นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ศึกเดียนเบียนฟู (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

แม้ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์สงครามเป็นพิเศษ แต่การรบที่เดียนเบียนฟูระหว่างฝรั่งเศสและนักปฏิวัติเวียดนามเป็นเรื่องประทับใจผมที่สุดตลอดมา จึงทำให้ชอบอ่านเรื่องของศึกเดียนเบียนฟูอยู่เรื่อยๆ

ทำไมจึงประทับใจกับศึกครั้งนี้เป็นพิเศษ ก็คงเหมือนเด็กทั่วไปในโลกกระมัง ที่ประทับใจกับนิทานเรื่องแจ๊กผู้ฆ่ายักษ์

พูดอย่างนี้เป็นการยกย่องตนเองเกินจริง เพราะเมื่อเกิดการรบที่เดียนเบียนฟู ผมอายุเกือบจะเป็น “นาย” ไปแล้ว ซ้ำก็เหมือนเด็กไทยและคนไทยทั่วไปสมัยนั้น คือถูกรัฐบาลไทยกล่อมให้เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ (เพื่อรับความช่วยเหลืออเมริกัน) ดังนั้น แจ๊กจึงกลายเป็นปีศาจในคราบของเด็ก ในขณะที่ศัตรูของแจ๊กคือนักบุญในคราบของยักษ์

กว่าจะเริ่มเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นที่เดียนเบียนฟูจริงๆ ก็หลังเหตุการณ์มาหลายปี และด้วยความประทับใจเหมือนนิทานเรื่องแจ๊กผู้ฆ่ายักษ์นี่แหละ จึงอ่านเกี่ยวกับการรบมากขึ้นมาเรื่อยๆ ในที่สุด ก็เข้าใจว่าไม่มีแจ๊กและไม่มียักษ์จริงในศึกเดียนเบียนฟูหรอก

ยิ่งได้เห็นร่องรอยการรบที่เดียนเบียนฟู ก็ยิ่งได้ความรู้สึกบางอย่างที่ผู้เขียนเกี่ยวกับการรบครั้งนี้พยายามสื่อ แต่ผมในฐานะผู้อ่านไม่เคยหยั่งลงไปได้ถึง จนได้เห็นฉากการรบของจริงในเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูครั้งนี้

สถานการณ์สงครามระหว่างนักกู้ชาติเวียดนามและฝรั่งเศสจนมาถึงการรบที่เดียนเบียนฟูก็คือ

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจฝ่ายชนะสงครามตกลงกันโดยไม่มีฝรั่งเศสร่วมด้วยว่า ทางตอนเหนือของเวียดนามให้กองทัพจีนเคลื่อนลงมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ส่วนทางใต้ให้กองทัพอังกฤษยกเข้าปลดอาวุธ อเมริกันซึ่งมีอิทธิพลสูงในที่ประชุมเจตนาจะกันฝรั่งเศสออกไป เพราะตอนนั้นนโยบายของอเมริกันต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ ขจัดเจ้าอาณานิคมออกไปให้หมด กลายเป็นดินแดนเปิดที่สหรัฐสามารถเข้ามาเล่นได้อย่างเท่าเทียมกับชาติอื่น

แต่มหาอำนาจก็ไม่ถึงกับประกาศรับรองการประกาศเอกราชของลุงโฮ (หลัง คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว คำว่าลุงในภาษาไทยยังเป็นคำยกย่องอยู่หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ในเวียดนาม โฮจิมินห์ถูกเรียกว่าลุงเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ของประชาชนจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความรักเคารพอย่างสูง) สถานะของเวียดนามและอินโดจีนทั้งหมดจึงออกจะกำกวม ไม่ใช่ประเทศเอกราชที่มหาอำนาจรับรอง แต่ก็ไม่ได้รับรองสิทธิของฝรั่งเศสเหนืออาณานิคมเดิมของตนเหมือนกัน

