State-Led Gentrification ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (3)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

State-Led Gentrification

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (3)

 

ในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ ที่มิได้ถูกควบคุมเข้มข้นผ่านนโยบายการอนุรักษ์ที่ส่งตรงมาจากคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏการณ์ Stated-led Gentrification จะมีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างไป โดยลักษณะเด่น 3 ประการที่เรามักพบเห็นได้บ่อย คือ

หนึ่ง การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะระบบการคมนาคมสมัยใหม่ ให้ทะลุแทรกเข้าไปในย่านที่ต้องการให้เกิด Gentrification เพราะเมื่อเดินทางสะดวก ก็เย้ายวนชวนให้ “ชนชั้นสร้างสรรค์” ย้ายเข้ามาในพื้นที่ง่ายขึ้น

สอง เอื้อประโยชน์เชิงนโยบายบางประการให้กับนายทุนในการเข้ามาลงทุนในย่านเป้าหมาย เพื่อเปลี่ยนโฉมย่านในทางกายภาพให้สวยงามและดูแพง

สาม ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐในย่านเก่าเป้าหมาย ที่เคยปล่อยให้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำใช้สอย รัฐจะเริ่มทยอยยกเลิกสัญญาเช่า แล้วดึงนายทุนใหม่เข้ามาพัฒนาให้กลายเป็นโครงการนำร่องที่สอดคล้องกับจริตและไลฟ์สไตล์ของกลุ่ม “ชนชั้นสร้างสรรค์” เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนกลุ่มนี้ย้ายเข้ามาในย่าน

ก่อนที่จะมาดูตัวอย่างในกรุงเทพฯ ผมอยากเริ่มต้นด้วยตัวอย่างในต่างประเทศกันก่อน

 

ในย่าน Suzhou Creek เมืองเซี่ยงไฮ้ ด้วยความที่เป็นย่านอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้แม่น้ำใหญ่กลางเมืองถูกใช้เป็นที่ระบายน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานจนสกปรกและเต็มไปด้วยมลพิษ จนสุดท้ายก็ส่งผลทำให้พื้นที่โดยรอบเสื่อมโทรมลงจากสภาพมลภาวะที่เกิดขึ้น

ในราวปลายทศวรรษ 1990 เทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้ต้องการเปลี่ยนความเสื่อมโทรมของย่านนี้ให้กลายเป็นย่านสวยงามที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยวิธีการที่ถูกเลือกมาใช้ก็คือ การประกาศโครงการฟื้นฟูเมืองระยะยาว 12 ปี (1998-2210) ภายใต้งบประมาณมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเป้าหมายแรกคือ การปรับสภาพพื้นที่ริมแม่น้ำให้สวยงาม สร้างทางเดินริมน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียว

นอกจากนี้ เทศบาลเมืองยังได้ออกนโยบายเอื้อให้เอกชนได้เข้าทำการบูรณะตึกเก่าและโรงงานเก่าในพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ออฟฟิศสมัยใหม่ ที่พักอาศัยราคาแพง ฯลฯ

ซึ่งจากการกระทำดังกล่าว ได้นำมาสู่การเข้ามาลงทุนของภาคเอกชนจากภายนอกพื้นที่มากมายมหาศาล เกิดการย้ายเข้ามาพักอาศัยของคนมีฐานะจากภายนอก ราคาที่ดินพุ่งสูง เศรษฐกิจเฟื่องฟู

การหยอดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในเบื้องต้นโดยรัฐ เพื่อสร้างเปลือกแห่งความสวยงามให้เกิดขึ้นดังกล่าวจึงทำหน้าที่เป็นดั่งสารตั้งต้นที่นำพานักลงทุนให้ไหลเข้ามาในพื้นที่ ก่อเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในการพัฒนาย่านนี้โดยเอกชนต่อเนื่องไปอย่างไม่รู้จบ

