อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (1)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (1)

 

จากการเข้ามาของโซเวียตถึงกำเนิดของฏอลิบาน

สงครามระหว่างโซเวียตกับฝ่ายมุญาฮิดีน (นักรบอิสลาม) ในอัฟกานิสถานสิ้นสุดลงเมื่อกองทหารโซเวียตทิ้งประเทศนี้ไปในปี 1989

โดยในสงครามครั้งนั้นชาวอัฟกันสูญเสียชีวิตไปจำนวน 1.5 ล้านคน การจากไปของโซเวียตก่อให้เกิดมุญาฮิดีนรุ่นใหม่ขึ้นมาซึ่งเรียกตัวเองว่าฏอลิบาน (Taliban) ซึ่งเป็นคำในภาษาอาหรับ (ฏอลิบ) หมายถึงนักเรียนหรือนักเรียนศาสนา

กองกำลังฏอลิบานมีผู้นำที่มีชื่อว่ามุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร (Mulla Muhammad Umar) ผู้สูญเสียดวงตาข้างขวาไปในปี 1989 เมื่อจรวดลูกหนึ่งตกลงใกล้ๆ ตัวเขา นอกจากนี้ ยังมีแกนนำของฏอลิบานอีกหลายคนที่เสียอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไป

ก่อนการมาถึงของฏอลิบาน เมื่อปลายปี 1994 อัฟกานิสถานตกอยู่ในสภาพระส่ำระสายและแตกออกเป็นหลายกลุ่มก้อน

บรรดาผู้ที่ห้อมล้อมอยู่รายรอบมุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ผู้นำของฏอลิบานนั้นเป็นบุตรหลานของผู้ทำญิฮาด (Jihad) หรือผู้ต่อสู้ เสียสละ และไม่เห็นด้วยกับกลุ่มต่างๆ ที่มีพฤติกรรมแบบอาชญากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความเป็นผู้นำของมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ ที่มาแตกแยกกันหลังจากเคยร่วมรบเอาชนะโซเวียตมาแล้ว ฏอลิบานมองตัวเองว่าเป็นผู้ชำระกองกำลังต่างๆ ที่ไม่อยู่ในหลักการของศาสนาอิสลาม

สมาชิกของฏอลิบานหลายคนเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยของปากีสถาน ได้รับการศึกษาจากมัดเราะซะฮ์หรือโรงเรียนสอนศาสนาของปากีสถานและเรียนรู้การต่อสู้จากมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีฐานอยู่ในปากีสถาน

สมาชิกฏอลิบานเป็นเด็กหนุ่มที่ไม่ค่อยรู้จักประเทศและประวัติศาสตร์ของตัวเอง นอกจากมัดเราะซะฮ์ พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุดมคติของสังคมอิสลามที่สถาปนาขึ้นโดยศาสดามุฮัมมัดเมื่อกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยกว่าปีก่อน และสิ่งเหล่านี้คืออุดมคติของท่านศาสดาที่พวกเขาต้องการจะเจริญรอยตาม

 

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำฏอลิบานมิใช่จากความสามารถทางการเมืองและทางการทหารของเขาแต่ได้รับเลือกเพราะเขาเป็นผู้มีใจกุศลและมีความเชื่อต่อศาสนาอิสลาม สำหรับสมาชิกฏอลิบานบางคนเขาคือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากพระผู้เป็นเจ้า

ในการดำเนินนโยบายของกองกำลังฏอลิบาน มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร เคยให้สัมภาษณ์รอหิมุลลอฮ์ ยูสุฟซัย (Rahimullah Yusufzai) นักหนังสือพิมพ์ชาวปากีสถานว่า เราเชื่อมั่นในศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างสิ้นเชิง เราไม่เคยลืมว่าพระองค์สามารถอำนวยพรพวกเราด้วยชัยชนะหรือผลักพวกเราไปสู่ความพ่ายแพ้ก็ได้

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ขึ้นเป็นผู้นำฏอลิบานในวัย 39 ปี เป็นผู้นำที่มีความลึกลับมากที่สุด ไม่เคยถ่ายรูปหรือพบกับนักการทูตหรือนักหนังสือพิมพ์จากตะวันตก

เขาพบกับนักการทูตของสหประชาชาติเป็นครั้งแรกในปี 1998 สี่ปีหลังจากฏอลิบานขึ้นมาสู่อำนาจ

โดยได้พบกับตัวแทนพิเศษของสหประชาชาติเพื่ออัฟกานิสถาน นายลัคดาร์ บราฮิมี (Lakhdar Brahimi) เมื่ออัฟกานิสถานอาจต้องเผชิญกับการโจมตีจากอิหร่าน