แน่นอนส่วนหนึ่งของอังกฤษลังเลใจ เพราะย่อมอ่านออกว่าอเมริกันกำลังคิดอะไรอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งคิดสอดคล้องกับอเมริกันว่า ถึงอย่างไรอังกฤษก็ไม่อยู่ในฐานะจะปกป้องอาณานิคมในเอเชียของตนได้แล้ว ไม่ว่าในทางทหาร, ทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมืองระหว่างประเทศ ฉะนั้น ปล่อยอาณานิคมออกไปโดยดี เพื่อสร้างความสัมพันธ์พิเศษต่อกัน (ในรูปเครือจักรภพ) จะให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและอิทธิพลอังกฤษในภูมิภาคมากกว่า

คนอังกฤษที่คิดอย่างหลังนี้มีจำนวนมากกว่า จึงทำให้เชอร์ชิลวีรบุรุษสงครามแพ้การเลือกตั้ง พรรคเลเบอร์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนและดำเนินนโยบายอย่างที่ประชาชนผู้เลือกตนต้องการ

 

แม้กระนั้นก็มีข้าราชการอังกฤษและนายทหารอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ หนึ่งในนั้นคือนายพลอังกฤษที่นำกำลังมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางตอนใต้ สิ่งที่เขาต้องเผชิญขณะนั้น ไม่ได้มีแต่กองทหารญี่ปุ่นซึ่งพร้อมจะให้ปลดอาวุธและส่งกลับบ้าน แต่ยังมีกองกำลังของพรรคแรงงานเวียดนาม ซึ่งสามารถควบคุมประชาชนส่วนใหญ่ไว้ได้ โดยเฉพาะในเขตชนบท

นโยบายของ ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบตเตน แม่ทัพใหญ่ของอังกฤษในเอเชีย ย่อมสอดคล้องกับข้อตกลงของมหาอำนาจ นั่นคืออังกฤษต้องวางตัวเป็นกลาง หน้าที่ของอังกฤษคือปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ส่งตัวกลับบ้าน รักษาความสงบเรียบร้อยเท่าที่จะทำได้ และเท่าที่จะไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบ

แม้กองกำลังของพรรคแรงงานเวียดนามได้รับคำสั่งจากกรรมการพรรคให้ร่วมมือกับกองทัพอังกฤษ แต่ก็มีเหตุจลาจลเกิดขึ้นบ้างในเขตเมืองไซ่ง่อนและเมืองอื่น แม่ทัพอังกฤษจึงรักษาความสงบเรียบร้อยโดยการกระทำที่ให้ความได้เปรียบแก่ฝรั่งเศส เช่น ใช้กองกำลังของญี่ปุ่นในการรักษาความสงบ ปล่อยชาวฝรั่งเศสที่ถูกญี่ปุ่นคุมขังไว้ทั้งหมด แล้วติดอาวุธมาช่วยในการรักษาความสงบ ตลอดจนเมื่อฝรั่งเศสใช้กำลังส่วนนี้ในการปราบปรามทางการเมือง แม่ทัพอังกฤษก็วางเฉย

ฉะนั้น เมื่ออังกฤษยกทัพออกไปเมื่อปฏิบัติภารกิจสำเร็จแล้ว ผู้ที่สามารถเข้ามารับช่วงระบบปกครองและมีกองกำลังจะรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเมืองได้ก็คือฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาต่อมาปารีสก็สามารถหาเรือส่งกำลังเสริมเข้ามาเพิ่มเติม และสถาปนาอำนาจเจ้าอาณานิคมของตนในเวียดนามภาคใต้กลับคืนมาจนได้

