เรียนวิชาชีวิตจาก ‘หนัง’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เคยมีคนบอกผมว่า ภาพหนึ่งภาพอาจใช้แทนคำพูดได้ตั้งพันคำ

ผมเลยนึกเลยเถิดต่อไปว่า เมื่อใช้เหตุผลทำนองนี้แล้ว ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องไม่ว่าจะยาวหรือสั้นเพียงใดแค่ไหนย่อมมีความหมายไม่น้อยกว่าแสนคำล้านคำเป็นแน่

เพราะภาพยนตร์หนึ่งเรื่องสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้หลายมิติอย่างมีชีวิตชีวา และสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่างนอกเหนือจากความบันเทิง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอาจจะคุ้นเคยเป็นปกติ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นภาพยนตร์สารคดี นอกจากความบันเทิงแล้ว ความรู้ที่เป็นเนื้อหาหลักหรือสอดแทรกอยู่ในภาพยนตร์เหล่านั้นก็ทรงคุณค่ายิ่งนัก

ทั้งภาพยนตร์บันเทิงและภาพยนตร์สารคดีเมื่อวันเวลาผ่านไปนานปีเข้า ก็กลายเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สามารถย้อนอดีตให้คนในวันข้างหน้าได้มองเห็นวันข้างหลังได้อย่างชัดเจน

เหมือนเดินผ่านกระจกในนวนิยายเรื่องทวิภพเข้าไปในอดีตนั้นเลยทีเดียว

 

ประมาณหนึ่งเดือนล่วงมาแล้ว ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งพิมพ์เสร็จสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “เปลี่ยนหนังเป็นวิชาชีวิต” ผู้เขียนคือ คุณทิชา ณ นคร แห่งบ้านกาญจนาภิเษก

ต้องขอขอบคุณคุณทิชาที่ส่งหนังเล่มนี้มาให้อ่านนะครับ

ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่อไป ต้องพูดถึงคุณทิชาเสียก่อน คุณทิชาหรือผู้ที่มีชื่อที่อีกหลายคนรู้จักว่า “ป้ามล” นี้ เป็นผู้ที่ผมได้รู้จักคุ้นเคยมานานร่วม 20 ปีแล้วตั้งแต่สมัยที่ผมยังรับราชการอยู่ในกระทรวงยุติธรรม

ป้ามลคนนี้ไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นผู้ที่ทำงานในองค์กรเอกชนและกระทรวงยุติธรรมได้เชิญให้มาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนที่กระทำความผิด มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ถือว่าเป็นโครงการนำร่องแปลกใหม่มากทีเดียว ที่เราให้คนที่เป็นเอกชนเข้ามาบริหารหน่วยงานที่เป็นราชการ

และจนทุกวันนี้ป้ามลก็ยังไม่ได้เป็นข้าราชการนะครับ

ฐานะของเธอถ้าจะให้ผมนิยามว่าเธอเป็นอะไร ผมอยากจะบอกว่าป้ามลในสายตาของผม เธอเป็นเสรีชนครับ

ที่ผมกล่าวอย่างนี้เพราะวิธีทำงานของเธอนอกระบบแบบแผนที่ทางราชการคุ้นเคย ขึ้นต้นตั้งแต่บ้านกาญจนาภิเษกไม่เคยปิดประตูบ้าน ปิดประตูรั้ว บรรยากาศจึงไม่เหมือนกันกับเรือนจำหรือสถานพินิจแห่งอื่น

เด็กๆ ที่บ้านนี้เมื่อถึงเวลาจะต้องไปขึ้นศาล เขาจะเดินทางไปศาลเองทั้งขาไปขากลับโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ตามไปควบคุมดูแล

และทุกคนก็กลับมาบ้านกาญจนาภิเษกโดยไม่มีใครหายหกตกหล่น

ถ้าจะให้ผมประเมินผลสัมฤทธิ์จากการทำงานแล้ว ผมพบว่าเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาหรือมีบาดแผลในชีวิตเคยเดินพลั้งพลาดไปด้วยประการต่างๆ เมื่อเข้ามาพักอาศัยในบ้านกาญจนาภิเษกและอยู่ในความดูแลของป้ามลคนนี้แล้ว ชีวิตของเด็กและเยาวชนเหล่านั้นเปลี่ยนไปในทางที่เป็นมุมบวกอย่างน่าพึงพอใจ

เครื่องมือที่ป้ามลใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานในบ้านกาญจนาภิเษกมีหลายอย่าง ตั้งแต่หัวใจที่เปิดกว้าง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ของเด็กทุกคนในบ้านกาญจนาภิเษก ฯลฯ

และหนึ่งในจำนวนนั้นคือภาพยนตร์ หรือที่คนไทยเรียกให้คล่องปากว่า หนัง นั่นเอง

 

