สิ่งแวดล้อม : เรียนรู้อยู่กับ ‘โควิด’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
คู่หนุ่ม-สาวแต่งชุดป้องกันเชื้อโควิด-19 เต็มรูปแบบ ระหว่างเดินทางไปจับจ่ายซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่ จ.ระยอง เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

 

 

เรียนรู้อยู่กับ ‘โควิด’

 

ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะเชื้อโควิด-19 มาปีกว่าแล้ว

ช่วงแรกๆ เมื่อเห็นข่าวหลายประเทศทั่วโลกติดเชื้อกันเป็นแสน ตายเป็นหมื่นคน สงสัยว่าเชื้อมันรุนแรงขนาดนั้นเลยรึ ทำไมบ้านเรามีคนติดเชื้อไม่กี่ร้อยคน ตายก็น้อย

มาวันนี้สงสัยว่าทำไมบ้านอื่นเมืองอื่น จำนวนคนติดเชื้อ คนตายลดลงเรื่อยๆ แต่คนไทยติดเชื้อป่วยตายทำสถิติเพิ่มสูงสวนทางโลก

หลายประเทศฉีดวัคซีนให้ผู้คนถ้วนหน้า เปิดเมืองร้านค้ากลับมาดำเนินชีวิตเกือบเป็นปกติ มีกติกาหลวมๆ ใส่แมสก์ปิดปากปิดจมูกเวลาอยู่ในตึกที่แออัดเท่านั้น

บ้านเรากลับเจอล็อกดาวน์ ล็อกแล้วล็อกอีก ผู้คนยังต้องดิ้นรนควานหาวัคซีนผ่านสารพัดแอพพ์อย่างสุดชีวิต แต่ส่วนใหญ่ได้แค่วัคซีน “ทิพย์”

“โควิด” ทำให้ชีวิตที่เคยมีอิสระ ถูกจำกัดจนแคบเล็กลง จะคุยกับใครต้องใส่หน้ากาก ต่างคนต่างกลัวติดเชื้อแพร่เชื้อ จะไปไหนต้องร้อนรนรีบกลับก่อน 3 ทุ่ม ร้านดื่มกินปิดสนิท เพื่อนฝูงทิ้งระยะห่าง ความสัมพันธ์เชื่อมกันผ่านสังคมออนไลน์ แชต เฟซบุ๊ก โทร.มือถือ

ล็อกดาวน์บีบเวลาให้คนส่วนใหญ่อยู่ในอาณาบริเวณบ้าน ห้องพัก มีจำนวนไม่น้อยหวาดผวาเชื้อโควิด จนไม่กล้าออกไปไหนนานเป็นอาทิตย์

บางคนถึงขั้นใส่ชุดพีพีอี หน้ากาก ป้องกันเชื้อร้ายเมื่อออกไปจ่ายตลาด

เมื่ออยู่บ้านนั่งนอนดูข่าวที่ทะลักล้นไปด้วยข่าวโควิดทั้งจากโซเชียล ทีวี จนมึนหัว ไม่รู้ข้อมูลไหนเฟก อันไหนข่าวจริงกันแน่ แค่ข่าวนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกมาพูดมั่นอกมั่นใจมากว่า 5 เดือนแล้วว่าคนไทยจะฉีดวัคซีนเต็มแขน วันนี้ผู้คนกว่าค่อนประเทศยังเจอแค่วัคซีนทิพย์ นี่เฟกนิวส์หรือเปล่า?

ล็อกดาวน์สกัดเชื้อแพร่ระบาดพร้อมๆ กับเศรษฐกิจทรุดแล้วทรุดอีก

คนไทยกำลังเผชิญกับทุกข์ทั้งจน เจ็บ ในท่ามกลางการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลที่ล้มเหลวซ้ำซาก

เราจะเรียนรู้อยู่กับ “โควิด-19” อีกนานเท่าไหร่ มีใครบอกได้มั่ง?

