วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (11)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ขัณฑสีมาที่ขุ่นเคือง (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม จะด้วยอิทธิพลที่เพิ่มพูนมากขึ้นหรือไม่ก็ตาม ผลงานของต่งจว๋อย่อมเป็นที่พอใจของราชสำนักอย่างแน่นอนอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ จักรพรรดิฮั่นหลิงตี้จึงทรงปูนบำเหน็จให้เขาด้วยการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางกรมวัง โดยเฉพาะให้มีหน้าที่ดูแลรายได้ของวังหลวง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ขุนนางโดยทั่วไปหมายปอง เพราะเป็นตำแหน่งที่แม้จะบ่งชี้ว่าขุนนางคนนั้นจะเป็นคนใจซื่อมือสะอาดแล้ว ก็ยังเป็นตำแหน่งที่มีผลประโยชน์รองรับอย่างมหาศาล

ตำแหน่งนี้จึงเป็นที่เชิดหน้าชูหน้าให้แก่ขุนนางและวงศ์ตระกูล

แต่ทว่า ต่งจว๋อกลับปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว จนในห้วงที่ฮั่นหลิงตี้ใกล้จะสวรรคตนั้นเอง พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เขาไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการมณฑลปิ้ง

คราวนี้เขากลับไม่ปฏิเสธ

 

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑล (regional governor) หรือ โจวมู่ เป็นคำเรียกแทนตำแหน่งข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น (ชื่อสื่อ) ในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นก็เปลี่ยนมาเรียกข้าหลวงผู้ตรวจการดังเดิม แต่จากคำจีนที่เรียกว่า โจวมู่ นั้นก็ทำให้เห็นถึงที่มาของคำว่ามาจากคำว่า มู่ซือ ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงพอสรุปได้ว่า ผู้ว่าการมณฑลกับข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นพึงเป็นตำแหน่งเดียวกัน

แต่ที่ควรกล่าวต่อไปก็คือ ตอนที่ต่งจว๋อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการมณฑลนั้น ตำแหน่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ จนถึงช่วงที่บ้านเมืองจีนกำลังปั่นป่วนวุ่นวายก่อนยุคสามรัฐอยู่นี้ ผู้ว่าการมณฑลได้กลายมาเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจกว้างขวางอย่างมาก คือนอกจากจะเป็นผู้บัญชาการกองทัพชายแดนแล้ว ก็ยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีความต่างๆ อีกด้วย

จากอำนาจเช่นนี้ทำให้เห็นว่า ผู้ว่าการมณฑลมีฐานะเป็นข้าหลวงผู้ตรวจการอยู่ด้วย เพราะการพิจารณาคดีความต่างๆ ได้เท่ากับคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่จักรพรรดิเช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลที่มีอำนาจกว้างขวางดังกล่าวได้ทำให้ตำแหน่งข้าหลวงผู้ตรวจการดูด้อยลงไป หรือไม่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลไป

 

จากเหตุนี้ จึงทำให้เข้าใจไปด้วยว่า เหตุใดต่งจว๋อจึงยินดีรับตำแหน่งผู้ว่าการมณฑล แต่ปฏิเสธตำแหน่งขุนนางกรมวัง ทั้งที่ตำแหน่งหลังนี้เป็นทั้งเกียรติยศและผลประโยชน์รวมกัน

แท้ที่จริงแล้วต่งจว๋อน่าจะรู้ดีว่า การรับเป็นขุนนางกรมวังแม้จะมีเกียรติและผลประโยชน์อยู่มากก็จริง แต่มันก็ไม่ต่างกับการถูกดูดตัวเข้าไปให้อยู่ในสายตาของราชสำนัก ซึ่งจะทำให้เขาขาดอิสระและไม่สามารถขยายบทบาทได้อีกต่อไป

ผิดกับการเป็นผู้ว่าการมณฑลที่นอกจากจะห่างไกลจากส่วนกลางจนมีอิสระระดับหนึ่งแล้ว หากบริหารดีผลประโยชน์ที่ได้มาก็มิใช่น้อยเลย โดยเฉพาะที่มาจากภาษีอากร นอกจากนี้ ก็ยังมีอำนาจทางการทหารที่อิสระ ที่หากบังคับบัญชาได้ดีกองทัพก็คือแสนยานุภาพที่ทรงพลังยิ่ง

ที่สำคัญ การที่ต่งจว๋อได้เป็นผู้การมณฑลปิ้งนี้ยังถือเป็นการขยายอิทธิพลให้แก่ตัวเองที่ชาญฉลาดอีกด้วย เพราะปิ้งโจวมีที่ตั้งอยู่ติดกับเหลียงโจวหรือซีเหลียง อันเป็นเขตอิทธิพลเดิมของต่งจว๋อมาแต่แรกเริ่ม และเป็นเขตที่เขาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา

