธนินท์เลือกที่จะกระจายรายได้พยุงร้านอาหารเล็กๆ

น่าชื่นชม

และถ้าเจียดงบฯ ส่วนหนึ่งไปช่วยซื้อผลไม้จากเกษตรกรภาคใต้ที่ล้นตลาดอยู่ตอนนี้มาแจก

จะยิ่งหล่อขึ้นเลยครับ

หรือถ้าซื้อ “ขนม” ไว้แจกเด็กที่มาด้วย หรือคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ อยู่ที่บ้าน

คุณธนินท์จะได้ “ของขวัญ” บางอย่างที่มองไม่เห็น

แต่จินตนาการได้

เพราะสำหรับเด็ก “ขนม” สำคัญกว่า “อาหาร”

นึกถึงภาพคุณแม่กลับบ้านแล้วเอาขนมไปยื่นให้เด็กสิครับ

บางที “รอยยิ้ม” ของลูกนิดเดียว

ทำให้คุณแม่มีกำลังใจสู้ต่อ

 

หรือคุณตัน ภาสกรนที

เขาลงทุนลงแรงกับการสร้าง “ศูนย์พักคอยตันปัน”

ช่วยเหลือคนป่วยโควิดที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ยังไม่ได้โรงพยาบาล

คุณตันเข้ามาคุมงานทุกขั้นตอน ทุกวัน

เขาปรับปรุงอาคารเก่าทั้งหมด

เติมอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย

อะไรที่ต้องซ่อมใช้เวลานานอย่างเครื่องปรับอากาศ

…ซื้อใหม่เลย

เพราะสำหรับคนป่วยโควิดแล้ว “เวลา” สำคัญที่สุด

เร็วขึ้น 1 วัน อาจช่วยชีวิตได้ 100 คน

ถามว่าลงทุนไปครั้งนี้ถึง 10 ล้านไหม

เขาหัวเราะ ไม่ตอบตรงๆ

“อย่าไปพูดถึงมันเลย”

แล้วก็เล่าให้ฟังว่าอุปกรณ์การแพทย์แต่ละชิ้นราคาเท่าไร เตียงนอนเท่าไร

แต่ละห้องต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

ที่นี่มีเครื่องเอ็กซเรย์ปอด ตรวจเช็กคนป่วยได้ทุกวัน

ติดตั้งระบบกรอง อัด และฟอกอากาศ

ห้องพักผู้ป่วย จะมีเครื่องฟอกอากาศฆ่าเชื้อทุกห้อง ฯลฯ

รับรองผู้ป่วยได้ 145 เตียง เน้นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ คนอายุเกิน 60 ปี ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ

ฟังรายละเอียดรู้เลยว่าเกิน 10 ล้าน

เป็นศูนย์พักคอย ระดับน้องๆ โรงพยาบาลเลย

คุณตันเป็นคนลงรายละเอียดมาก

มีห้องพระ และห้องละหมาด

ลิฟต์แยกส่วนของผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์

ทุกเตียงนอนมีปลั๊กไฟให้คนป่วยได้ชาร์จแบตมือถือ ไม่ต้องแย่งกัน

มีทีวี มีกล้องวงจรปิด

ห้องเด็กชั้นบน ปรับปรุงฝ้า และเพิ่มผนังซับเสียง เพราะเวลาเด็กเล่นหรือร้อง เสียงจะก้องมาก

ปรับปรุงดาดฟ้าให้เป็นสวนเล็กๆ เพื่อคนป่วยจะได้คลายเครียด ฯลฯ

ช่วงที่ปรับปรุงศูนย์พักคอย คุณตันต้องมาคุมงานทุกวัน

“18 วันที่ผ่านมา…ทุกๆ วันหลังเลิกงาน กลับบ้าน ผมจะอาบน้ำ กินข้าว แล้วรีบเข้าห้องส่วนตัวทันที ผมไม่กล้ากอดลูก-เมียเหมือนเคย กลัวว่าเราจะเอาเชื้อโรคไปติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสาวคนเล็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ซึ่งไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ และเค้าก็มีโรคประจำตัวด้วย”

“ความตายไม่ใช่สิ่งที่ผมกลัว…แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือการเอาเชื้อไปติดคนที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใกล้ๆ ลูกสาวคนเล็กของผม”

คุณตันเขียนในเพจของเขาเมื่อวันก่อน

เขาบอกผมว่า ในชีวิตหนึ่งคงไม่มีครั้งไหนที่จะมีโอกาสได้ช่วยคนได้มากเท่ากับครั้งนี้

และ “ผมได้ทำแล้ว”

สุดท้ายถามว่า อยากบอกอะไรไหม

คุณตันตอบสั้นๆ ว่า ขอให้ทุกคนดูรูปอย่างเดียว

“อย่ามาพักเลย”

ครับ ความสุขที่สุดของคุณตันในการทำศูนย์แห่งนี้

คือ วันที่ไม่มีคนมาใช้บริการเลย