แต่สถานการณ์ทางการเมืองในเวียดนามเมื่อสิ้นสงครามไม่ได้เป็นสุญญากาศทางอำนาจ อย่างที่แม่ทัพอังกฤษและฝรั่งเศสสมมติให้เป็น พรรคแรงงานเวียดนามภายใต้ลุงโฮเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ซ้ำเป็นอำนาจที่มีประสิทธิภาพมากเสียด้วย เพราะถึงตอนนั้นขบวนการกู้ชาติของเวียดนามทั้งหลายแทบจะไม่เหลือในสายตาประชาชนอีกแล้ว บางกลุ่มทรยศต่อแนวทางกู้ชาติของตนเองด้วยการไปร่วมมือกับญี่ปุ่น บางกลุ่มไปร่วมมือแม้แต่กับฝรั่งเศส ตั้งแต่ก่อนสงครามและหลังสงคราม บางกลุ่มอ้างอุดมการณ์ชาตินิยม แต่ปฏิบัติตัวเป็นองค์กรมาเฟียใหญ่รีดนาทาเน้นประชาชนชาวเวียดนามเอง

พรรคแรงงานจึงเป็นขบวนการกู้เอกราชเพียงองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ คนเวียดนามที่รักชาติแม้ไม่ยอมรับลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากร่วมมือกับพรรคแรงงาน การปฏิบัติงานของพรรคลงไปถึงระดับล่าง ควบคุมประชาชนในเขตชนบทได้อย่างค่อนข้างรัดกุม

ในภาคเหนือ กองกำลังของพรรคคุ้มกันลุงโฮ ซึ่งเดินทางเข้าสู่เวียดนามจากจีนตอนใต้ ประกาศเอกราชที่ฮานอยและตั้งรัฐบาลเวียดนามขึ้นที่นั่น โดยการดำเนินนโยบายประนีประนอมกับขบวนการกู้ชาติอื่นๆ และกับกองทัพจีน (ซึ่งไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าปล้นสะดมเพื่อขนทรัพย์สมบัติกลับบ้าน) รายได้มีไม่มากนัก เพราะยังไม่มีระบบเก็บภาษีที่จะนำเงินเข้าส่วนกลาง รายได้หลักมาจากท่าเรือไฮฟอง และการค้าฝิ่นทั้งในจีนตอนล่าง และลักลอบส่งเข้ามาขายที่กรุงเทพฯ

แต่การปลุกระดมประชาชนในชนบททำอย่างได้ผล เพราะช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรการผลิตได้มากขึ้น เช่น มีการยึดที่ดินของเจ้าที่ดินในบางแห่ง กระจายกลับไปให้แก่ชาวนาผู้เช่าที่ดิน ฉะนั้น แม้ปราศจากเงิน แต่กองกำลังของเวียดมินห์กลับมีกำลังพลจำนวนมาก อีกทั้งสามารถระดมได้ไม่จำกัด เพียงแต่อาวุธที่ใช้ยังไม่ทันสมัยเท่านั้น

ในภาคใต้ แม้ต้องเสียอำนาจในเขตเมืองให้แก่กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ในเขตชนบทเวียดมินห์คุมได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อฝรั่งเศสสถาปนาอาณานิคมกลับคืนมาในเวียดนาม อำนาจฝรั่งเศสก็กระจุกอยู่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น ในภายหลัง ปารีสค่อยๆ รุกคืบขึ้นเหนือจนยึดไฮฟองและฮานอยไปจนได้ แต่ก็ต้องกระจุกตัวอยู่ในเมืองนั่นเอง

กรรมการกลางพรรคแรงงานลงมติให้ต่อสู้กับฝรั่งเศสด้วยอาวุธ แต่กองกำลังของพรรคมิได้มีอาวุธหรือยุทธวิธีที่จะรบกับกองทัพฝรั่งเศสได้มากไปกว่าสงครามกองโจร ซุ่มโจมตีตามจุดอ่อนของกองกำลังฝรั่งเศส แล้วละลายหายตัวไป ดังนั้นฝรั่งเศสจึงต้องส่งกำลังของตนออกตั้งป้อมค่ายในชนบท เพื่อแย่งหมู่บ้านคืนมา ซึ่งก็ทำได้เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น

