ไม้ขมปนขื่น, กับดักเวลา และการเดินทางอัน ‘ต่างยุค’/อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ไม้ขมปนขื่น, กับดักเวลา

และการเดินทางอัน ‘ต่างยุค’

 

“เบ่อก-ดร็อปปรามนาตีเมียนสะเอ๊ยสำคัญ?”

มันคือคำตอบจากหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งชื่อเต็มคือ 15 Minutes : America likes to watch หนังพิมพ์นิยมของโรบิร์ต เดอนีโร ที่ออกฉายในปี 2001 ในชื่อสั้นๆ “15 Minutes”

เนื้อหาของ “15 นาที” คือเรื่องราวตำรวจขาใหญ่ของวงการและเข้าใจความหมายในหน้าที่การงานที่มีทั้งแบบด้านมืดและสีเทา และแม้ว่าบางครั้งมันก็ถูกต้องแล้วที่เขาจับผู้ร้ายเข้าคุกไป

แต่บางที ถึงแม้จะไม่ใช่คนหิวแสงแต่ในเมื่อข่าวอาชญากรรมมันขายได้และการทำให้เป็นเรียลลิตี้ให้มีดราม่าอยู่บ้าง มันคือความสมจริงที่ทำให้เรตติ้งพุ่งกระจาย

ง่ายล่ะ อิทธิพลของวงการสื่อโทรทัศน์ที่สร้างความสำเร็จง่ายๆ สำหรับเดอะค็อปวัยปลาย ทว่า ทุกอย่างก็มีต้นทุนของมันที่ต้องจ่าย

เดอเนโรรู้ดีว่า พรมแดนเวลา “15 นาที” นั่น จริงแล้วมันคือกับดักชะตากรรม และบางครั้งการ “ออนแอร์” ออกอากาศสดนั้น ก็ใช่ว่าจะถูกบิดเบือนไม่ได้ “จากนี้ไป ชีวิตแม่งยากฉิบหาย” เขาบอกเพื่อนไว้ ซึ่งมันก็จริง เพราะไม่ใช่แต่ตำรวจเท่านั้นที่เล่นบทฮีโร่ได้

มันขึ้นอยู่กับว่า ใครคือคนบงการเกมนั้นและเขาจะ “เล่น” มันอย่างไร

สารภาพตามตรงตอนนั้น ฉันเองก็ไม่รู้เท่าทันคำเตือนนั่น ว่าวันหนึ่งมันจะมาถึง ต่อให้คุณเป็นชาวอนาล็อกคนสุดท้ายและไม่ชอบสปอตไลต์ รวมทั้งไม่เข้าใจอะไร

คุณก็ยังถูกคุกคามอย่างช้าๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไป เริ่มจากกับดักง่ายๆ เมื่อพิมพ์นิยมแบบเดิมๆ อันปลอดภัย และความรื่นรมย์แบบเดิมๆ ยุคสุดท้ายที่กำลังจะหายไป ไม่ว่าการสะสมซีดี หนังสือ ดูหนังโรงสแตนด์อะโลนหรืออะไร

เหตุการณ์ปีท้ายๆ ของสารบบที่กำลังจะเปลี่ยนไปเหล่านั้น อย่างราวกับจู่ๆ ชีวิตที่ดำเนินมาก็ถูกลดคุณค่าลงไป พร้อมๆ กับ การเรียนรู้ภาวะใหม่ที่เรียกว่า “เรียลลิตี้” หรือ “กึ่งเสมือนจริง” ที่บางครั้ง กลับเยียบย่ำและทอนคุณค่าของความจริงลงเสียอย่างงั้น?

แต่สารบบชีวิตของเราก่อนถึงจุดนั้น มันเคยถูกเตือนแล้วว่า ต่อจากนี้ไป เราจะถูกจดจำได้แค่ในเวลา “15 นาที”

มันสั้นมากเลยใช่มั้ย? ไม่ว่ามันจะบันเทิงหรือระยำและด้วยเหตุนั้น หลายคนจึงเลือกที่จำทำอะไรก็ได้ที่ให้ใครจดจำ แต่ให้ตายเถอะ เบ่อก-ขญมกลับพบว่า ทุกวันนี้ เรากลับเหลือเวลาหดสั้นราวกับถูกกระชากลงมา

จาก “15 นาที” เหลือแค่ “15 วิ.” (นาที) และวินาศ เท่านั้น!

