หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ข้อความ’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - เมื่ออยู่ร่วมกันแบบพึ่งพา เสือกับคนก็ใช้เส้นทางร่วมกันได้

 

‘ข้อความ’

 

สิ่งที่เปลี่ยนไปของการทำงานในป่าสำหรับผม อย่างหนึ่งคือ เมื่อเข้าไปในป่าที่ทำงานแล้ว ผมไม่ได้ “หายหัว” ไป ติดต่อไม่ได้ คนไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังเช่นเมื่อก่อน

สาเหตุหลักนั่นเป็นเพราะการสื่อสาร ไม่ได้มีสัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมแทบทั่วทุกพื้นที่อย่างทุกวันนี้

อีกทั้งหลายหน่วยพิทักษ์ป่า และสำนักงานเขตต่างๆ ก็มีระบบสื่อสารที่ดี มีอินเตอร์เน็ตใช้ติดต่อโลกอย่างสะดวก

เดินป่าทุกวันนี้ ไม่ต่างจากการไปเดินห้างสรรพสินค้า สามารถเดินไปคุยไป ส่งภาพให้ใครๆ ได้ หรืออาจต้องเดินขึ้นสันเขาเพื่อหาสัญญาณ หลายคนยอมเดินขึ้นเขาชันๆ ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพื่อคุยกับคนในเมือง

ว่าไปแล้ว นี่คือข้อดี ไม่ต้องฝากความคิดถึงไว้บนดวงจันทร์ดังเช่นวันวาน รวมทั้งการส่งงานก็สบายมากขึ้น ไม่ต้องเร่งส่งต้นฉบับไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าป่า

เป็นช่วงเวลาที่ดูเหมือนคนบนโลกแม้แต่จะออกไปนอกโลก ก็สามารถสื่อสารกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด

แต่ก็คล้ายกับว่า มันไม่ได้ทำให้คนเข้าใจข้อความที่สื่อสารกันมากขึ้นกว่าเดิม ความขัดแย้งมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

 

คนทำงานในป่าด้านตะวันตกทุกคนคุ้นเคยกับสถานีแม่ข่ายวิทยุ ที่ใช้รหัสว่า “ห้า-แปด” ดี

ถึงแม้ว่าการสื่อสารจะก้าวหน้าแล้ว แต่การทำงานในป่ายังต้องอาศัยช่องทางสื่อสารในระบบ เดิมๆ ห้า-แปด อันเป็นสถานีแม่ข่าย รวมทั้งสถานีแม่ข่ายอย่างสถานีเขาพระฤๅษี ยังจำเป็น

“สวัสดีตอนเช้าครับ ห้าแปดขอเปิดสถานี อุณหภูมิวันนี้ 8 องศา อากาศเปิด ท้องฟ้าแจ่มใส”

ทุก 7 โมงเช้า ข้อความทำนองนี้จะดังขึ้นให้ได้ยิน ในแต่ละวันจะเปลี่ยนไปเฉพาะอุณหภูมิ เป็นข้อความจากห้าแปด สถานีแม่ข่ายวิทยุที่อยู่บนสันเขาสูง 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

การเดินทางไปที่นี่ ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อไปได้ถึงตีนเขา และเดินเท้าต่ออีกหนึ่งวัน

มีเส้นทางสบายกว่านี้ ใช้รถไปถึงอำเภออุ้มผาง เข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันออก ใช้เส้นทางป่าอีก 5-6 ชั่วโมงในฤดูแล้ง

สถานีเป็นห้องแคบๆ มีพนักงานประจำหนึ่งคน สับเปลี่ยนกัน

พนักงานผู้หน้าที่นี้ เป็นบุคคลสำคัญ เพราะใครก็ตามที่ทำงานอยู่ในป่า หากต้องการติดต่อผู้อื่น รายงาน หรือขอความช่วยเหลือ จะต้องส่งข้อความผ่านที่นี่ สถานีแม่ข่ายในป่าตะวันตกทั้งสองแห่งทำหน้าที่นี้

ข้อความรายงานทั้งหลายมักผ่านไปด้วยดี อีกนั่นแหละ หลายครั้งบางข้อความก็เพี้ยนไปจากต้นทาง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่สำคัญนัก และมันคือเรื่องที่จะนำมาเล่าอย่างเฮฮาในวันหลัง…

 

“ขออุณหภูมิมาเพิ่มที่นี่บ้างเถอะครับ”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้ยินข้อความแบบนี้จากห้าแปด เพราะที่นั่นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นสุดในป่าตะวันตก