ตกกลางคืนทหารฝรั่งเศสต้องกลับเข้าป้อมค่ายและปล่อยให้หมู่บ้านตกอยู่ในอำนาจของเวียดมินห์ตามเดิม

รัฐบาลเวียดนามของลุงโฮตัดสินใจทิ้งฮานอย เดินทางหลบไปอยู่ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของตังเกี๋ย ติดชายแดนจีน บริเวณนี้เป็นเขาสูงและถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยนานาชนิด จำนวนมากคือพวกไตและนุง (ไม่นับพวกแม้ว, เย้า, หมาน, ฯลฯ บนที่สูง) แต่ฝรั่งมักเรียกไตตรงนี้ว่าโท้หรือโถ่ อาจารย์ยุกติอธิบายว่าคำนี้ในภาษาเวียดนามแปลว่าคนพื้นเมืองเท่านั้น (ผมเคยเห็นตำราภาษาไทยเรียกไตตรงนี้ว่าไทโท้ก็มี) และไตตรงส่วนนี้ของเวียดนามสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับพวกจ้วงในกวางสีมากกว่าไตดำ ไตขาว ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ไตแถบนี้จึงถูกระดมเข้าไปเป็นพลพรรคของพรรคแรงงานเวียดนามมาก กองกำลังองครักษ์ของลุงโฮซึ่งยังใช้มาจนเมื่อท่านได้ชัยชนะแล้วก็เป็นคนพื้นเมืองแถบนี้ (หากผมจำไม่ผิด ดูเหมือนเป็นพวกนุง) หนังสือไทยบางเล่มที่เล่าเรื่องศึกเดียนเบียนฟูไปสับสนไตกลุ่มนี้กับไตดำ ไตขาวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่ได้ประกอบเป็นกองกำลังหลักในการรบกับฝรั่งเศส บางกลุ่มเข้าข้างฝรั่งเศสด้วยซ้ำ แต่ก็มีไตดำ ไตขาวที่เข้าร่วมกับเวียดมินห์ และมีบทบาทในการลำเลียงทั้งอาวุธและเสบียงอาหารให้แก่กองทัพเวียดมินห์

ผลโดยรวมที่ได้จากสงครามกองโจรก็คือ ตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศสไว้ให้อยู่กับที่ คือรักษาเมืองและรักษาป้อมค่ายในเขตลุ่มน้ำแดง (ตลอดลงไปถึงเว้และไซ่ง่อน) ดังนั้น แม้ฝรั่งเศสมีอาวุธเหนือกว่า (ในภายหลังมีกองกำลังทางอากาศด้วย) และมีประสบการณ์ทำสงครามขนาดใหญ่ แต่ก็ยากจะระดมกำลังเข้าบดขยี้ฝ่ายตรงข้าม เช่น ฝรั่งเศสต้องปล่อยให้พรรคแรงงานตั้งอยู่ในเขตภูเขาทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่างค่อนข้างปลอดภัย หรือในศึกเดียนเบียนฟู ก็ไม่อาจถอนกำลังทหารทั้งหมดมาต่อสู้ป้องกันป้อมค่ายของตนที่เดียนเบียนฟูได้

สงครามระหว่างฝรั่งเศสและเวียดมินห์คงดำเนินเช่นนี้ไปตลอด คือไม่มีใครเอาชนะขาดทางการรบได้ ในขณะที่สงครามทางการเมืองก็สู้กันต่อไปบนเวทีระดับโลก แต่ทั้งหมดเปลี่ยนไปกะทันหัน เมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ชัยชนะเด็ดขาดในจีนใน ค.ศ.1949 ทำให้จีนซึ่งมีพรมแดนติดเวียดนามกลายเป็นจีนอีกชนิดหนึ่งคือเป็นคอมมิวนิสต์ และไม่อาจทนให้มหาอำนาจตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนที่ประชิดจีนได้เช่นนั้น ยิ่งกว่านี้สงครามเกาหลีซึ่งผูกกองทัพจีนไว้ทางตอนเหนือก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ.1953 ปลดปล่อยอาวุธยุทธภัณฑ์จีนอีกจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนพรรคพี่พรรคน้องในเวียดนามได้