ไม่เท่านั้น เกมของมันยังลื่นไหลและโหดร้ายกว่านัก สำหรับการถ่ายเปลี่ยนจากคำว่า “เรียลลิตี้” ไปสู่ “เรียลไทม์” นั่น โดยที่เราแทบจะไม่รู้สึกใดๆ เลยด้วยซ้ำ

ทันใดนั้น คำเตือนที่ว่า “ห่าน เอ้ย! จากนี้ไป” เกมคุกคาม “15 Minutes!” จะเกิดขึ้นและดำเนินไปสำหรับ “ใครก็ได้” ก็ดังอีกครั้ง

และคุณคิดว่า ชาวอะนาล็อกอย่างเราจะชอกช้ำหรือไม่กับเสรีภาพแบบนั้น?

กระทั่งเวลาของยุคสหัสวรรษ (ก่อน/หลังปี 2000) ที่ผ่านไป 20 ปี และอำนาจพลวัตใหม่ที่กวาดทิ้งอะนาล็อกอย่างเกือบจะเต็มตัวนั่น ในฐานคนที่เกิดก่อนยุคสหัสวรรษ เราจึงได้ตระหนัก แท้จริงแล้วเสรีภาพใดๆ ของพวกอะนาล็อกนั้นเป็นเรื่องหลอกลวงที่ไม่มีอยู่จริง

มิพักว่าเราจะยอมรับหรือปฏิเสธเทคโนโลยีดิจิตอลหรือไม่ แต่ยอมรับเถิดว่า “15 Minutes!” บางครั้งมันยาวนานเกินไปสำหรับเกมเล่นใหม่ของคนยุคนี้ที่เหลือเพียง “15 วิ.” เท่านั้นในการใช้เวลารับรู้และสื่อสาร

ปรากฏการณ์มินต์ I roam alone ที่อัฟกานิสถานคือหลักฐานบอกเล่าอันดีของความเป็น “เรียลไทม์” ที่มากด้วยประสิทธิภาพกว่า “เรียลลิตี้” เมื่อ 2 ทศวรรษก่อน พร้อมตอกย้ำพลังเสรีที่ไม่อาจปิดกั้นใดๆ

ไม่ว่าคอนเทนต์นั้นจะเนื้อหาอะไรหรืออยู่บนซอกมุมไหนของผืนโลก

เช่นเดียวกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนดังสายพันธุ์เดลต้า ที่รักษาตัวระดับเชื้อลงปอดและในภาวะความเป็นความตายจากการฟื้นตัว พลันความอึกทึกโกลาหลของชีวิตใครคนหนึ่ง ขณะอยู่ในโรงพยาบาลก็ยังทำให้โซเซียลเดือดพล่านจากการไลฟ์สดและยอดที่ถล่มทลาย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกว่ากระแสไทม์ไลน์ที่เกิดจากทวิตเตอร์

โดยเฉพาะการปั่นอารมณ์บนระนาบความเป็นความตายในแบบ “15 Minutes” แต่หดสั้นและเหมือนจริงกว่าเพราะด้านมืดที่ว่า มีผู้ติดตามเป็นเอ็กตร้าร่วมแสดงด้วย

เบ่อก-ขญม ความทรงพลังของมันจึงอยู่ตรงนี้

อ่า ชีวิตที่เหลืออยู่ของเรานี้ มันทำให้ฉันนึกถึงเวลาทอดยาวอย่างเหลือทนที่ผ่านมาและพบว่า ช่างไม่ต่างจาก “ไม้ขมปนขื่น” สำนวนประชดประชันไร้ทางออกสมัยสงครามกลางเมืองของนักเขียนรูปเขมรคนหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็ถูกทำลายและเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง

และเชื่อไหม ไม่ต่างจากมินต์ I roam alone ในการไปอัฟกานิสถานจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