 

สำนักข่าว “เอบีซี” ของออสเตรเลีย รายงานผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในวารสารไบโอไซแอนซ์เรื่องการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สรุปว่า สภาวะภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนวิกฤต ยังคงรุนแรงเลวร้ายต่อเนื่อง การแพร่ระบาดของเชื้อโรคทำได้เพียงชะลอความวิกฤตลงนิดหน่อยเท่านั้นเอง

ตลอดช่วง 18 เดือนตั้งแต่เกิดเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ลามไปทั่วโลกครอบคลุม 208 ประเทศ และหมู่เกาะเขตปกครองตนเองอีก 14 แห่ง มีคนติดเชื้อเฉียดๆ 200 ล้านคน ตาย 4,200,000 คน หายป่วยเกือบ 180 ล้านคน

แม้อัตราการเสียชีวิตเพราะโควิด-19 แค่ 2.1% แต่ทำให้เกิดความอลหม่านโกลาหลทั้งโลก เพราะเชื้อมากับคนผ่านระบบทางเดินหายใจ

คนติดเชื้อเดินทางไปไหนก็แพร่กระจายเชื้อไปด้วย จะขึ้นรถ นั่งเรือ หรือไปเครื่องบิน พักโรงแรม ไปกินข้าวตามร้านอาหาร

มาตรการล็อกดาวน์จึงเป็นหนทาง “หยุดเชื้อ” ในระดับหนึ่งเท่านั้น

 

การใช้วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเพียง “ระงับ” ไม่ให้คนติดเชื้อมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ลดจำนวนการเสียชีวิต แต่ไม่ใช่การหยุดการแพร่เชื้อหรือฆ่าเชื้อให้หมดไปจากโลกอย่างถาวร

อาจต้องรอปาฏิหาริย์การพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม ฉีดแล้วป้องกันโควิด-19 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเชื้อไวรัสหมดอิทธิฤทธิ์ฝ่อไปเอง

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ ห้ามผู้คนเดินทางไปไหนมาไหนไม่จำเป็นและทำให้การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจชะลอลง โรงงานผลิตสินค้าน้อยลง การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกลดลงตามไปด้วยนั้น ใช่ว่าวิกฤตโลกร้อนจะคลี่คลาย

อุทกภัยในยุโรป อินเดีย คลื่นความร้อนในแคว้นบริติช โคลอมเบีย ประเทศแคนาดา และไฟป่าเผาผลาญป่าไม้บ้านเรือน ในซีกตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องชี้วัดว่า วิกฤตโลกร้อนยังเดินหน้าคุกคามผู้คนและสิ่งแวดล้อมต่อไป

รายงานชิ้นนี้เป็นผลงานต่อเนื่องของนักวิทยาศาสตร์กว่า 11,000 คนจาก 153 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนามในประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศเมื่อปี 2562

ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หรือ climate emergency declaration เป็นเสียงเรียกร้องของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความรับผิดชอบทางศีลธรรมให้ชาวโลกร่วมกันตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวงที่มาจากการปล่อยก๊าซพิษ

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้วิงวอนให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน

ยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หยุดทำลายป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ เน้นการบริโภคที่มาจากพืชผัก ลดการใช้สารพิษ เช่น มีเทน ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้พุ่งมากไปกว่าที่เป็นอยู่

เสียงเรียกร้องดังกล่าวผ่านมาแล้ว 2 ปี เป็นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดโควิด-19 พอดิบพอดี

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงจัดทำรายงานชิ้นใหม่ขึ้นมาเพื่อบอกชาวโลกว่า มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด ไม่ได้ช่วยให้โลกผ่านพ้นวิกฤตการณ์สภาวะภูมิอากาศซะเท่าไหร่

 

สัญญาณร้ายที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ยังปรากฏชัดเจนทั้งพายุแรง ฝนถล่มน้ำท่วมหนัก ฮีตเวฟ และไฟป่า

นั่นแสดงว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกเข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว แม้ชาวโลกจะเดินทางไปมาหาสู่กันน้อยลงเพราะมาตรการล็อกดาวน์แต่ไม่ทำให้ภาวะโลกร้อนเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นเท่าใด

อีกทั้งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อกิจกรรมของมนุษย์หยุดลงหรือลดน้อยลง ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกก็ลดลง

แต่ในบางกิจกรรมที่มนุษย์ยังคงทำตลอดไม่ว่าก่อนหรือช่วงวิกฤตโควิด นั่นคือการโค่นไม้ทำลายป่าในลุ่มน้ำแอมะซอน ทวีปอเมริกาใต้และภูมิภาคเอเชีย ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จำนวนฟาร์มพื้นที่ปศุสัตว์ขยายตัวขึ้น

รัฐบาลในหลายประเทศยกเลิกนโยบายอุดหนุนอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

ส่วนรัฐบาลไทย ยังสาละวนอลหม่านกับการแก้วิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ไม่มีเวลาคิดหาทางสู้ภัยโลกร้อนเหมือนใครอื่นเขาหรอกครับ