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า แม่ทัพใหญ่ฝ่ายเวียดนามคือ นายพลหว่อเหงวียนซ้าป (Vo Nguen Giap – ออกเสียงอย่างนี้ถูกหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เห็นหนังสือไทยที่ผู้เขียนแสดงว่ารู้ภาษาเวียดนามออกเสียงเช่นนี้ ผมจึงเขียนตาม) มีความเชี่ยวชาญในการทำสงครามกองโจรเป็นอย่างยิ่ง แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า สงครามกองโจรไม่อาจขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากเวียดนามได้ ซ้าปไม่เคยเรียนการทหาร ซ้ำไม่เคยมีประสบการณ์ทำสงครามขนาดใหญ่ด้วย เขาอาศัยตำราสงครามของเหมาเท่านั้น

ตำราเหมาแบ่งสงครามกู้ชาติเป็นสามขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือทำสงครามกองโจร บ่อนทำลายฝ่ายข้าศึกลงเท่าที่จะทำได้ จนเมื่อได้สะสมกำลังฝ่ายตนได้มากขึ้น และทำให้ฝ่ายข้าศึกอ่อนแอลงระดับหนึ่งแล้ว ก็เลื่อนขึ้นมาทำสงครามขั้นตอนที่สอง คือโจมตีศูนย์กำลังใหญ่ๆ ของข้าศึก หากได้ชัยชนะต่อเนื่องกันเพียงพอ ข้าศึกย่อมเจรจาสงบศึก หรือมิฉะนั้นก็เข้าสู่สงครามขั้นตอนที่สาม คือระดมทัพใหญ่ตีข้าศึกให้แตกพ่ายไปเลย

ปัญหาคือ เหมาไม่ได้บอกให้ชัดว่าต้องดูอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ ว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว ซึ่งก็ถูกต้องในแง่หนึ่ง เพราะสงครามย่อมขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละครั้งแต่ละแห่ง ไม่มีสูตรตายตัว ก่อนศึกเดียนเบียนฟู นายพลซ้าปเคยเก็งจังหวะผิด ยกกำลังเข้าโจมตีศูนย์กำลังใหญ่ๆ ของฝรั่งเศสสองสามครั้ง แต่พ่ายแพ้สูญเสียกำลังฝ่ายตนไปเป็นอันมากทุกที โดยเฉพาะในช่วงที่เวียดนามอยู่ภายใต้ข้าหลวงใหญ่และแม่ทัพใหญ่ที่ชื่อ ชอง เดอ ลัตเตรอะ เดอ ตัสซิญญี (Jean de Lattre de Tassigny) นายทหารเลื่องชื่อซึ่งไต่เต้าจากทหารม้าและมีแผลเต็มตัว (ผมพูดเรื่องแผลเต็มตัวเพื่อให้เข้าใจว่าเขาแตกต่างจากนายพลรูปหล่อ หน้าเกลี้ยง หน้าอูม ทั้งของฝรั่งเศสและของชาติอื่น)

แต่การตัดสินใจของฝรั่งเศสที่ไปตั้งป้อมปราการขนาดใหญ่ที่เดียนเบียนฟู เป็นของแม่ทัพใหญ่ฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง คือนายพลอังรี นาวาร์ (Henri Navarre) นายพลคนนี้ไม่ใช่นายพลในสนามรบ แต่อยู่ฝ่ายเสธ.มาตลอด แม้กระนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า การวางแผนตั้งป้อมค่ายที่เดียนเบียนฟูเป็นความโง่เขลาทางทหาร

