นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เซ็กซ์ดึกดำบรรพ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 19 ก.ค. 2017

 

เป็นโอกาสดีที่บทความเกี่ยวกับเพศและเพศสัมพันธ์ในอดีตของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ถูกนำมารวมเล่มในนาม เซ็กซ์ดึกดำบรรพ์ของบรรพชนไทย เพราะเมื่อได้อ่านต่อกันทั้งหมด ทำให้เข้าใจตัวท้องเรื่องหลักที่อยู่เบื้องหลังความคิดของผู้เขียน เข้าใจแล้วก็ทำให้ผู้อ่านคิดอะไรของตนเอง ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับผู้เขียนก็ได้

หนังสือเล่มนี้ท้าทายความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและเพศสัมพันธ์ของคนที่พยายามทำตัวเป็น “ผู้ดี” ไทยในปัจจุบัน มีรูปภาพประกอบจำนวนมากซึ่งหาดูไม่ได้ง่าย เพราะใช้เป็น “หลักฐาน” ของสิ่งที่พูดได้โดยไม่ต้องอธิบาย

น่าจะเขียนคำอุทิศให้แก่คุณลำไย ไหทองคำ และคู่อริปากพล่อยของเธอเป็นที่สุด

ต่างจากความคิดของเราในปัจจุบัน เซ็กซ์หรือเพศสัมพันธ์ในสังคมสมัยก่อนมีมิติมากกว่าความหฤหรรษ์ (gratification) และเท่าที่ผมนึกได้จากหนังสือของคุณสุจิตต์ก็คือ

ในทางเศรษฐกิจ เพศสัมพันธ์นำไปสู่การสั่งสมแรงงาน นับตั้งแต่ได้แรงงานเขยเข้ามาช่วยทำงาน หรือในระยะยาวก็คือได้แรงงานลูกช่วยสร้างเนื้อสร้างตัวให้พ่อแม่ ผลได้ในทางเศรษฐกิจเช่นนี้ดูเหมือนจะถูกลืมไปในปัจจุบันหมดแล้ว ทุกประเทศมีกฎหมายควบคุมการใช้แรงงานเด็ก ครอบครัวคนชั้นกลางเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่งงานแล้วก็แยกออกไปอยู่กันตามลำพัง ไหว้วานให้ลูกเขยทำอะไรให้ก็แทบไม่ต่างจากไหว้วานเพื่อนบ้าน

ก็ยังมีหรอกครับที่แรงงานลูกเขยหรือลูกสะใภ้ทำให้เกิดรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวพ่อแม่ โดยเฉพาะในหมู่คนหาเช้ากินค่ำ เพราะการผนึกสมาชิกของครอบครัวไว้ด้วยกันให้มากเป็นพลังทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง (เช่น หุงข้าวหม้อเดียว)

แต่ครอบครัวเดี่ยวกลับเป็นอุดมคติของทุกคนไปเสียแล้ว มิติของเพศสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแรงงานจึงไม่ค่อยถูกนึกถึงจริงจัง

การมีเพศสัมพันธ์ยังอาจเกี่ยวข้องกับอำนาจด้วย ประวัติศาสตร์ไทยมักเล่าถึงการสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน, เจ้าครองแคว้นหรือเจ้าเมือง, ขุนนาง, ประเทศราช หรือแม้แต่ญาติในวงศ์ตระกูลเดียวกัน เพื่อผนึกอำนาจ, ขยายอำนาจ, เพิ่มพูนเกียรติยศ ฯลฯ ผ่านการแต่งงาน เจ้าในยุโรปสมัยโบราณก็ทำอย่างเดียวกัน และเห็นผลทันตากว่าด้วยซ้ำ เพราะมักยกดินแดนบางแคว้นให้เป็นสินสอด

ความจริงแล้วมิติทางการเมืองของเพศสัมพันธ์ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น ชาวบ้านก็ทำไม่ต่างจากกันนัก บางคนบอกว่าชาวนารวยทางเหนือสมัยก่อน กลัวมากว่าชายจากครอบครัวจนๆ จะมาจีบลูกสาวจนได้แต่งงานกันในที่สุด (เช่น พาหนีไปแล้วกลับมาขอขมา) เพราะเท่ากับครอบครัวชาวนาจนจะมาได้แบ่งทรัพย์สมบัติ (โดยเฉพาะที่ดิน) จากครอบครัวชาวนารวย เหตุดังนั้นจึงมักรวมหัวกันซุบซิบนินทาให้ครอบครัวชาวนาจนกลายเป็นผีปอบ เพื่อเป็นเหตุขับไล่ไปให้พ้นจากชุมชน