เมื่อเป็นเช่นนี้อำนาจของต่งจว๋อก็ขยายกว้างไกลยิ่งขึ้น และด้วยเหตุนี้เองตอนที่มีการกำจัดพวกสิบจางวางหรือเหล่าขันทีจนเลือดนองวังหลวงนั้น ต่งจว๋อซึ่งถูกชวนให้เข้าร่วมปฏิบัติการนี้จึงกำลังนั่งกินเมืองปิ้งโจวอยู่ และที่ถูกชักชวนก็เพราะมั่นใจในอำนาจดังกล่าวของเขานั้นเอง

แต่ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ตอนที่ต่งจว๋อยกกำลังของตนมาถึงเมืองหลวงนั้น หยวนเส้าได้สังหารพวกสิบจางวางและสมุนขันทีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และต่งจว๋อก็ฉวยโอกาสใช้กองกำลังที่ทรงอิทธิพลยิ่งของตนเข้ายึดวังหลวง แล้วแต่งตั้งและควบคุมองค์จักรพรรดิฮั่นเสี้ยนตี้เอาไว้

 

ผลที่ตามมาตามที่กล่าวไปแล้วก็คือ การกระทำของต่งจว๋อในครั้งนี้ได้ยังความไม่พอใจให้แก่ขุนนางโดยทั่วไป ด้วยเห็นว่าการกระทำของต่งจว๋อแท้จริงแล้วก็คือการรัฐประหารอีกแบบหนึ่ง และเมื่อได้อำนาจแล้วมาก็ปฏิบัติตนเป็นทรราช โดยเริ่มจากการตั้งตนให้มีตำแหน่งสูงๆ จนนอกจากตัวเขาแล้วก็ไม่มีใครสูงกว่าอีกแล้ว

จากนั้นก็ใช้ตำแหน่งดังกล่าวทำการยักยอกสมบัติจากคลังหลวงมาเป็นของตน และก็ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้จีนเป็นจักรวรรดิส่วนตัวของเขา

ขุนนางที่ไม่พอใจต่งจว๋อเป็นขุนนางที่อยู่ตามมณฑลและเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ

แต่ที่โดดเด่นจนเป็นที่คาดหวังจากขุนนางทั่วไปคนหนึ่งก็คือ หยวนเส้า

 

หยวนเส้า (มรณะ 202) ถือเป็นขุนศึกที่โดดเด่นคนหนึ่งในช่วงปลายฮั่นตะวันออก มีภูมิหลังมาจากตระกูลผู้ดีมีชื่อเสียงที่ครองตำแหน่งขุนนางส่วนกลางมาหลายชั่วคน

ในสมัยฮั่นหลิงตี้เขาเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง ฐานะของเขาจึงสูงเด่นไม่น้อย

และคงด้วยเหตุนี้ที่คราวที่เหอจิ้นคิดจำกำจัดพวกสิบจางวางนั้น จึงได้อาศัยกองกำลังของหยวนเส้าให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

แต่หลังจากที่ต่งจว๋อยึดอำนาจเอาไว้ได้ หยวนเส้าจึงหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่จี้โจว (มณฑลจี้) ที่จี้โจวนี้ที่ปรึกษาของเขาคนหนึ่งได้แนะนำให้เขา “ยึด” ตัวจักรพรรดิฮั่นเสี้ยนตี้เอาไว้ในความควบคุม แล้วใช้พระนามของพระองค์ออกคำสั่งทางการเมืองให้ แต่ขุนนางคนอื่นที่รายล้อมหยวนเส้าไม่เห็นด้วย ในขณะที่ตัวเขาเองก็กลัวว่าหากทำเช่นนั้นแล้วก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของฮั่นเสี้ยนตี้เสียเอง

วิธีที่หยวนเส้าเลือกก็คือ การรวบรวมทัพพันธมิตรเข้าโจมตีต่งจว๋อ พันธมิตรนี้มาจากการรวมตัวของผู้นำมณฑลและเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ 18 หน่วยปกครอง พันธมิตรเหล่านี้ต่างมีความไม่พอใจการกระทำของต่งจว๋อทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ หากพันธมิตรทั้ง 18 นี้รวมตัวกันได้จริงก็มีหวังที่จะเอาชนะต่งจว๋อได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วพันธมิตรเหล่านี้กลับหวาดระแวงกันเอง ทัพที่ควรแยกเป็นหลายสายเพื่อเข้าตีทัพของต่งจว๋อในแต่ละพื้นที่จึงมิได้เกิดขึ้นจริง

จะมีก็แต่ทัพที่นำโดยเฉาเชากับซุนเจียน (ซุนเกี๋ยน) เท่านั้นที่กล้าเปิดศึกในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทัพพันธมิตรทั้ง 18 ภายใต้สภาพที่ว่าก็ได้เปิดศึกกับต่งจว๋อในปี ค.ศ.189

