สุจิตต์ วงษ์เทศ/งานศพ (13) ฝังศพนั่ง คืนสู่ครรภ์มารดา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

งานศพ (13) ฝังศพนั่ง คืนสู่ครรภ์มารดา

คนตาย เพราะขวัญหายออกไปจากร่างของคน ต้องมีพิธีเรียกขวัญให้ขวัญคืนร่างแล้วคนจะฟื้นคืนเป็นปกติ

ถ้าขวัญหายอย่างถาวรก็เอาศพไปฝัง โดยใส่ภาชนะต่างๆ เช่น ดินเผา ฯลฯ (ที่จะมีพัฒนาการเป็นโกศทุกวันนี้)

ฝังศพนั่ง มัดศพท่างอตัว บรรจุทั้งร่างในภาชนะดินเผาทรงกลม มีสิ่งของอุทิศขนาดเล็กๆ ใส่รวมด้วย มีฝาปิด ฝังดินแนวตั้ง

ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกแบบต่างๆ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว และเป็นต้นแบบของโกศสมัยหลัง สืบจนปัจจุบัน ขุดพบบริเวณที่ทุ่งกุลาร้องไห้ [ภาพลายเส้นจากบทความ 2 เรื่อง ของ สุกัญญา เบาเนิด (กรมศิลปากร) คือ 1. วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ กับ 2. คนตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ จากหลักฐานโบราณคดี พิมพ์ในหนังสือทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. สำนักพิมพ์มติชน, 2546 หน้า 207-299.]
ภาชนะฝังศพ (หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาใส่ร่าง หรือกระดูกคนตาย) มี 2 แบบ ได้แก่

(1.) ก้นกลมมน (เหมือนหม้อดินเผา) พบในอีสานไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

(2.) ทรงกระบอกยาว (เหมือนแคปซูล) พบมากทางทุ่งกุลาร้องไห้ในอีสาน ราว 2,500 ปีมาแล้ว

ไหหิน ราว 2,500 ปีมาแล้ว ใส่กระดูกคนตายในพิธีเรียกขวัญ บางใบไหหินมีฝาปิดครอบข้างบน บางใบมีแกะสลักด้านข้าง พบกระจัดกระจายทั่วไปที่ทุ่งไหหิน เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ในลาว

[มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดย สุกัญญา เบาเนิด กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 125-162]

นอกจากภาชนะดินเผาขุดพบในไทยแล้ว ยังมีไหหิน (ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว) เป็นภาชนะใส่กระดูกคนตาย

ไหหิน เป็นเครื่องมือหินทำจากแท่งหินขนาดใหญ่ (เท่าครกมองตำข้าว หรือใหญ่กว่าก็มี) รูปทรงส่วนมากกลม แต่มีรูปเหลี่ยมบ้าง

ทำโดยใช้เครื่องมือเหล็กเจาะคว้านแท่งหินให้ข้างในกลวง (เหมือนไห หรือตุ่มใส่น้ำหรือใส่ปลาแดก)

(ซ้าย) ภาชนะดินเผา มีฝา บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในแหล่งโบราณคดีเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (ภาพจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2557 หน้า 44) (ขวา) ไหใส่ศพในประเพณีของหมู่เกาะบอร์เนียว ขนาดใหญ่ใส่ศพผู้ใหญ่ ขนาดเล็กใส่ศพเด็ก ทั้ง 2 ใบ มีรอยต่อตรงไหล่ไห เพราะถูกเลื่อยเป็น 2 ส่วน เอาศพบรรจุ แล้วปิดประกบด้วยชันยาเรือ (ภาพจากหนังสือ A Borneo Journey into Death by Peter Metcalf, University of Pennsylvania Press, Philadelphia, 1982)

ทำขึ้นใช้ในพิธีศพของคนดึกดำบรรพ์ราว 2,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเข้าไปศึกษาพบกระดูกคนเผาแล้ว กับเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ ที่ใช้ในพิธีศพ บรรจุอยู่ภายใน เช่น ขวานหินขัด, ลูกปัดแก้ว, เครื่องปั้นดินเผา, เครื่องประดับสำริด, เครื่องมือเหล็ก, ฯลฯ บางแห่งมีหม้อหรือไหดินเผาบรรจุกระดูกคนฝังไว้ใกล้ๆ ไหหินด้วย

บางใบมีฝาหินวางอยู่ข้างๆ บนฝาหินจำหลักลวดลายอย่างหยาบๆ เป็นรูปคนทำท่ากบ, รูปสัตว์ เช่น แมว, ตะกวด (แลน), ฯลฯ

ครรภ์มารดา

ภาชนะใส่ศพหรือใส่กระดูกคนตาย (ที่ขุดขึ้นมาหลังเนื้อหนังเน่าเปื่อยหมดแล้ว) เสมือนคืนสู่ครรภ์มารดา หรือมีขวัญอยู่ในครรภ์มารดา

รูปร่างภาชนะใส่ศพ คล้ายผลน้ำเต้าที่มีรูปร่างทั้งกลมและยาว แต่ผลที่กลมรีมีเอวคอดดูคล้ายมดลูกของแม่ สอดคล้องกับคำบอกเล่าดั้งเดิมว่าคนมีกำเนิดจากผลน้ำเต้า นักโบราณคดี กรมศิลปากร เคยขุดพบ (อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด) ภาชนะดินเผาใส่กระดูกคนตาย ทรงกลม มีฝาปิดทำให้ดูแล้วคล้ายลูกน้ำเต้า เป็นพยานว่าคำบอกเล่าดั้งเดิมนั้นได้รับยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รับรู้กว้างขวางตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว

โกศ ภาชนะใส่ศพทำด้วยดินเผาหรือหินเสมือนครรภ์มารดา ล้วนเป็นต้นแบบโกศสมัยหลังๆ จนปัจจุบัน โดยยืมคำว่า โกศ จากภาษาบาลี-สันสกฤต เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ แต่ในอินเดียไม่มีประเพณีบรรจุศพใส่โกศ