นี่คือการใช้การเมือง (และเศรษฐกิจ) เข้ามาจัดระเบียบเพศสัมพันธ์ เพื่อทำให้สังคมที่เหลื่อมล้ำสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่สั่นคลอน ผมชอบนึกเสมอว่า เพศสัมพันธ์เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ประกาศความเท่าเทียมของมนุษย์ได้ดังพอๆ กับความตาย และดังกว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเสียอีก เพราะการเลือกตั้งอาจถูกขัดขวางได้ง่ายๆ ด้วย กปปส., กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐประหาร

ในขณะที่พวกเหล่านี้ห้ามไม่ได้เลยเมื่อคนจะ…กัน หรือจะสิ้นลม

ยังมีอีกมิติหนึ่งของเพศสัมพันธ์ที่คุณสุจิตต์พูดถึงไว้หลายกรณี ผมขอเรียกว่ามิติด้านอำนาจเหนือโลก เพราะจะเรียกว่าด้านอภิปรัชญาก็จะฟังน่าครั่นคร้ามจนต้องนั่งพับเพียบอ่าน คุณสุจิตต์บอกว่าเพศสัมพันธ์ในทัศนะของคนโบราณนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งผมขอใช้คำว่า “เฮี้ยน” แทน คือมีพลังลี้ลับบางอย่างที่มากับเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเห็นได้ชัดมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ (ซึ่งในภายหลังศาสนามักยกให้เป็นอำนาจของพระเจ้าอันมนุษย์ไม่มี) หรือความงอกงาม ที่คนไทยรู้จักดีก็เช่นการ “ปั้นเมฆ” ในพิธีขอฝน หรือการแสดงสัญลักษณ์เรื่องเพศและเพศสัมพันธ์ โดยตรงหรือโดยส่อให้เข้าใจ แต่ก็มีที่ซ่อนนัยยะไว้ซับซ้อนกว่านี้ เช่น การบูชาศิวลึงค์ใน “ครรภคฤห” ของศาสนาฮินดู ด้วยเหตุดังนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นพลังของการเกิดใหม่

มิติด้านอำนาจเหนือโลกเช่นนี้ คนปัจจุบันคงไม่รู้สึกเอาเลย ยิ่งคนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการคุมกำเนิดได้สะดวก เพศสัมพันธ์ยิ่งไม่เกี่ยวกับการเกิดหรือความงอกงามใดๆ อย่าลืมนะครับ ท่านบอกว่า มีลูกมากจะยากจน

แน่นอนครับ มิติของความหฤหรรษ์ย่อมมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ใช่มิติเดียวของเพศสัมพันธ์เท่านั้น ผมไม่ได้หมายความว่าคนโบราณไม่เคย “หน้ามืด” เลย แต่ก่อนจะ “หน้ามืด” ก็เปิดโอกาสให้มิติด้านอื่นๆ ของเพศสัมพันธ์เข้ามาอยู่ในวิจารณญาณด้วย เช่น ฝีมือปักบนเครื่องนุ่งห่มของหญิงอาข่า เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ชายชาวอาข่าใช้พิจารณาว่า เป็นคนละเอียด ขยันและพิถีพิถันในการงาน เหมาะจะนำมาเป็นคู่หรือไม่ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 30 ชาติในเชียงราย)

ที่คุณสุจิตต์ชี้ไว้อย่างน่าสนใจก็คือ เพศสัมพันธ์ในสมัยโบราณอาจอยู่ในหรือนอกสถาบันสมรสก็ได้ ผมเข้าใจว่ามาตรฐานของคนปัจจุบันไม่แยกสองอย่างนี้ออกจากกัน ไม่อย่างนั้นเราจะใช้ “ในหรือนอกสถาบันสมรส” เป็นเกณฑ์ทำไม (สำนวนนี้เอาไปใช้กับชาวเขาคงฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอามาใช้เป็นเกณฑ์) แม้ว่าในทางปฏิบัติสถาบันสมรสไม่ใช่โอกาสเดียวของการมีเพศสัมพันธ์ของคนปัจจุบันก็ตาม

การ “เที่ยวสาว” หรือ “แอ่วสาว” ของคนพื้นราบในสมัยก่อน อาจถึงขั้น “ผิดผี” อย่างอุกฤษฏ์ หากฝ่ายชายไม่ต้องการรับหญิงนั้นเป็นภรรยา ก็อาจเสียผีตามที่ครอบครัวฝ่ายหญิงเรียกร้องได้ คุณสุจิตต์เล่าถึง “เขยอาสา” หรือ “เขยสู่” ซึ่งชายหนุ่มไปอยู่รับใช้ในบ้านพ่อตาแม่ยายเป็นเวลานานๆ มีเพศสัมพันธ์กับหญิงที่ตัวหมายปองไปด้วย แต่ญาติพี่น้องทางฝ่ายหญิงอาจเห็นว่าเป็นคนขี้เกียจไม่น่าจะเอามาร่วมวงศ์ ก็บอกให้เลิกกันไปได้ จะเรียกการเป็น “เขยสู่” ว่าเป็นสถาบันสมรสก็ไม่ใช่ อย่างน้อยก็ไม่ใช่แท้ๆ อย่างที่คุณสุจิตต์บอกแหละครับ ปัจจุบันเรียกว่าอยู่ก่อนแต่ง