ผลคือ ทัพของเฉาเชาพ่ายแพ้ แต่ทัพของซุนเจียนได้รับชัยชนะ จากความสามารถของซุนเจียนทำให้ต่งจว๋ออยากได้ซุนเจียนมาเข้าด้วย เขาจึงส่งขุนนางที่มีวาทศิลป์ดีไปเจรจากับซุนเจียนโดยใช้วิธีจูงใจว่า ต่งจว๋อจะยกบุตรสาวของตนให้แต่งงานกับบุตรชายของซุนเจียน เมื่อเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันแล้วตระกูลต่งกับตระกูลซุนก็จะปกครองแผ่นดินจีนร่วมกัน

แต่การเจรจาล้มเหลวเพราะซุนเจียนปฏิเสธ และพร้อมที่จะบุกเข้าตีต่งจว๋อต่อไป

ฝ่ายต่งจว๋อซึ่งล้มเหลวในการดึงเอาซุนเจียนมาเข้าด้วยก็เห็นว่า หากทัพพันธมิตรเกิดมีความสามัคคีเข้าในวันหนึ่ง ประกอบกับบางทัพมีผู้นำอย่างเฉาเชาและซุนเจียนที่กล้าหาญชาญชัยด้วยแล้ว การยึดครองลว่อหยางของตนก็จะขาดความมั่นคง

และเพื่อหนีภัยคุกคามนี้ต่งจว๋อจึงตัดสินใจทิ้งลว่อหยางหนีไปตั้งมั่นยังเมืองฉางอานใน ค.ศ.190 ซึ่งปัจจุบันก็คือเมืองซีอานของมณฑลส่านซี ทั้งนี้ โดยมีจักรพรรดิฮั่นเสี้ยนตี้ถูกควบคุมไปด้วย

ที่สำคัญ ก่อนจะทิ้งลว่อหยางไปนั้น ต่งจว๋อได้สั่งให้เผาเมืองนี้จนวอดวาย กล่าวกันว่า เพลิงที่ลุกไหม้ครั้งนั้นยาวนานถึงสามวันสามคืน ทั้งเมืองจึงกลายเป็นจุณไปด้วยเหตุนี้

 

ข้างฝ่ายซุนเจียนนั้นเล่า ขณะที่ทัพของตนมีชัยโดยตลอดและบุกใกล้เมืองลว่อหยางเต็มทีอยู่นั้น ก็กลับขาดเสบียง ด้วยหยวนซู่ (อ้วนสุด) ได้เสนอให้หยวนเส้าพี่ชายของตนหยุดส่ง ด้วยเกรงว่าซุนเจียนจะมีความดีความชอบและมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เมื่อไม่มีเสบียงทัพของซุนเจียนจึงไม่อาจเคลื่อนต่อไปได้

เรื่องจึงกลายเป็นว่า ทัพพันธมิตรภายใต้การนำของหยวนเส้าที่กำลังจะมีชัยชนะในการปราบต่งจว๋อก็เป็นอันล้มเหลว หาไม่แล้วตัวหยวนเส้าก็จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนต่งจว๋อ

ความล้มเหลวครั้งนี้จึงมีสาเหตุมาจากหยวนเส้าโดยแท้ จากพฤติกรรมนี้ของหยวนเส้าจึงมีผู้วิเคราะห์กันว่า เป็นเพราะหยวนเส้าและหยวนซู่ไปอิจฉาในความสามารถของซุนเจียนโดยใช่เหตุ หรือไม่ก็ขลาดเขลาเบาปัญญาที่กลัวกองกำลังของต่งจว๋อมากเกินไป จนไม่กล้าทุ่มกำลังเข้าโจมตีอย่างเต็มที่ ทั้งที่ทัพพันธมิตรภายใต้การนำของเขาก็มิได้เป็นรองต่งจว๋อเลย

ส่วนต่งจว๋อเมื่อไปถึงเมืองฉางอานแล้วก็อยู่ปกครองที่เมืองนี้เรื่อยมา ที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยสำหรับเขาก็คือ การยังคงความเป็นทรราชของตนเอาไว้อย่างมั่นคง ลำพังการเป็นทรราชมาแต่เดิมของต่งจว๋อก็ได้สร้างศัตรูไว้มากพอแล้ว แต่เมื่อพฤติกรรมนี้ยิ่งหนักข้อก็ยิ่งเป็นการสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งต่งจว๋อเองก็รู้ตัวดีว่าตนมีศัตรูอยู่รอบด้าน

ด้วยเหตุนี้ การใช้ชีวิตในฉางอานของต่งจว๋อจึงเต็มไปด้วยความระมัดระวัง เวลาไปไหนจึงมีทหารคอยคุ้มกันมากมาย และผู้ที่เขาไว้วางใจให้เดินเคียงข้างประดุจเงาตามตัวก็คือ หลี่ว์ปู้ (ลิโป้, มรณะ ค.ศ.198) ผู้ซึ่งเป็นทั้งนายทหารคนสนิทและบุตรบุญธรรมของเขา

ดังนั้น ไม่ว่าต่งจว๋อจะอยู่ที่ใด ที่นั้นจะมีตัวของหลี่ว์ปู้อยู่ด้วยเสมอ