ขอนอกเรื่องไปนิดหนึ่งนะครับ คำว่า “หนัง” ที่คนไทยใช้เรียกภาพยนตร์นี้ ผมเข้าใจว่ามีที่มาจากมหรสพดั้งเดิมของไทยเราที่เรียกว่าหนังใหญ่บ้างหนังตะลุงบ้าง หนังเหล่านั้นเราเชิดขึ้นจอขนาดใหญ่ ตัวหนังแต่ละตัวมีอากัปกิริยาเคลื่อนไหวเหมือนดั่งมีชีวิต มีเสียงพากย์เป็นบทเจรจาของตัวหนัง มีดนตรีประกอบ มีแสงไฟสวยงาม ทำให้หนังเป็นมหรสพแสนสนุกของเรามาแต่ไหนแต่ไร

ต่อมาเมื่อเรามาพบภาพยนตร์เข้า ภาพยนตร์นี้มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เราคิดถึงหนังที่เราคุ้นเคยมาแต่ก่อน

ว่าแล้วเราก็จับภาพยนตร์มาบวชเป็นไทยเสีย เรียกว่า “หนัง” เพื่อความเข้าใจง่ายของเรา

กลับมาที่ค้างไว้นะครับ หลายท่านคงสงสัยว่าป้ามลใช้หนังเป็นประโยชน์อย่างไร

ป้าทำอย่างนี้ครับ

 

ทุกวันพฤหัสบดีเป็นวันดูหนังของบ้านกาญจนาภิเษก กิจกรรมจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 9 โมง หรือ 9 โมงเศษ เด็กทุกคน ป้ามลเอง และเจ้าหน้าที่ทุกคนจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในห้องดูหนัง

หนังที่จะนำมาฉายนั้น ป้ามลคัดเลือกมาด้วยความคิดที่ซับซ้อนและระมัดระวังสารพัดแล้ว

ก่อนฉายหนัง ป้ามลจะเล่าภูมิหลังหรือเรื่องราวที่ควรรู้เกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นให้ทุกคนเข้าใจที่มาที่ไปเสียก่อนแล้วจึงดูหนังพร้อมกัน

ระหว่างดูหนัง ป้ามลอาจพูดแซงขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อเสริมความเข้าใจหรือชี้ให้เห็นจุดที่ควรสังเกตบางเรื่องเพื่อเป็นประโยชน์ในการอภิปรายเมื่อดูหนังจบ หรือบางทีก็เพื่อผ่อนอารมณ์ของห้องดูหนังให้คลี่คลาย

เช่น ถ้าในหนังมีฉากเซ็กซ์กำลังนัวเนียๆ กัน ป้าก็ชวนคุยเล่นเสียว่า “เสียดายนะ มันสั้นไปหน่อยเพราะไม่ใช่หนังเอ็กซ์ 5555”

กว่าจะดูหนังจบก็ใกล้เที่ยงแล้วใช่ไหมครับ ใครจะไปทำอะไรได้นอกจากหยุดกินข้าว

 

อิ่มหนำสำราญดีแล้ว บ่ายโมงก็กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะนำโจทย์หนังมาอ่านให้เยาวชนฟังแล้วให้เยาวชนจากกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละสามคน แยกย้ายกันไปร่วมคิดร่วมคุยร่วมหาคำตอบ โดยมีเจ้าหน้าที่นั่งสังเกตการณ์อยู่ไม่ห่างไกล

ได้เวลาอันสมควรก็นำกลุ่มย่อยสี่กลุ่มมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่หนึ่งกลุ่ม (ซึ่งมีสมาชิก 12 คน) แต่ละกลุ่มย่อยนำเสนอความคิดที่ได้ระดมสมองกันมาให้ที่ประชุมกลุ่มใหญ่ได้รับฟัง และอภิปรายร่วมกัน

โจทย์ที่เยาวชนจะต้องช่วยกันตอบ เป็นการจุดประกายความคิดเพื่อให้เด็กที่ดูหนังได้ตั้งคำถามและร่วมกันแสวงหาคำตอบ

เช่น อาจเป็นคำถามว่าทำไมตัวละครตัวนั้นจึงตัดสินใจอย่างที่ปรากฏในหนัง เขาหรือเธอมีทางเลือกอื่นหรือไม่ สิ่งที่ตัวละครในหนังทำไปแล้ว ทำให้ใครเสียหายเสียใจบ้าง และเด็กๆ คิดอย่างไรกับเรื่องเช่นนั้น

ก่อนจบกิจกรรมช่วงบ่ายแล้วแยกย้ายกันไป เด็กทุกคนแต่ละคนยังต้องเขียนบันทึกความเห็นเพื่อตอบคำถามอะไรบางอย่างเป็นงานส่วนตัว

เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนได้คิดได้เขียนด้วยตัวเอง

 