แต่มันก็ประหลาดอยู่ในเพศสัมพันธ์นอกสถาบันสมรส ก่อนการออกเรือนอย่างเป็นทางการ ผู้หญิงผู้ชายดูมีเสรีภาพเท่ากันในการมีเพศสัมพันธ์ (ย้ำอีกครั้งนะครับว่า ไม่ใช่เพราะสนุกดีอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ในมิติที่หลากหลายกว่านั้น ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) แต่หลังการสมรสไปแล้ว ดูเหมือนเสรีภาพของผู้ชายในการมีเพศสัมพันธ์ยังมากกว่าผู้หญิง เช่น คุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เล่าว่า ในลานสาวกอดของชาวอาข่านั้น ผู้ชายที่มีครอบครัวแล้วก็สามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมได้ ชาวเขาส่วนใหญ่อาจมีเมียได้เกินหนึ่งพร้อมๆ กัน ไม่ต่างจากชนชั้นสูงในพื้นราบ

แต่ผู้หญิงกลับไปมีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ใช่ผัวไม่ได้ การคบชู้ของฝ่ายหญิงกลายเป็นโทษร้ายแรงในสังคมส่วนใหญ่ (เคยได้ยินว่ามีสังคม “หลายผัว” หรือ polyandry ในหมู่ชาวทิเบต และมหาภารตยุทธ์ แต่เท่าที่ผมเข้าใจ มีน้อยกว่าสังคมหลายเมีย – polygyny – มากทีเดียว) ในหมู่ชาวเขาหลายเผ่า นอกจากผัวอาจหย่าร้างขับไล่ออกจากบ้านแล้ว ยังสามารถไปเรียกเงินสินสอดคืนจากครอบครัวฝ่ายหญิงได้ด้วย

แม้ในสังคมที่สืบมรดกทางฝ่ายหญิง และแต่งงานเข้าตระกูลฝ่ายหญิง รวมทั้งผู้หญิงเป็น “ใหญ่” ในการจัดการทรัพย์สมบัติของครอบครัว ผู้หญิงก็ยังคบชู้ไม่ได้อยู่นั่นเอง เช่น ในสังคมมินังกะเบา ผัวแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย เพราะลูกก็อยู่ในความดูแลของลุงหรือพี่ชายของแม่ และด้วยเหตุดังนั้น ผัวจึงต้องออก perantau คือพเนจรออกมานอกเขตที่เป็นศูนย์กลางซึ่งหมู่บ้านของตนตั้งอยู่ เพื่อหาทางสร้างตัวให้มีฐานะ แล้วค่อยกลับไปมีชีวิตในเขตศูนย์กลางด้วยชื่อเสียงเกียรติยศที่ได้การยอมรับจากคนอื่น รวมทั้งเป็น “ลุง” ของลูกน้องสาวด้วย แม้กระนั้น เมื่อผัวไป perantau ก็ใช่ว่าเมียจะคบชู้ได้ตามสะดวก มีโทษภัยอย่างร้ายแรงทีเดียว

จริงอยู่ เราเคยได้ยินเรื่องของมหาราชินีเช่นอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ หรือแคทเธอรีนแห่งรัสเซีย ซึ่งต่างมีชายชู้จำนวนมาก (คนแรกไม่เคยแต่งงานเป็นทางการ คนที่สองเป็นม่าย) แต่ที่เธอทำอย่างนั้นได้ คงเพราะเป็นพระราชินีมากกว่าเพราะเป็นผู้หญิง

คุณสุจิตต์พูดถึงสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ (matriarchy) ในสมัยดึกดำบรรพ์ ก็อาจเป็น “ใหญ่” ในเรื่องต่างๆ ได้นะครับ แต่ทำไมไม่ค่อยเป็นใหญ่ในเรื่องเพศสัมพันธ์หลังการสมรส ผมอธิบายไม่ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่า หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม มิติต่างๆ ของเพศสัมพันธ์หายไป เหลือแต่ด้านความหฤหรรษ์อย่างเดียว ผมไม่ได้หมายความว่าหญิง-ชายต่างแต่งงานกันด้วยความหน้ามืดอย่างเดียวนะครับ เขาคงเลือกคนที่จะมาสร้างครอบครัวเดี่ยวด้วยกันและคิดจะมีเพศสัมพันธ์กันด้วยแน่ แต่บรรทัดฐานของการเลือกนั้นไม่ค่อยเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ (เช่น “ผู้ดี” ไทยห้ามอยู่ก่อนแต่ง ก็หมายความว่าเพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นคุณสมบัติในบรรทัดฐานการเลือกคู่เลย)