ในฤดูหนาว เป็นเรื่องปกติในห้องแคบๆ นั่น อยู่กับอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส

นอกจากอากาศหนาวเย็น ที่นั่นฟ้าแรง ฝนตกฟ้าคะนอง พนักงานต้องรีบปิดสถานี หลายครั้งฟ้าผ่าลงเสาอากาศ หัวหน้าส่งช่างซ่อมโดยสารไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ แต่หลายครั้งเครื่องบินปีกหมุนต้องหันหัวกลับเพราะสภาพอากาศปิดทึบ

ทำงานอยู่เพียงลำพังกว่าครึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนในห้องแคบๆ นั่น ไม่สบายหรอก

ดังนั้น หากข้อความจะผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็ไม่มีใครถือสา…

 

หน่วยพิทักษ์ป่าบางแห่งทำเลอยู่ในพื้นที่อับ ติดต่อกับห้าแปดโดยตรงไม่ได้ ต้องผ่านไม่น้อยกว่าสามสถานี จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้อความต้นทางเป็นอย่างหนึ่ง ปลายทางจะเป็นอีกอย่าง หากเป็นข้อความสำคัญมากๆ จะต้องมีการย้ำทบทวนกระทั่งแน่ใจจึงจะจบการสื่อสาร

ไม่ว่าโลกเดินทางมาถึงยุคสื่อสารกันได้อย่างไร้ขีดจำกัดเพียงใด

ในบางแห่ง การสื่อสารแบบเดิมๆ ยังใช้ได้ผล

 

อยู่ในป่า ผมเปิดวิทยุฟังห้าแปด และต้องพึ่งพารับฟังเหตุการณ์ต่างๆ การส่งข้อความผ่านห้าแปด นั่นหมายถึง คนและทุกสถานีจะรับรู้ด้วย ดังนั้น ถ้าข้อความเป็นความลับ จะมีการใช้รหัสบ้าง

ชุดลาดตระเวนรู้ดีว่า เหล่าคนล่าสัตว์ เฝ้าฟังวิทยุความเคลื่อนไหวรับรู้ข้อความที่พวกเขาสื่อสาร

การส่งข้อความลวง บางครั้งจำเป็น

การล่าสัตว์เพื่อเอาอวัยวะพัฒนาไปมาก ซากสัตว์มีมูลค่าสูง การลาดตระเวนป้องกันก็พัฒนาขึ้นมากเช่นกัน

แม้จะมีความจริงอยู่ว่าการปกป้องชีวิตสัตว์ป่า เป็นวิธีการที่เป็น “ปลายทาง” ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รวมทั้งไม่ใช่หลักประกันว่า นี่จะเป็นวิธีการที่จะทำให้อนาคตสัตว์ป่าแจ่มใส

เพราะปัญหาที่สัตว์ป่ากำลังเผชิญ ไม่ใช่การถูกฆ่าเท่านั้น ที่อยู่อาศัยพวกมันถูกบุกรุก โดยเฉพาะโครงการที่สร้างขึ้นโดยรัฐ ความพยายามที่จะสร้างเขื่อนในพื้นที่ของสัตว์ป่า คือหายนะของพวกมัน พวกมันอยู่กับเส้นทางเดินหากินถูกตัดขาด โรคระบาดต่างๆ ที่แพร่เข้าไปในหมู่สัตว์ป่าอยู่แล้ว มีสัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ อย่างพวกสัตว์เลื้อยคลาน สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะรู้จักพวกมัน

การลาดตระเวนอย่างเข้มแข็ง คือสิ่งหนึ่งในการทำให้ชีวิตของสัตว์ป่ามีโอกาสดีขึ้น

เป็นสิ่งที่เรียกว่า ความหวัง…

 

ในสังคมของสัตว์ป่า พวกมันอยู่อย่างพึ่งพาอาศัย ทุกชีวิตเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

อยู่ในป่า ห้าแปด สถานีแม่ข่าย ทำให้ผมรู้สึกว่าคนก็ต้องอยู่อย่างพึ่งพา แม้ว่าข้อความที่ส่งต่ออาจผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เมื่ออยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ

นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา

 

ข้อดีของการใช้วิธีสื่อสารแบบเดิม คือ เราต้องผลัดกันพูด และนั่นทำให้เราได้ฟัง

เมื่อฟังอย่างตั้งใจ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะได้ยิน “ข้อความ” ที่ส่งมา