ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ไม้สบ”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไม้สบ”

ไม้ศพ เป็นภาษาล้านนาโบราณ หมายถึง เมรุเผาศพทุกรูปแบบ ปัจจุบันไม่มีใครใช้ศัพท์คำนี้แล้ว

รูปแบบของเมรุเผาศพแบบล้านนาจะแตกต่างกันไปแล้วแต่สถานะของผู้ตายว่าเป็นใคร สมัยก่อนถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะไม่ทำ “ปราสาท” หรือวิมานแบบที่คนในล้านนาทุกวันนี้นิยมกัน

ถ้าใครเคยเห็นการลากศพไปป่าช้าทางภาคเหนือในทุกวันนี้ จะเห็นว่าชาวบ้านเอาหีบศพตั้งบนรถลาก สร้างปราสาท ซึ่งเป็นเรือนไม้มียอดแหลมครอบไว้ ตกแต่งด้วยดอกไม้ สมมุติว่านั่นคือวิมานที่ผู้ตายจะได้ไปสถิตบนสวรรค์

สมัยโบราณช้านาน ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะไม่มีการตกแต่งปราสาทให้เกินฐานะ เพราะถือว่าจะ “ขึด” คือ ความเป็นอัปมงคล

หากมีชาวบ้านธรรมดาๆ เสียชีวิตลง คนในหมู่บ้านจะมาช่วยกันตัดไม้ไผ่ ช่วยกันผ่า ทำเป็นแคร่คานหาม ส่วนหนึ่งจะจักสานเป็น “แมว” หรือ “แมวควบ” มีลักษณะคล้ายฝาชียาวๆ ครอบร่างผู้ตายเอาไว้ อาจจะมีการตกแต่งด้วยดอกไม้ด้านบนตามสมควร

ต่อมามีการตัด “ไม้ศพ” ลักษณะหลายรูปแบบตามสถานะในสังคมของผู้ตาย แรกๆ ก็จะทำเรือนครอบ ไม่มียอดแหลมแบบปราสาท เรียกว่า “ปากขะบาน” หรือปากกระบาน เอาแมวครอบลงบนปากขะบานอีกชั้นหนึ่ง ปิดด้วยกระดาษ แลดูคล้ายหลังคาที่ไม่มีจั่ว

ในระยะหลังจึงพัฒนามาเป็นปราสาท สมมุติเป็นวิมานยอดแหลม แบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน

 

การทำ “ไม้ศพ” ต้องอาศัยช่างประจำหมู่บ้าน เรียกกันว่า “สล่าตัดไม้ศพ” มีสล่าเก๊า หรือหัวหน้าช่างเป็นผู้รับผิดชอบ

ทุกอย่างกระทำแบบมีพิธีรีตอง เริ่มด้วยเจ้าภาพจะต้องจัดดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู เหล้าขาว ผ้าขาว ผ้าแดง ข้าวเปลือกข้าวสาร และเงิน ไปเชิญหัวหน้าช่างให้เป็นผู้รับผิดชอบในการทำไม้ศพในครั้งนั้น เมื่อรับขันตั้งบูชาครูแล้ว สล่าจึงจะไปดำเนินการทำไม้ศพตามที่เจ้าภาพต้องการ

สำหรับศพของพระสงฆ์ผู้อาวุโสมีพรรษามาก การสร้างไม้ศพจะอลังการ มีไม้จริงเป็นพื้น รูปทรงเป็นปราสาทมีเสา 12 ต้นขึ้นไป ตั้งอยู่บนฐานนกหัตถ์ หรือนกหัสดีลิงค์ ด้วยความเชื่อที่ว่านกชนิดนี้มีกำลังมหาศาล สามารถพาพระเถระขึ้นไปสู่สวรรค์

ศพของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ สามารถทำไม้ศพเป็นปราสาทได้ การตกแต่งมักจะวิจิตรพิสดารสมฐานะ มีฐาน แต่ฐานไม่ใช่นกหัสดีลิงค์ เมื่อจะเคลื่อนขบวนสู่ป่าช้า การชักลากจะประโคมด้วยดนตรี ฆ้องกลอง

ส่วนศพพระเถระนั้น นอกจากดนตรีฆ้องกลองแล้ว จะมีการตีกังสดาลร่วมด้วย

ทุกวันนี้ประเพณีการทำไม้ศพนับวันจะหายไปกับการเวลา

ศพคนล้านนาปัจจุบันตั้งบำเพ็ญกุศลในวัด โดยเฉพาะนิยมวัดที่มีเมรุเผาในบริเวณ

ทำประทักษิณรอบเมรุแล้วยกโลงใส่เตาเผาเลย

 

แห่ศพแบบบ่าเก่า ผาสาทอยู่ตางหลัง

แปลว่า ขบวนแห่ศพแบบโบราณ ปราสาทที่เป็นไม้ศพอยู่ข้างหลัง