ท้ายที่สุด Suzhou Creek ได้กลายเป็นย่านที่ดึงดูดกลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์อย่างมาก มีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบันในปี 2021 มีแกลเลอรี่ทางศิลปะตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวเนื่องทางศิลปะมากกว่า 150 แห่งย้ายเข้ามาเปิดในย่านนี้ ราคาที่พักอาศัยในย่านก้าวกระโดดจาก 4,000 หยวนต่อตารางเมตรในปี 1999 เป็น 12,800 หยวนต่อตารางเมตรในปี 2006 (ไม่ต้องคิดเลยว่าในปัจจุบันราคาจะยิ่งถีบขึ้นไปกว่านี้อีกกี่เท่า)

ภายใต้ภาพที่สวยงาม ทั้งหมดต้องแลกมาด้วยการ displacement ครั้งใหญ่ที่ขับไสไล่ส่งคนจนเมืองออกจากพื้นที่

(ดูเพิ่มใน Shenjing He, “State-sponsored Gentrification Under Market Transition : The Case of Shanghai”, Urban Affairs Review 43 (2007): 171-198.)

 

Suzhou Creek คือตัวอย่างของระบบและการทำงานของสิ่งที่เรียกว่า Stated-led Gentrification

ย้อนกลับมาดูย่านเก่ากรุงเทพฯ ผมคิดว่ารัฐไทยก็มีแนวคิดที่ไม่ต่างกัน

ลองนึกถึงโครงการทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รัฐไทยพยายามผลักดันอย่างหนักในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาดูนะครับ แทบไม่ต่างกันเลยในสาระสำคัญกับโครงการ Suzhou Creek

โครงการดังกล่าวคือความพยายามหยอดสารตั้งต้นของปฏิกิริยา Gentrification ที่หวังจะให้เกิดผลกระทบเข้าไปยังย่านชุมชนริมแม่น้ำลึกเข้าไปหลายกิโลเมตร หากโครงการนี้สำเร็จ ที่ดินในย่านชุมชนตลอดแนวทางเลียบแม่น้ำจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เย้ายวนชวนชนชั้นสร้างสรรค์เข้ามาทำโรงแรมชิกๆ ร้านกาแฟคูลๆ แกลเลอรี่เท่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

ซึ่งแน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยการถีบคนจนเมืองออกไปไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าแปลกใจคือ โครงการนี้ถูกต่อต้านจากกลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์ไทย ที่โดยเนื้อแท้แล้วควรชื่นชมกับโครงการในลักษณะนี้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบคือ ความแตกต่างเพียงเดียวระหว่างโครงการนี้กับ Suzhou Creek ที่ทำให้ผลลัพธ์ผิดกันอย่างสุดขั้วก็คือ วิสัยทัศน์ของรัฐไทยในการออกแบบที่น่าผิดหวัง น่าเกลียด ทำลายทั้งวิวแม่น้ำและสิ่งแวดล้อม จนชนชั้นสร้างสรรค์ไทยรับไม่ได้ และรวมตัวกันต่อต้านแทนที่จะเห็นด้วย จนในที่สุดโครงการนี้ก็ถูกศาลปกครองสั่งระงับโครงการชั่วคราว

ภายใต้กระแสต่อต้าน หากเราพิจารณาให้ดีจะพบว่า กลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์ไทยมิได้ต่อต้านการพัฒนาที่ดินริมน้ำแต่อย่างใดนะครับ พวกเขาส่วนใหญ่เพียงรับไม่ได้กับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่อัปลักษณ์และทำลายสิ่งแวดล้อม

ส่วนมากของพวกเขา ไม่รังเกียจเลยหากโครงการนี้ออกแบบทำเป็นพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะขนาดเล็ก เลนจักรยานที่เลาะเลียบไปตามชุมชนริมน้ำ ในแบบที่ Suzhou Creek ทำสำเร็จ ขอเพียงไม่ทำโครงสร้างสะพานทางเดินที่ยื่นลงไปแม่น้ำอย่างทื่อๆ ไร้รสนิยมเท่านั้น

ส่วนมากของพวกเขา ไม่ได้กังวลอะไรกับ Gentrification (มีบ้างนะครับที่กังวล แต่ก็เป็นส่วนน้อย) ไม่ได้แคร์กับการ displacement เอาคนจนเมืองออกไปจากพื้นที่

