จรัญ มะลูลีม ทรัมป์กับมุสลิม (21)

จรัญ มะลูลีม

ในการพูดที่เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์ได้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงการ “ผลักดันลัทธิการก่อการร้าย” ให้หมดไป ในหลายๆ ประเทศของภูมิภาค อย่างเช่น อียิปต์ ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทั้งนี้ ขบวนการภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ที่ต่อสู้เพื่อประเทศของตนเองมายาวนานด้วยการใช้หลักการของศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกเรียกว่าเป็นองค์การก่อการร้าย

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้สรรเสริญประเทศบาห์เรนทั้งๆ ที่ประเทศนี้เป็นประเทศที่คนส่วนน้อยซึ่งเป็นชาวชีอะฮ์ได้เรียกร้องสิทธิของพวกเขามาเป็นทศวรรษ แต่ถูกล้อมปราบอย่างโหดร้าย

หนึ่งวันหลังการมาถึงของทรัมป์ในภูมิภาคนี้ได้มีผู้ประท้วงการทำลายที่ตั้งทางประวัติศาสตร์ในเมืองอัล-อะวามิยะฮ์ (al-Awamiyah) ของบาห์เรนซึ่งอยู่ติดกับภูมิภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย และได้รับการตอบโต้ด้วยความรุนแรง เช่นกัน

อัล-อะวามียะฮ์เป็นบ้านเกิดของ ชัยค์นิมส์อัล-นิม (Sheikh Nimr al-Nimr) ซึ่งเป็นนักการศาสนาคนสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกรัฐบาลของประเทศนี้ประหารในปี 2016

 

จากประเทศซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์บินตรงไปยังประเทศอิสราเอล เขาไม่เคยลืมที่จะบอกว่าตัวเขาเป็นเพื่อนสำคัญที่สุดของอิสราเอล เขาได้แต่งตั้ง David Friedman ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลคนสำคัญมาเป็นเอกอัครราชทูตที่นี่

การพูดของทรัมป์ที่นี่ก็เหมือนที่ซาอุดีอาระเบีย เป้าหมายสำคัญยังคงอยู่ที่อิหร่านโดยมีประเด็นของชาวปาเลสไตน์อยู่ไม่มากก็น้อยเป็นฉากหลัง

แม้แต่ความพยายามที่เป็นสัญลักษณ์ที่จะให้ได้มาซึ่งความเป็นรัฐของชาวปาเลสไตน์ก็ยังถูกปฏิเสธจากอิสราเอล ซึ่งยังคงสร้างบ้านเรือนในเขตยึดครองมากขึ้นและมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้พูดเรื่องการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม อย่างที่เขาใช้ในการหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดี เขาได้แต่พูดถึงการฉีกสัญญานิวเคลียร์กับอิหร่าน คำสัญญาว่าจะทำทั้งสองอย่างของเขายังคงไม่ได้นำมาใช้ในช่วงนี้แต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในนโยบายใหญ่ๆ ใดๆ ว่าด้วยตะวันออกกลางที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์มีความแตกต่างไปจากฝ่ายบริหารของโอบามา

 

การมุ่งถล่มไอเอส

วันที่ 25 เดือนเมษายน (2017) ฝ่ายกลาโหมสหรัฐยอมรับว่าเครื่องบินสหรัฐได้ทิ้งระเบิดลงที่เมืองญะดีดะฮ์ของอิรัก ซึ่งอยู่ติดกับเมืองโมสุลจนทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไป 105 คน

ระเบิด GBU-38 น้ำหนัก 500 ปอนด์ได้ทำให้สองอาคารถูกทำลายลง สังหารพลเรือนที่หาที่หลบภัยอยู่ในบริเวณนี้ไปจำนวนหนึ่ง

ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าพื้นที่ที่ทหารสหรัฐเข้าถล่มเป็นที่เก็บอาวุธของไอเอส อย่างที่ฝ่ายกลาโหมของสหรัฐกล่าวอ้าง

อีกไม่กี่วันต่อมาในเมือง อัล-มายาดีนในซีเรีย การทิ้งระเบิดของสหรัฐทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 106 คน รวมทั้งเด็กๆ อีก 42 คน

อย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว ในระหว่างการหาเสียงทรัมป์กล่าวว่าเขาจะใช้ระเบิดเอาของสกปรกออกมาจากไอเอส แล้วเขาก็มอบหน้าที่นี้ให้บรรดานายพลของเขากระทำอย่างเต็มที่

ซึ่งบรรดานายพลของเขาแปลมาเป็นการกระทำโดยเพิ่มการทิ้งระเบิดในปี 2017 มากกว่าปี 2016 ถึงร้อยละ 50

จำนวนการใช้ระเบิดจึงใกล้กับ 15,000 ลูกในสี่เดือนแรกของปี ในขณะที่ไอเอสสูญเสียพื้นที่จากการถูกถล่มดังกล่าว ที่สำคัญคือการสูญเสียของพลเรือนที่ติดอยู่ในบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก

หัวหน้ากิจการต่างประเทศของ EU Federica Mogherini ได้ออกมาประณามการทิ้งระเบิดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วจากการกระทำของรัฐบาลบะชัรอัล-อะสัดในซีเรีย