เดียนเบียนฟูเป็นเมืองกลางหุบเขาบนที่สูงด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ติดชายแดนลาว ไม่มีเส้นทางคมนาคมจากลุ่มน้ำแดงตอนล่างซึ่งอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศสขึ้นมาถึงเดียนเบียนฟูได้เลย ทุกอย่างต้องใช้การขนส่งทางอากาศทั้งสิ้น นับตั้งแต่ตั้งค่ายและส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ ฝรั่งเศสมีกำลังทางอากาศซึ่งได้รับการอุดหนุนจากสหรัฐ ในขณะที่ฝ่ายเวียดมินห์ไม่มีเลย ฉะนั้น ที่เวียดมินห์สามารถเคลื่อนกองพลห้าหกกองพลมาล้อมฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูได้ จึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสคาดไม่ถึงเหมือนกัน ยังไม่พูดถึงว่าเวียดมินห์ยังสามารถส่งกำลังบำรุงได้ตลอดการรบด้วย

ความผิดพลาดของแผนนายพลนาวาร์เกิดจากการข่าวที่ยังไม่ดีพอ ทำให้เก็งผิดตลอด อาจสรุปข้อผิดพลาดได้ดังนี้

ประการแรก นายพลนาวาร์เก็งผิดว่า จีนไม่อาจให้ความช่วยเหลือเวียดนามทั้งด้านอาวุธยุทธภัณฑ์และที่ปรึกษาด้านการทหารได้มากเช่นนั้น

ประการต่อมา เก็งผิดว่าฝ่ายนายพลซ้าปจะไม่สามารถขนปืนใหญ่ขนาด 120 ม.ม. ขึ้นเขามาล้อมยิงได้เช่นนั้น จนทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถรักษาสนามบินทั้งสองสนามในเดียนเบียนฟูไว้ได้ ต้องส่งกำลังบำรุงด้วยการทิ้งร่มอย่างเดียว หรือนำเครื่องลงจอดได้ในระยะเวลาสั้นเกินไป

ประการต่อมา คาดไม่ถึงว่าในฤดูหนาวและต้นฝน อากาศที่เดียนเบียนฟูจะปิดขนาดที่ใช้เครื่องบินโจมตีไม่ได้ผลเอาเลย

ประการต่อมา ก็คือความคิดที่จะปิดกั้นมิให้เวียดมินห์ขยายกำลังเข้าลาวได้อีก ด้วยการตั้งป้อมค่ายขนาดใหญ่ที่เดียนเบียนฟูไม่ได้ผล เพราะเวียดมินห์ก็ยังสามารถส่งกำลังทหารเข้าลาวและกีดกันมิให้กองทหารฝรั่งเศสในลาวเหนือช่วยเหลือเดียนเบียนฟูได้ อันที่จริงความคิดเรื่องป้องกันลาวนี้ มีปัจจัยทางการเมืองร่วมอยู่ด้วย เพราะขณะนั้นฝรั่งเศสประกาศตั้งสัมพันธรัฐฝรั่งเศส (French Associated States) ซึ่งรวมอินโดจีนทั้งหมดไว้ด้วยกันอยู่แล้ว การป้องกันลาวจึงทำให้แผนการสัมพันธรัฐฝรั่งเศสดูเป็นรูปธรรมทางการเมืองขึ้นด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน นายพลซ้าปและกองทัพเวียดนามเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์การรบสูงไปกว่าระดับกองพัน (อย่างที่สงครามกองโจรต้องการ) แต่ศึกเดียนเบียนฟูเป็นสงครามขนาดใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างกรีธาทัพขนาดใหญ่ออกประจัญบานกัน ซึ่งทั้งแม่ทัพและกองทัพเวียดนามไม่เคยมีประสบการณ์เลย ฝรั่งเศสจึงน่าจะได้เปรียบกว่าอย่างมาก

เรื่องการรบที่สูงกว่าระดับกองพันนี้มีอะไรให้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกมาก และผมจะนำกลับมาคุยใหม่อีกครั้งในตอนต่อไป (ยังมีต่อ)