เบ่อก-ขญม หลายปีก่อนก็ติดกับดักความฝันและใช้เวลาไปกับประเทศหนึ่งซึ่งกำลังจะเปลี่ยนถ่ายจากสังคมนิยมอย่างเขมรกัมพูชาที่กลับกลายเป็นว่ากลับหลงยุคเวลาอะนาล็อกห้วงสุดท้ายที่กำลังอวสาน

ซับซ้อนไหม? สำหรับการตามหาเสรีนิยมที่ล้มครืนไปแล้วของลอน นอล? สังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบพล พต ผู้กลับเรียกพวกตนว่าคณะประชาธิปไตย? หรือคณะอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ผ่านพ้นไป

ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ภาษาของประเทศนี้ วนเวียนเข้าออกกลุ่มประเทศสังคมคอมมิวนิสต์เพื่อตัดสินใจให้เด็ดขาดว่ามันแตกต่างกันอย่างไรระหว่างดินแดนลาวและเขมร ส่วนพม่าตอนนั้นถูกแบล็กลิสต์

จากนั้น ความเฟ้อฝันเฝ้ามองการถ่ายเปลี่ยนยุคสมัยของประเทศชนักสงครามและสังคมนิยมก็ใช้เวลาอีกหลายปี และโดยเหตุที่เป็นชนอะนาล็อกอย่างสมบูรณ์ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่สนใจวิธีพึ่งพาเครื่องมือการบันทึกโดยกลับไปใช้อุปกรณ์อะนาล็อกตั้งแต่เครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว และกล้องถ่ายรูปชนิดฟิล์มที่เริ่มหมดคุณค่าแล้วเวลานั้น

เช่นเดียวกับกัมพูชาเวลานั้น นั่นคือขณะที่ประเทศก้าวหน้าบางแห่งกำลังถ่ายผ่านประเทศไปสู่เทคโนโลยียุคใหม่นั้น กัมพูชาจึงเป็นศูนย์บริจาคแห่งการโละทิ้งอุปกรณ์อะนาล็อกสารพัด ตั้งแต่ระบบสัญญาณสถานีโทรทัศน์และการโทรคมนาคมที่ล้าหลังที่ย้อนยุค ถดถอยและล้าหลัง เราจึงได้เห็นสื่อสิ่งพิมพ์และอื่นๆ ที่คุณภาพต่ำราคาแพงเป็นต้นทุนของชีวิตประจำวัน

วันหนึ่ง หญิงชราเพื่อนบ้านแกบุกมามาต่อว่าทันทีที่เห็นฉันอ่านนิตยสารเล่มหนึ่งซึ่งมีภาพปกเป็นรูปทารกแขวนต่องแต่งอยู่บนราวตากผ้า ทันใดนั้น แกก็ถึงกับร่ำไห้ต่อว่าฉันด้วยเสียงอันสั่นเครือ ประหนึ่งเจ็บปวดจากลูกหลานที่ล้มตายในสมัยพล พต “โอนเอ๋ย!” แกว่า “ทำไมคนไทยทำกับเด็กแบบนี้หรือ?”

ทันทีนั้นคำว่า…ขืนช้ากว่านี้ คงไม่มีโอกาสได้เห็นก็เข้ามารบกวนใจ

อ่า ต้องใช้เวลาสักขนาดไหนกัน สำหรับ 15 วิ., 15 นาที หรือ 15 ปี? สำหรับความหมายระบอบปกครองที่ฉันเฝ้าตามหาและมันตกหล่นอยู่ตรงไหน?

ในภาวะจิตใจอันเดียวดายในผลพวงจากกระทำจากระบอบการเมืองที่ผ่านไป ทิ้งไว้แต่ความเดียงสาในผู้คนบางกลุ่มที่ตกค้างในกับดักชะตากรรมและผลลัพธ์ของมันที่ยังดำรงอยู่

เหมือนไม้ขมปนขื่นที่ติดลิ้นตามมาและแม้ว่าจะมี “ปะแอม/ของหวาน” ที่ตามมาในโอกาสหลังๆ แต่ชีวิตมันก็พังไปแล้ว

กว่าจะฉุกคิดได้ ความหมายในวัยสาว-หนุ่มของฉันก็จมหายไปในกับดักนั้น