ป้ามลเคยเล่าให้ผมฟังว่า จากประสบการณ์การทำงานมานานปี ป้าเห็นว่าภาพยนตร์ที่มีความยาวโดยเฉลี่ยเรื่องละ 2 ชั่วโมงนี้ เป็นเหมือนบทคัดย่อที่นำเหตุการณ์ยืดยาวมานำเสนออย่างมืออาชีพด้วยเทคนิคแพรวพราว ชวนให้คนดูสนใจติดตาม มีปมหรือเงื่อนฝังแฝงอยู่ตามที่ต่างๆ

หลายเรื่องนำปัญหาสังคมปัญหาชีวิตหรือปัญหาระดับมหภาคขนาดปัญหาของโลกเลยทีเดียวมานำเสนออย่างน่าสนใจ น่าติดตาม

การใช้เวลาครึ่งวันเช้าของวันพฤหัสบดีเพื่อดูหนัง และใช้เวลาช่วงบ่ายของวันเดียวกันเพื่ออภิปรายทุกแถลงเพื่อให้สะกิดใจทุกคน และแต่ละคนได้บทเรียนได้ความคิดที่น่าสนใจกลับไปเป็นกำไรชีวิต จึงคุ้มค่ามาก

จริงอยู่ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องอาจมีบางแง่มุมหรือบางช่วงตอนที่ต้องการความเข้าใจเป็นพิเศษ ป้ามลจะใช้วิธีที่ละมุนละม่อมทำให้เด็กได้รู้จัก “ปม” เหล่านั้น

“ปม” เหล่านี้เองที่ป้ามลบอกว่าเหมือนกับเป็นวัคซีน ให้เด็กที่ดูหนังได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นในตัวเองเพื่อใช้แก้ปัญหาชีวิตเมื่อต้องพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทำนองเดียวกับในหนังที่ได้เคยดูมาแล้วในวันข้างหน้า

ป้าบอกด้วยว่า การใช้หนังเป็นเครื่องมือในวิชาชีวิตเช่นนี้ ทำให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้เพราะไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสอนโดยวิธีการอันน่าเบื่ออย่างชั้นเรียนปกติทั่วไป

 

ผมเคยได้แวะไปสังเกตการณ์กิจกรรมเปลี่ยนหนังเป็นวิชาชีวิตนี้มาบ้าง รู้สึกตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้เห็นครับ

จริงอยู่ว่าในชีวิตจริง สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่หรือเป็นคนแก่แล้วเช่นผม เมื่อเราดูหนังเรื่องอะไรจบ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนที่จะมาตั้งคำถามกับเราว่า ดูหนังแล้วได้ข้อคิดสะกิดใจอะไรบ้าง ได้บทเรียนสอนใจอะไรบ้าง คนวัยผมแก่เกินจะทำการบ้านส่งครูคนไหนได้อีกต่อไปแล้ว

แต่อย่าลืมนะครับว่ายังมีครูอีกคนหนึ่งที่เรายังต้องส่งการบ้านอยู่เสมอจนถึงลมหายใจเฮือกสุดท้าย ครูคนที่ว่าไม่ใช่ใครอื่น หากแต่คือตัวเราเองนี่แหละ

 

อย่างที่ส่งข่าวมาหลายรอบแล้วว่าช่วงนี้ผมไม่ค่อยได้ไปไหนมาไหน เพราะอยู่กับบ้านให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 จึงมีเวลาดูหนังมากกว่าปกติ

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมตกเป็นเหยื่อของซีรีส์ใน Netflix เรื่อง Midnight Diner เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับร้านอาหารกลางคืนในเมืองโตเกียวที่เปิดร้านตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึง 7 โมงเช้าของทุกวัน

แต่ละตอนมีความยาวไม่เกินครึ่งชั่วโมง และเป็นเรื่องราวชีวิตของลูกค้าแต่ละคนที่เข้ามานั่งกินข้าวในร้านนี้

ดูแล้วเห็นความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนชัดเจน เห็นวิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป น่าชมคนผูกเรื่องที่ใช้ร้านอาหารเป็นแกนหลักแล้วมีแก่นย่อยแต่ละตอน ต่างรสชาติกันไป

นั่งดูอยู่คนเดียวก็เป็นวิชาชีวิตได้เหมือนกัน เพราะแก่ขนาดนี้แล้วก็ยังมีอะไรหลายอย่างต้องเรียนรู้ครับ

ยิ่งเป็นเรื่องการใช้ชีวิตแล้วต้องรู้อะไรอีกมาก เพื่อเตือนตัวเองก่อนจะหมดลมหายใจ เช่น อย่าหยิ่งทะนงว่าเราจะอยู่ไปค้ำฟ้า หรืออย่าเผลอคิดว่าเราประเสริฐเลิศกว่าใคร

อยากให้ลุงหลายคนที่อายุอานามใกล้เคียงกับผมหาเวลาว่างดูหนังบ้าง

เผื่อจะได้บทเรียนอะไรดีๆ ไปสอนใจไงครับ