สำนึกของคนสมัยใหม่ เห็นเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องของความยินยอมพร้อมใจของผู้มีวุฒิภาวะสองคน วงศ์วานว่านเครือไม่เกี่ยว, ที่ทำงานไม่เกี่ยว, นายไม่เกี่ยว, ลูกน้องก็ไม่เกี่ยว

อย่างที่กล่าวแหละครับ เพศสัมพันธ์เหลือมิติด้านเดียวคือความหฤหรรษ์ทางกามารมณ์

ขอให้สังเกตนะครับว่า หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ถึงยุคเฟื่องฟูของหนังสือโป๊ และเราจะพบหนังสือโป๊ในภาษายุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำของโลกหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมทุกภาษา (ผมสงสัยว่าอาจจะมากที่สุดในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นผู้จุดชนวนปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วย)

จริงอยู่แหละครับ ที่ก่อนหน้านั้น ก็เคยมีหนังสือโป๊ในภาษาเปอร์เซีย, อุรดู, จีน และญี่ปุ่น (เป็นอย่างน้อย) แม้ว่าหนังสือโป๊เหล่านั้น (ซึ่งมักเป็นหนังสือภาพ) มุ่งจะปลุกกำหนัดของผู้อ่าน ซึ่งเท่ากับเน้นความสำคัญของความหฤหรรษ์ทางกามารมณ์ในเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นหนังสือสำหรับ “ชนชั้นเวลาว่าง” ซึ่งมีวิถีชีวิตและค่านิยมอันคนชั้นกลางซึ่งขยายตัวหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมถือเป็นแบบอย่าง พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีจำนวนน้อยกว่าหนังสือโป๊ในยุคหลังเมื่อได้มีอุตสาหกรรมการพิมพ์ขึ้นแล้วอย่างเทียบกันไม่ได้ ลองคิดดูเถิดครับ กว่าจะมี “สมุดข้างหมอน” สักเล่ม คนญี่ปุ่นที่ไม่เสี่ยจริงก็คงไม่มีทางครอบครองได้ ผมไม่คิดว่ามีชาวนาญี่ปุ่นสักคนก่อนสมัยเมจิ สามารถครอบครอง “สมุดข้างหมอน” ได้

หนังสือโป๊หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงแตกต่างจากหนังสือโป๊ของผู้ดีสมัยโบราณอยู่มากทีเดียว ผมอยากเรียกว่าเป็นข้อเสนอการวิจัยชั้นสูงของผู้เขียน กล่าวคือ ไม่แต่เพียงปลุกกำหนัด แต่เสนอจินตนาการอันผาดโผนนานาชนิดของเพศสัมพันธ์ เพื่อบรรลุความหฤหรรษ์ทางกามารมณ์สูงสุด (ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ยังตัดสินไม่ได้ เพราะเป็นเพียงข้อเสนอการวิจัยไงครับ)

ภาพประกอบเกือบทั้งหมดที่คุณสุจิตต์นำมาลงในหนังสือเล่มนี้ หากเป็นอากัปกิริยาในเพศสัมพันธ์ ก็ล้วนเป็น “ท่า” ที่ฝรั่งเรียกว่า “ท่ามิชชันนารี” ทั้งนั้น (ยกเว้นภาพเดียว ซึ่งหากทำเป็นการ์ตูนช่อง ช่องต่อไปก็น่าจะมีผู้หญิงอยู่ข้างบน) ส่วนกิจกรรมทางเพศอื่นๆ ไม่ปรากฏเลย นอกจากกอดจูบ และลูบคลำอวัยวะทางเพศ

ลองเปรียบเทียบกับหนังสือโป๊ที่เคยอ่านเคยดูสิครับ มี “ข้อเสนอการวิจัย” ที่มากกว่านี้อีกมากนัก

ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ของหนังสือโป๊ แสดงให้เห็นว่าความหฤหรรษ์ทางกามารมณ์กลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของเพศสัมพันธ์ในสายตาคนที่อยู่ในสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว

และไม่ว่าจะมี “ข้อเสนอการวิจัย” ที่สลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยจินตนาการอย่างไร หากเพศสัมพันธ์มีมิติเหลือเพียงอย่างเดียว ในที่สุดคนก็อาจเบื่อได้ อย่างที่เขาว่ากันว่าคนญี่ปุ่นพากันเบื่ออยู่ในปัจจุบัน