การสอบสวนโดย Airwars ซึ่งติดตามความสูญเสียในตะวันออกกลางจากการโจมตีทางอากาศกล่าวว่าอย่างน้อยมีประชาชนถูกสังหารจากการทิ้งระเบิดไป 80 คน จากการบุกถล่มด้วยลูกระเบิดที่มาจากเบลเยียม ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และอังกฤษ

จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีโอกาสไอเอสจึงไปปฏิบัติการตอบโต้ในประเทศเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่สามารถทำสงครามตามรูปแบบได้ จึงใช้สงครามจรยุทธ์ที่คนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศเหล่านั้นต้องกลายเป็นเหยื่อไปอย่างน่าอนาถ

ส่วนการเสียชีวิตของพลเรือนที่ติดกับดักอยู่กับไอเอสและต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าไม่ค่อยได้รับความสนใจจากโลกมากนัก

อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่ไม่อยากบอกว่าได้สังหารพลเรือนที่ติดกับดักอยู่กับไอเอสหลังจากการบุกถล่มถึง 1,300 ครั้ง

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐพยายามกล่าวถึงความสูญเสียของพลเรือนที่มีผลมาจากการทิ้งระเบิดของพันธมิตรยุโรป ว่า เขารู้สึกเบื่อหน่ายกับการเสแสร้งของพวกยุโรป

“พวกเขาตำหนิเราสำหรับทุกอย่าง ทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในสงครามของเรา” เขากล่าว

หากว่ายุโรปยอมรับในเรื่องความสูญเสียในซีเรีย อิรักและอัฟกานิสถาน ทหารสหรัฐก็จะรู้สึกว่ามีความกดดันน้อยลงในการตอบถึงสถิติการทำลายล้างที่ทหารสหรัฐกระทำลงไป ทั้งนี้ ในการสู้รบกับไอเอส พลเรือนได้กลายเป็นเหยื่อสำคัญมาโดยตลอด

 

การย้ำเตือนอีกครั้ง
ถึงนโยบายการห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ

ไม่นานหลังการเข้าทำหน้าที่ประธานาธิบดี เขามีคำสั่งให้พิจารณายุทธศาสตร์ในการเอาชนะกองกำลังไอเอสอีกครั้ง และแทนที่จะรอให้ความเห็นพ้องกับแนวคิดใหม่ๆ ในหลายๆ แง่มุมเกิดขึ้น สหรัฐได้นำเอากุศโลบายที่มีการคิดค้นขึ้นมาในระยะสั้นๆ มาใช้

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังออกคำสั่งให้มีการพิจารณาข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านเสียใหม่ รวมทั้งข้อตกลงกับมหาอำนาจอื่นๆ ของโลกรวมทั้งข้อตกลงของสหรัฐเอง แม้ว่าอิหร่านจะถูกยกเลิกการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการแซงก์ชั่นทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านได้รับผลกระทบ แต่อิหร่านก็ยังคงประคองตัวอยู่ได้

การเข้ามาของประธานาธิบดี ฮัซซัน โรฮานี (ซึ่งล่าสุดได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง) ทำให้ในที่สุดประธานาธิบดีสายพิราบผู้นี้ยอมยุติโครงการนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการยกเลิกการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก

ที่ผ่านมาทรัมป์ให้การต้อนรับผู้นำจากประเทศตะวันออกกลางหลายคนตั้งแต่ มะห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ อับเด็ลฟัตตะห์อัซ-ซิซี ผู้นำเผด็จการของอียิปต์ กษัตริย์อับดุลลอฮ์แห่งจอร์แดน เบนจามิน เนทันยาฮู จากอิสราเอล และมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย มุฮัมมัด บิน สัลมาน

ล่าสุดทรัมป์ได้มีการลงนามการแบนชาวมุสลิมซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง เพื่อยืนกรานที่จะท้าทายการยกเลิกคำสั่งของศาล ทั้งนี้ ยังมีการห้ามวีซ่าใหม่ๆ จากประเทศมุสลิม 6 ประเทศและปิดโครงการผู้อพยพ

จากคำสั่งดังกล่าว ต่อมาอิรักได้ถูกตัดรายชื่อออกไป แต่อิหร่าน ซีเรีย โซมาเลีย เยเมนและลิเบียยังคงได้รับผลกระทบเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม การลงนามในคำสั่งใหม่นี้ไม่ได้กระทำขึ้นอย่างเปิดเผยมากนัก ผิดกับที่เคยทำในครั้งแรกที่มีการลงนามกันที่ Pantagon”s Hall of Horoes โดยมี James Mattis รัฐมนตรีกลาโหมยืนอยู่เคียงข้างทรัมป์

การกระทำอื่นๆ ของทรัมป์ อย่างเช่น การกล่าวหาว่าอดีตประธานาธิบดีโอบามามีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่แอบดักฟังโทรศัพท์ของเขาในช่วงการรณรงค์เพื่อการเป็นประธานาธิบดี ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการขานรับแต่อย่างใด การหาเรื่องโจมตีโอบามามาตลอดทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายมากกว่าจะให้การรับฟัง