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร เกิดที่กอนดาฮาร์ในราวปี 1959 จากครอบครัวยากจน เป็นชาวนาไร้ที่ดิน ทั้งเผ่าที่เขาสังกัดและครอบครัวที่เขาถือกำเนิดขึ้นมาไม่เป็นที่รู้จักของผู้คน

บิดาของเขาเสียชีวิตไปในขณะที่เขายังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ ดังนั้น หน้าที่ดูแลแม่และครอบครัวจึงตกอยู่กับเขา

 

เขาเริ่มต้นทำงานในกอนดาฮาร์ด้วยการเป็นผู้สอนศาสนาในมัดเราะซะฮ์เล็กๆ ของหมู่บ้านที่เขาเกิด การศึกษาของเขาเองในมัดเราะซะฮ์ของกอนดาฮาร์ได้รับการรบกวนสองครั้งด้วยกันครั้งแรกจากการเข้ามารุกรานของโซเวียตและอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการสร้างกองกำลังฏอลิบานขึ้นมา

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร เข้าร่วมต่อต้านนาญิบุลลอฮ์ ผู้นำของอัฟกานิสถานโดยสังกัดอยู่กับพรรคหิซบี อิสลามี (Hiz-I-Islami) ได้รับบาดเจ็บ 4 ครั้ง ครั้งหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ตาด้านขวาซึ่งเวลานี้บอดสนิท

เขามีภรรยสามคน มีบุตรทั้งสิ้น 5 คน ซึ่งผ่านชีวิตการศึกษาแบบมัดเราะซะฮ์มาทั้งสิ้น

แม้จะเข้าถึงสมาชิกของฏอลิบานได้ แต่มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ไม่ชอบปรากฏตัวต่อชาวต่างชาติ

เรื่องราวของฏอลิบาน เริ่มต้นเมื่อเพื่อนบ้านของเมืองซิงเกซัร (Singesar) ในกอนดาฮาร์มาบอกมุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร เมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 1994 ว่าผู้บัญชาการของขุนศึกแห่งเมืองกอนดาฮาร์ ได้ลักพาหญิงสาวไปสองคน ทั้งสองคนถูกจับโกนศีรษะ ถูกพาไปค่ายทหารและถูกข่มขืนครั้งแล้วครั้งเล่า

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร จึงได้รวบรวมนักเรียนศาสนา 30 คน พร้อมกับปืนไรเฟิลที่มีอยู่แค่ 16 กระบอกเข้าโจมตีฐานของขุนศึกคนนั้นและช่วยให้หญิงสาวทั้งสองคนเป็นอิสระ และจัดการแขวนคอผู้บัญชาการของขุนศึกดังกล่าวพร้อมกับเข้าไปยึดอาวุธและยุทโธปกรณ์มาได้

เขากล่าวในเวลาต่อมาว่าเราต่อสู้เพื่อต่อต้านมุสลิมที่ทำความผิด เราจะอยู่เงียบเฉยได้อย่างไร เมื่อเราเห็นอาชญากรรมที่กระทำต่อผู้หญิงและคนยากจนต่อหน้าเรา

 

นับจากนั้นเป็นต้นมาเขาก็เป็นขวัญใจของประชาชนเพราะเขาต่อสู้โดยไม่หวังผลตอบแทนเพียงแต่ขอให้ผู้คนช่วยกันจัดตั้งระบอบอิสลามที่ถูกต้องขึ้นมา

นับตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นไป กองกำลังของฏอลิบานได้พัฒนาขึ้นมาเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งและเริ่มท้าทายกลุ่มมุญาฮิดีนต่างๆ จนกระทั่งขึ้นมาปกครองอัฟกานิสถานได้ในที่สุด

หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้ายึดอาวุธของฝ่ายที่มีอิทธิพลในที่ต่างๆ ได้แล้ว กองกำลังฏอลิบานจึงเริ่มออกปฏิบัติการ เพื่อเข้าครองดินแดนต่างๆ เริ่มต้นจากเมืองกอนดาฮาร์

ในเวลาเดียวกันคนอัฟกานิสถานหนุ่มๆ รวมทั้งชาวพาชตุนที่ศึกษาอยู่ในจังหวัดบาลูชิสถานและจังหวัดนอร์ตเวสต์ฟร้อนเทียร์ (NWFP) ต่างก็มุ่งสู่กอนดาฮาร์เพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังฏอลิบาน รวมทั้งอาสาสมัครที่เป็นนักเรียนศาสนาของปากีสถานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการอิสลามของอัฟกานิสถาน

ปี 1994 นักเรียนชาวอัฟกานิสถานและปากีสถาน จำนวน 12,000 คน เข้าร่วมกับกองกำลังฏอลิบาน ท่ามกลางแรงกดดันจากภายในและภายนอกประเทศ

ปากีสถานปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันกับฏอลิบานแต่อย่างใด

 

เมื่อฏอลิบานมีอำนาจมากขึ้นก็เริ่มใช้การตีความทางศาสนาที่เคร่งครัดกว่าที่ใดในโลกมุสลิม ความบันเทิงพื้นฐาน การกีฬา และกฎเกณฑ์ที่มีต่อสตรีอย่างเคร่งครัดทำให้ฏอลิบานได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่จากโลกมุสลิมเอง ว่าเคร่งจารีตเกินไปและลิดรอนสิทธิสตรีที่อิสลามมอบให้

อย่างไรก็ตาม ในด้านการรบนั้นภายในสามเดือนกองกำลังฏอลิบานสามารถเข้าควบคุม 12 จังหวัดจาก 31 จังหวัดของอัฟกานิสถานได้ สามารถปิดเส้นทางและปลดอาวุธประชาชน เมื่อฏอลิบานเคลื่อนไปทางเหนือของกรุงคาบูล พวกขุนศึกหากไม่หนีก็จะยกธงขาวยอมแพ้ต่อพวกเขา มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร และกองทัพนักเรียนของเขาจึงเตรียมการให้อัฟกานิสถานเป็นรัฐอิสลามในที่สุด

ในช่วงเริ่มต้นการขึ้นสู่อำนาจของฏอลิบาน สมาชิกฏอลิบานส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14-24 ปี สมาชิกจำนวนมากไม่เคยทำการต่อสู้มาก่อน แต่ส่วนใหญ่จะรู้วิธีการใช้ปืน พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่จังหวัดบาลูชิสถานและจังหวัดนอร์ตเวสต์ฟร้อนเทียร์ของปากีสถานมาก่อน ดื่มด่ำกับการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานตามมัดเราะซะฮ์ รวมทั้งศึกษาคำสอนของศาสดามุฮัมมัด และพื้นฐานของกฎหมายอิสลาม ซึ่งตีความโดยอาจารย์ของพวกเขาที่มีความรู้

พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยเห็นสันติภาพในประเทศตัวเอง สำหรับพวกเขาแล้วมีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ค่อยมีทักษะด้านอาชีพเพราะประเทศมีแต่สงคราม

พวกเขาหลายคนเป็นบุตรกำพร้าซึ่งเติบโตมาโดยขาดแม่ น้องสาว หรือลูกพี่ลูกน้อง สมาชิกอีกส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนศาสนาที่มีชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ค่อนข้างจะเข้มงวด

 

กองกำลังฏอลิบานสามารถเข้ายึดกรุงคาบูลได้ในวันที่ 27 กันยายน ปี 1996 นาญีบุลลอฮ์ อดีตผู้นำอัฟกานิสถานนิยมโซเวียตพร้อมกับน้องชายของเขาถูกแขวนคอประจานกลางกรุง

โดยกองกำลังฏอลิบานอ้างว่านาญีบุลลอฮ์เป็นผู้นำที่ทำให้เลือดท่วมนองอัฟกานิสถานมาแล้ว

กองกำลังฏอลิบานใช้เวลาเพียงสองปีในการพิชิตกรุงคาบูล การเข้ามาของกองทัพฏอลิบานทำให้ประธานาธิบดีร็อบบานีต้องหลบหนีออกไปอยู่ทางเหนือของประเทศ

อาจกล่าวได้ว่าช่วงปี 1996 โลกต้องพากันตกตะลึงเมืองกองกำลังฏอลิบาน ได้บุกเข้ายึดกรุงคาบูลเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และนำเอาหลักการอิสลามแบบเคร่งครัดเข้ามาปกครองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ลำพังกองกำลังฏอลิบานเพียงฝ่ายเดียวคงไม่อาจเข้าครองกรุงคาบูลได้ ถ้าไม่ได้รับการหนุนช่วยจากปากีสถานซึ่งมีเชื้อสายพาชตุนเช่นเดียวกับฏอลิบาน

นอกจากนี้ กองกำลังฏอลิบานในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย และประเทศอื่นๆ บางประเทศ

ชัยชนะของกองกำลังฏอลิบานได้รับการวิพากวิจารณ์จากอิหร่านว่ามิได้เป็นการสิ้นสุดวิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถาน แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์เท่านั้น