ที่สำคัญคือ แทบทั้งหมดเห็นพ้องว่าจะต้องจัดการกับที่พักอาศัยที่น่าเกลียดริมน้ำ ตลอดจนการบุกรุกที่ริมน้ำอย่างเด็ดขาด โดยยึดเพียงมุมมองทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ผมเองมิได้มองว่าการรุกล้ำที่ริมน้ำเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรยอมให้มีการบุกรุกเช่นนั้นไปตลอดโดยไม่ต้องแก้ไขแต่อย่างใด แต่การแก้ปัญหาง่ายๆ เพียงไล่ให้พวกเขาออกไปอยู่ไกลๆ พื้นที่กลางเมือง โดยไม่คำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองที่ซับซ้อนที่ทั้งขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบคนจนเมืองอย่างแสนสาหัส ผมคิดว่าไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

การแก้ไขปัญหาอย่างฉาบฉวยโดยสร้างปรากฏการณ์ Gentrification ให้เกิดขึ้น เปลี่ยนเมืองให้สวยงามตามมาตรฐานชนชั้นสร้างสรรค์ ผลักราคาที่ดินให้สูงจนคนจนอยู่ไม่ได้ ดีใจกับร้านกาแฟเก๋ๆ แกลเลอรี่เท่ๆ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเลวร้ายในอีกรูปแบบที่ถูกเคลือบเอาไว้ด้วยเปลือกของความสวยงามเท่านั้น

 

กลับมาที่ประเด็น Stated-led Gentrification ของรัฐไทยอีกครั้ง แม้โครงการนี้จะล้มเหลว แต่หากเรากวาดตามองไปยังพื้นที่อื่นๆ เราจะพบหลายโครงการเลยนะครับที่รัฐไทยทำสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยอดสารตั้งต้นที่กระตุ้นให้เกิด Tourism Gentrification

การลงทุนบูรณะตึกเก่าในย่านเก่ากรุงเทพฯ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฯลฯ หรือเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลลงทุนบูรณะและทำธุรกิจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือสารตั้งต้นดังกล่าว

ตึกแถวเก่าย่านท่าเตียนและหน้าพระลาน คือตัวอย่างที่ชัดเจน เริ่มต้นด้วยการบูรณะอาคารให้กลับมาสวยงามเหมือนเมื่อแรกสร้าง ตามด้วยการปรับราคาค่าเช่าขึ้น แม้โครงการเหล่านี้จะอนุญาตให้ผู้เช่าเดิมเช่าต่อได้ แต่ก็ทำให้รูปแบบของกิจกรรมในตึกจำเป็นต้องเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องเอื้อกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น แทนที่จะเป็นคนที่ใช้สอยพื้นที่เมืองเก่าจริงๆ

จากเดิมที่ตึกแถวกลุ่มนี้มีการใช้สอยผสมผสาน ทั้งร้านอาหาร ร้านถ่ายรูป ร้ายขายของจิปาถะ ไปจนใช้เป็นที่อยู่อาศัย

ปัจจุบันเกือบทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็นร้านกาแฟและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหารราคาแพง และร้านขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

ยังไม่นับโครงการที่กำลังก่อสร้างอีกมาก เช่น การบูรณะตึกแถวท่าช้างที่มาพร้อมกับการสร้างพื้นที่เช่าจำนวนมาก, การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณท่าเรือท่าช้าง และการเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าอาคาร “ศุลกสถาน” เพื่อทำเป็นโรงแรมหรูริมน้ำเจ้าพระยา ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นพื้นที่ชิกๆ คูลๆ ให้กับชนชั้นสร้างสรรค์และนักท่องเที่ยวเข้ามาดื่มด่ำบรรยากาศย่านเก่าอย่างเต็มที่

การลงทุนในที่ดินและอาคารที่เป็นของภาครัฐในแบบนี้ ได้ส่งแรงกระตุ้นทางโดยตรงและโดยอ้อมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น YODPIMAN Riverwalk, THA MAHARAJ Shopping Mall, รวมไปถึงการเช่าอาคารเก่าของเอกชนรายย่อยมากมายเพื่อทำโรงแรม ร้านอาหารราคาแพง และร้านกาแฟที่กระจายตัวเต็มพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

ทั้งหมดนี้คือปฏิกิริยาลูกโซ่จาก Stated-led Gentrification ทั้งสิ้น